Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

 

 


มุขบูชา

นมัตถุ สุคตัสสะ โอม นมัสสิตวา
นบพระศาสดา นบธรรมคัมภีร์
นบสงฆสิกขา นบอาจารีย์
นบโหรา-ตรี- เวทย วิชศาสตรไสย

นโมข้าขอนมัสการ พระวรญาณจอมโมฬี ข้าขอน้อมเกศีอภิวาท ซึ่งพระบาทยุคลกงจักร มีลายลักษณ์ร้อยแปดสิ่ง ประเสริฐยิ่งมงคลพิศาล ข้าขอนมัสการซึ่งประทีปแก้วกล่าวแล้วคือพระนพโลกุตรธรรมเก้าประการ เป็นสิบกับพระปริยัติสารไตรปิฏก อันพระโลกนายกสั่งสอนสัตว์ให้กำจัดจากกิเลสให้เคลิ้มหลง ขอนมัสการสงฆ์ชิโนรสทรงกรรมบถศีลสิกขา มีพระโสดาเป็นประธาน มีพระอรหัตผลเป็นปริโยสานที่สุด เนื่องมาถึงสมมติสงฆ์ทุกวันนี้ เดชะบารมีพระรัตนตรัย ขอให้มีชัยประสิทธิแก่ตูข้าผู้นมัสการ อย่าให้แผ้วพานอุปัทวะจัญไร จงขจัดไกลจากสกลกายแห่งตูข้าผู้สามิภักดิ์คำรบรักษ์พระไตรรัตน์ จงมาขจัดพระเคราะห์ร้าย ความป่วยไข้ให้หายสูญอย่ามีเหตุ ข้าขอน้อมศิระเกศนมัสการพระอาจารย์ผู้ครูบา อันบอกสรรพวิชาไตรเภท หนึ่งข้าขอนบเทเวศร์อันสิงสถิตย์ ในทศทิศเป็นปฐมบนจดพรหมอักนิษฐโสฬส เบื้องต่ำนั้นจดนาคบาดาล โดยรอบขอบจักรวาฬโลกธาตุ ขอเชิญเทพยดาเจ้าทั้งหลายมาสันนิบาตประชุมกัน จงช่วยสรรอวยชัยศรีสวัสดิ์แห่งตูข้า แม้นจะว่ากล่าวประการใด ขอให้มีชัยมงคล ปานดังโกสีย์เทวราช ลงมาประสาธประสิทธิ์พรศุภผล ขอให้มีมงคลประสิทธิ์ เทอญ ฯ


ตำราดาวพรหมปโรหิตา

สิทธิการิยะ จะกล่าวตำราดาวพรหมปโรหิตาดังนี้ ถ้าดาวดวงใดก็ดี แลเห็นเป็นควันเรียกว่า ธุมเกตุ มีพระบาลีว่า

ธูมเกตัง ตาระกัง ทิสวา
วินาสัญจะ อเสสะโต
มนุสสานัง ภะยัง ชาตัง
ปริสานัญจะ อิตถินัง
อัญญมัญญัง วิหิงสกา
ชัมพูทีปนิวาสิโน
ปะฐะวิยัง โลหิตัง ปัคฆะริ
นานาภะยัง วิชายะเต

(แปลว่า) เพราะเห็นดาวธุมเกตุ จะเกิดความพินาศโดยสิ้นเชิง ภัยจะเกิดแต่มนุษย์ทั้งหลายทั้งชายหญิง ชาวชมพูทวีปจะเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จะนองเลือดในแผ่นดิน และภัยต่างๆจะเกิดขึ้น

อรรถาธิบายความในคาถาว่า แม้ปรากฏดาวเป็นธุมเกตุ (คือดาวหาง) เป็นที่ปรากฎเป็นสาธารณะโลกทั่วไปแก่ชายหญิงในชมพูทวีป จะเกิดภัยต่างๆขึ้น อาทิเช่น เกิดศึกทุกแห่ง โลหิตจะไหลดาษดื่นไป จะเกิดโกหกฉกฉ้อเบียดเบียนกันต่างๆ

สำหรับบันทึกและข้อเขียนในเรื่องดาวหางในที่นี้ส่วนใหญ่ จะมาจากบันทึกของโหราจารย์ไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยในตอนต้นบทปกรณ์ว่าด้วยดาวนั้นแต่เดิมเป็นของหลวงเทพเทพากร อันเป็นโหรฝ่ายวังหน้าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้รวบรวมของเก่าบันทึกไว้และ ต่อมา ท่านหลวงพุทธราชศักดา ได้เขียนคัดลอกไว้ในสมุดข่อยมาตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1207 (ประมาณปี พ.ศ. 2388 ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โดยท่านหลวงพุทธราชศักดาได้เปรียบเทียบกับตำราหลายฉบับและได้ตกทอดสืบไปยัง ฝ่ายโหราศาสตร์ปักษ์ใต้ ซึ่งท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร (บ.ร.วรรณวิจิตร) นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ท่านได้นำมาอธิบายพร้อมข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการค้นคว้าของข้าพเจ้าผู้เขียน


บทปกรณ์ว่าด้วยดาว


ดาวพระ ๓ ใหญ่ปริมณฑล ๑๕ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๔ ปริมณฑลใหญ่ ๑๔ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๕ ปริมณฑลใหญ่ ๑๒ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๖ ปริมณฑลใหญ่ ๑๙ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๗ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๘ ปริมณฑลใหญ่ ๑๒ โยชน์ มีรัศมีดังดอกอัญชัน แต่ว่าเป็นหางกระ บ่ห่อนออกให้เห็น ถ้าเห็นเมื่อใดจะบังเกิดกลียุคใหญ่เมื่อนั้นแล ฯ ดาวพระ ๙ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ มีรัศมีดังกองเพลิง ถ้าหางออกให้เห็นจะเกิดกลียุคแล ถ้าออกแต่ราศีใด ต้องลัคนาผู้ใด ผู้นั้นจะเกิดวิบัติแล ฯ ดาวพระ ๐ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ แต่ว่าเป็นขอบล้อมอยู่ดุจรัศมีเพลิง ถ้าต้องลัคนาผู้ใด กาลจะถึงแก่ผู้นั้นแล ฯ มีดาว ๒ ดวงอยู่ใกล้กันประมาณ โยชน์ ๑ แล ลูกใหญ่ชื่อ “มันทเล” ลูกน้อยชื่อ “กุมารี” ด้วยว่า ดาวทั้ง ๒ ลูกนี้ย่อมเร่เที่ยวออกทุกทิศแล ฯ ดาวจำพวกหนึ่งชื่อ “สัมภกัน” หรือ “ลำพูกัน” มาอยู่ฝ่ายบูรพาทิศ เป็นแผ่นดุจแผ่นกระดาน ถ้าเห็นขึ้นกาลเมื่อใด กาลเมื่อนั้นจะได้รบพุ่งกันแล ฯ

อธิบาย อันปกรณ์ตำราโหราศาสตร์ของไทยนั้นมีหลายหลากมากคัมภีร์ด้วยกัน แต่ยังขาดการชำระและเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ให้เป็นที่เรียบร้อยดังเช่น ศาสตร์อื่นๆ ซึ่งกล่าวกันว่า มีตำราบันทึกอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คัมภีร์ ซึ่งนักศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ต่างก็ไม่ใคร่จะได้พบเห็นมากนัก บางตำราก็เคยพบเห็นแต่ชื่อที่ถูกบันทึกไว้แต่ก็ยังหาต้นฉบับตัวเขียนมาตรวจ สอบไม่ได้ จนกระทั่งในปัจจุบัน มีนักโหราศาสตร์ไทยในรุ่นปัจจุบันหลายท่านถึงกับกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ตำราโหราศาสตร์ไทยมีเพียง ๒ เล่มเท่านั้น คือ พระคัมภีร์จักรทีปนี และคัมภีร์ทักษาสังคหปกรณ์ เท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าตำราโหราศาสตร์ของไทยนับวันมีแต่จะสูญหายหรือถูก ลืมทอดทิ้งไป


อันการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยแต่ดั่งเดิมนั้น ท่านมีขั้นตอนการศึกษาแบ่งออกเป็นหลายภาคคือ

1. ภาคคำนวณ พึงเข้าใจก่อนว่า แต่เดิมในสมัยโบราณนั้น ยังไม่มีผู้ใดจัดทำปฏิทินโหรแสดงสมผุสดาวต่างๆเป็นรายวัน รายปี ดังเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น การที่จะเริ่มต้นศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ก็จะต้องเข้าใจถึงรายละเอียดแห่งจักรราศีและดวงดาวต่างๆว่าสถิตอยู่ที่ใด เสียก่อน จึงต้องทำการศึกษาวิชาคำนวณสุริยาตร์ คำนวณสารัมภ์ คำนวณมหาสงกรานต์ ฯลฯ เป็นต้น ดังเช่นการแบ่งหน้าที่ของกรมโหรหลวง ก็จะมีการแบ่งแยกโหรแผนกคำนวณขึ้นมาเป็นแผนกหนึ่งต่างหาก จากแผนกพยากรณ์

2. ภาคพยากรณ์ ได้แก่หลักที่ใช้ในการพยากรณ์ต่างๆ เช่น คัมภีร์อินทภาส บาทจันทร์ จักรทีปนี ทักษา เป็นต้น

3. ภาคโหราศาสตร์บ้านเมือง เช่นคัมภีร์ราชมันตัน คัมภีร์นครพังก์ คัมภีร์โสฬสมหานคร เป็นต้น

4. ภาคฤกษ์และชาตา จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเลขศาสตร์ นิมิตแห่งลางยาม (Omen) ดิถี ธาตุ การทำพิธียัญญกรรม คัมภีร์มหาทักษา และอื่นๆ

5. ภาคดวงดาว หมายถึง จะต้องเรียนรู้ถึงสภาพและปรากฎการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้า ดังที่ชนชาติทางตะวันตกเรียกว่า Phenpmenon


สำหรับเรื่องของดาวหางก็เช่นกัน ทางฝรั่งชนชาติตะวันตกถือว่าเรื่องดาวหางนั้นเป็นทั้ง PHENOMENON และ OMEN ดังที่ท่านวิลเลียม เช็กสปัยร์ กวีเอก ได้กล่าวไว้ว่า “ When beggar die there no comets seen , The heaven themselves blaze forth the death of princess ” ทั้งนี้ เพราะความเชื่อของฝรั่งชนชาติตะวันตกในเรื่องเกี่ยวกับดาวหางนั้น ได้ถูกจารึกไว้ในความทรงจำถึงความทารุณหฤโหดที่เลวร้าย สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยของอารยธรรมกรีกและโรมัน

จากสมัยของอารยธรรมกรีก มีความเชื่อกันว่า มนุษยชาติเป็นผู้รับใช้บรรดาปวงทวยเทพบนสวรรค์ ซึ่งมีการสื่อความหมายและคำสั่งให้รู้ได้จากปรากฎการณ์ฟากฟ้า ภายใต้ลัทธิสโตอิกซิสม์ (Stoicism) โดยเน้นให้คนทั้งหลายเชื่อถือในโชคชาตา และว่ามีแต่การยอมจำนนต่อโชคชาตาเท่านั้น จึงจะเป็นวิถีทางที่จะนำเอาชีวิตของตนให้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและ เทพเจ้าได้ แนวความคิดนี้ถูกยึดถือมาจนกระทั่งถึงสมัยอาณาจักรโรมันของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อจูเลียส ซีซาร์ถูกลอบทำร้ายจนถึงแก่กรรม มีเพียงบุคคล 2 คน ในขณะนั้นที่กุมอำนาจในวงการการเมือง ก็คือ มาร์ แอนโธนี (Mark Anthony) และ อ็อกตาเวียน ( Octavian) เมื่ออ็อกตาเวียนได้มีชัยชนะต่อสงครามกลางเมืองและได้ก้าวสู่ราชบัลลังก์ แห่งจักรพรรดิ์องค์แรกแห่งอาณาจักรโรมัน ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ออกุสตุส (Augustus) (ครองบัลลังก์จนถึงปี ต.ศ. 14)

จักรพรรดิออกุสตุสนี่เอง ที่ได้นำเอาโหราศาสตร์และพวกโหราจารย์ชาวแคลเดียนมาใช้เป็นเครื่องมือทางการ เมือง และได้ทำการเปลี่ยนแนวความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นผู้รับใช้เทพเจ้าเสียใหม่ มาเป็นว่า บรรดาจักรพรรดิและผู้ปกครองทั้งหลายนั่นแหล่ะเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้าบนสรวง สวรรค์มาเกิดในโลกมนุษย์ ทั้งนี้โดยอ้างว่า ซีซาร์เป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า และตนเอง (หมายถึงจักรพรรดิ์ออกุสตุส) ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้าด้วย


ในยุคนั้น ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติเรื่องดาวหางได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสังหาร บรรดาศัตรูทางการเมืองให้หมดไป โดยมีพวกโหราจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์จักรพรรดิ เรื่องนี้ได้มีบางท่านเข้าใจผิด คิดว่าจักรพรรดิออกุสตุสเป็นผู้บูชาดาวหางและเชื่อว่า ดาวหางได้อำนวยผลดีให้แก่จักรพรรดิออกุสตุสจนถึงได้กับสร้างวิหารบูชาดาวหาง ขึ้น แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จักรพรรดิ์ออกุสตุสได้นำเอาเรื่องของดาวหางมาเป็นเครื่องมือประหารชีวิต บุคคลที่อาจเป็นอันตรายต่อบัลลังก์ของพระองค์ จนทำให้บรรดาชาวเมืองและเชื้อพระวงศ์มีความหวาดกลัวต่อปรากฎการณ์ดาวหางยิ่ง นัก ทุกครั้งที่มีดาวหางปรากฏ องค์จักรพรรดิของโรมันทุกพระองค์จะถือเป็นธรรมเนียมสั่งให้โหราจารย์และคน สนิทกำหนดรายชื่อศัตรูทางการเมืองที่จะถูกประหารสังเวยเทพเจ้าต่อไปโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในสมัยของ จักรพรรดิ์เนโร (The Nero) ผู้บ้าคลั่งแก่งจักรวรรดิโรมันซึ่งมี บาลบิลุส (Balbillus) เป็นโหราจารย์ที่ปรึกษาได้กราบทูลว่า เมื่อดาวหางอันถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งลางร้ายที่บ่งบอกถึงการตายของผู้นำ ประเทศปรากฏขึ้นในท้องฟ้าในกาลเมื่อใดก็ตาม ตามธรรมเนียมประเพณีในอดีตนั้น เหล่าบรรดากษัตริย์ทั้งหลายก็มักจะหันเหเบี่ยงเบน “ความพิโรธกริ้วของสวรรค์ชั้นฟ้า” (ดาวหาง) ด้วยการประหารบุคคลสำคัญๆซึ่งเป็นประชาราษฎร์ของพระองค์เอง หลังจากฟังคำแนะนำของบาลบิลุสแล้ว จักรพรรดิ์เนโรก็สั่งให้ประหารบรรดาผู้ดีมีสกุลชาวโรมันเสียเป็นจำนวนมาก จาบรรดาชาวเมืองแห่งกรุงโรมจำใส่ใจไว้เสมอว่า เมื่อใดที่ดาวหางปรากฏออกมาให้เห็น ทั่วทั้งแผ่นดินแห่งอาณาจักรโรมันก็จะนองไปด้วยเลือด วิหารดาวหางจึงแตกต่างไปจากมหาวิหารบูชาเทพเจ้าอื่นๆ เช่นวิหารดวงอาทิตย์ซึ่งบูชาเทพเจ้ามิธรัส (Mithras) หรือวิหารแห่งเทพเจ้าซีเบล (Cybele) หรือวิหารบูชาเทพเจ้าไอซีซ (Isis) ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม มหาวิหารดาวหางจึงเป็นสถานที่ได้สร้างขึ้นเพื่อทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ขององค์จักรพรรดิ์ ซึ่งความเชื่อและหลักฐานแห่งความทารุณในเรื่องนี้ถึงกับเป็นที่ต้องบันทึก ไว้ในประวัติศาสตร์

ดังนั้นจากความตายและความทารุณทรมานในสมัยโรมันนี่เอง จึงเป็นที่มาของกวีนิพนธ์ของท่านวิลเลียม เช็กสเปียร์ว่า ดาวหางคือปรากฎการณ์แห่งความตายของพวกชนชั้นสูง

 

เมื่อสิ้นสุดยุคสมัยแห่งวัฒนธรรมโรมันแล้ว ภาระความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดาวหางของชนชาติตะวันตกมิได้เปลี่ยนแปลงคืบ หน้าไปเท่าใดนัก คงมีความสนใจในเรื่องของคราสและอุปราคาต่างๆมากกว่า จนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เรื่องดาวหางจึงได้รับการฟื้นฟูและให้ความสนใจมากขึ้น โดย จาคอบุส แองจีลุส ได้ศึกษาเกี่ยวกับดาวหางและตรวจสอบดูผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ ทำให้บรรดาโหราจารย์ทั้งหลายมีความมั่นใจว่า การทำนายของพวกเขาจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงและได้รับการเคารพนับถือจากคน ทั้งหลาย และแนวทางดังกล่าวนี้ ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดาวหางของฝ่ายตะวันตกจึงเริ่มมีบันทึกหลักเกณฑ์ที่ ค่อนข้างจะเป็นวิทยาการในราวๆ 600 ปีมานี่เอง

หมายเหตุ : อนึ่งผู้เขียนเห็นว่า ในปัจจุบันมีนักโหราจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านได้เริ่มเข้าสู่การสับสน เช่นเดียวกับชาติตะวันตกแนวทางข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว คือ แทนที่จะพิจารณาหรือพยากรณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากดาวหาง แต่กลับไปนำเอาสถิติและผลของการเกิดคราสและอุปราคา นำไปเป็นสถิติทำนายผลที่เกิดขึ้นกับการเกิดดาวหางแทน จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า การค้นคว้าเรื่องดาวหางในแนวทางโหราศาสตร์ของไทยต้องถดถอยไปสู่ความล้าหลัง เสียอีก หาได้สืบทอดจัดทำบันทึกปูมโหรขึ้นตรวจสอบเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จะเกิด ขึ้นจากปรากฎการณ์ดาวหางไม่


ในทางโหราศาสตร์ฝ่ายตะวันออก ตำราบันทึกเกี่ยวกับดาวหางในความเชื่อของนักปราชญ์ชาวอินเดีย ได้ถูกรวบรวมโดยท่านนักปราชญ์และโหราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งคือ ท่าน “ วะระหามิหิระ ” (ในฉบับแปลบางฉบับเรียกท่าน “วราหมิหิรา” หรือเรียกโดยย่อว่า ท่านกาลิทาส แต่คำว่า “กาลิทาส” เป็นตำแหน่งหาใช่ชื่อของท่านไม่) ท่านผู้นี้เกิดในราวปี พ.ศ. 1048 และตายในปี พ.ศ. 1130 รวมอายุได้ 82 ปี ซึ่งท่านโหราจารย์ผู้นี้เป็นคนสำคัญในจำนวนพวกนักปราชญ์ทั้งเก้าของพระเจ้า วิกรมาทิตย์ และเป็นที่เชื่อกันว่า ท่าน วะระหามิหิระ นี้ได้เริ่มการชำระสะสางเหล่าตำราโหราศาสตร์ของอินเดียมาตั้งแต่ราวๆปี พ.ศ. 1087 มาแล้ว ดังนั้น คัมภีร์ดาวหางซึ่งท่านวะระหามิหิระได้รจนาขึ้นเป็นโศลกแฝงอยู่ในคัมภีร์ พฤหัตะจึงมีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1500 ปีมาแล้ว พระคัมภีร์พฤหัตะ นี้มีอยู่ทั้งสิ้น 3900 โศลกด้วยกัน โดยแยกออกเป็น 107 บท แบ่งชื่อเป็นตอนได้มีดังนี้ คือ พฤหัตสังหิตา พฤหัตชาดก ปัญจสิทธาติกะ พฤหัตยาตรา พฤหัตวิวาปะฏะละ สวะลปะชาดก ละฆุยาตรา ละฆุวิวาหะปะกะละ และ มุหุรตะ เป็นต้น


โดยในเรื่องของดาวหางอันตำราได้ให้ชื่อว่า “เกตุ” นั้น โหรทางอินเดียท่านได้แบ่งจำพวกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท คือ

เกตุจำพวกหนึ่ง ได้แก่ หางของพระราหู ซึ่งในทางคำนวณมีตำแหน่งอยู่ในนักษัตรต่างๆอันตรงข้ามกับพระราหูเรียกว่า พระเกตุ

เกตุอีกจำพวกหนึ่ง ได้แก่ จำพวกที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ เช่น พวกเรืองแสงต่างๆที่บังเกิดขึ้นจากตัวสัตว์ เช่น หิ่งห้อย ตัวหนอนบางอย่าง ปลาบางชนิด หลุมศพ ฯลฯ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเรียกว่า ธาตุฟอสฟอรัส

และเกตุจำพวกสุดท้าย ได้แก่ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าอันเราไม่สามารถจะแยกออกได้ว่า จะเกิดขึ้น ณ เมื่อใด วันใด ในตำแหน่งใด พระเกตุเช่นนี้ก็คือเรื่องของดาวหางนั่นเอง

ชื่อของดาวหางที่ได้บรรยายไว้ในคัมภีร์ดังกล่าวมีจำนวนมากมายนัก เช่นในบางตอนของคัมภีร์ก็ถือเอาดาวหางเป็นลูกของดาวเคราะห์ เช่น กุมุทเกตุเป็นลูกของพระจันทร์มี 3 ดวง ทางกุภะเกตุ ลูกของพระอังคารมี 60 ดวง ตัสกรเกตุ ลูกของพระพุธมี 51 ดวง วิกะจาเกตุ ลูกของพระพฤหัสบดี มี 65 ดวง ศุกรสุตาเกตุ ลูกของพระศุกร์มี 84 ดวง กนกเกตุ ลูกของพระเสาร์มี 60 ดวง ฯลฯ และในบางตอนก็เรียกตามลักษณาการของดาวหางที่ปรากฏ เช่น ธุมเกตุ กิรณะเกตุ พันธุชีวะเกตุ มฤตยูสุตาเกตุ วิศวะรูปะเกตุ อรุณเกตุ คณะกาเกตุ จตุศรเกตุ กาละเกตุ วสาเกตุ กะพันธะเกตุ มณีเกตุ ศาสตราเกตุ รัศมีเกตุ ธุระวะเกตุ ชะละเกตุ ปัทมะเกตุ เศวตเกตุ ภวเกตุ จลเกตุ พรหมสุตาเกตุ ดังนี้เป็นต้น ฯลฯ รวมเรียกชื่อต่างๆนี้ นับได้ประมาณ 1,000 ดวง ตามที่ท่านฤาษีครรคะได้กล่าวไว้

ตามหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องดาวหางในคัมภีร์ดังกล่าว อาจจะกล่าวสรุปโดยย่อได้ดังนี้

1. นักปราชญ์ชาวอินเดีย ท่านได้พิจารณากำหนดกลุ่มหรือหมู่ดาวฤกษ์ว่าหมู่ดาวนักษัตรใดเป็นดาวประจำเมืองของเมืองใด

( หมายเหตุ - ของอินเดียมีการกำหนดหมู่ดาวนักษัตรเป็น 28 หมู่ โดยเพิ่มหมู่ดาวนักษัตร อภิชิต หรือ อภิชะ เป็นนักษัตรที่ 28 ขึ้นมา ต่างกับโหราศาสตร์ไทยซึ่งกำหนดหมู่ดาวนักษัตรไว้เพียง 27 หมู่ เท่านั้น เรื่องรายละเอียดนั้น ผู้เขียนได้เรียบเรียงไว้โดยละเอียดในหนังสือโหราศาสตร์ว่าด้วยฤกษ์และธาตุ แล้ว)

2. ดาวหางที่ปรากฏขึ้นในท้องฟ้านั้น มีทัศนะสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรใดและสัมพันธ์อย่างไร เกิดขึ้นทางทิศไหน และส่วนหางของดาวหางชี้ไปทิศทางใด

3. ประการที่สำคัญที่สุด ก็คือ การมองดวงดาวในสมัยโบราณท่านถือความสำคัญของการมองด้วยตาเปล่าเป็นหลัก ถ้ามองเห็นดาวหางและความสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรนั่นชัดเจนดี ก็หมายความว่า จะบังเกิดผลขึ้นแน่นอน แต่ถ้ามองเห็นไม่ชัดหรือต้องใช้กล้องช่วยส่อง ก็หมายความว่า ภัยหรือผลของดาวหางนั้นจะไม่รุนแรงหรืออาจไม่บังเกิดขึ้นก็ได้

4. การทำนายผลและระยะเวลาของเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากรากฎการณ์ดาวหาง ซึ่งอาจจะมีทั้งผลดีหรือผลร้ายก็ได้ แล้วแต่ ลักษณาการของดาวหาง ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 7 วัน ถึง 10 ปีเลยทีเดียว


สำหรับตำราดาวหางของไทยนี้ เชื่อว่า มิได้เป็นแนวทางเดียวกันกับของอารยธรรมตะวันตก แต่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์ของอินเดีย หรือจีน ซึ่งมีหลักฐานว่า ทางจีนได้มีบันทึกเรื่องโหราศาสตร์นี้มาไม่น้อยกว่า 4,600 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ์ฟูชิ) และทางอินเดียก็ได้มีบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์แห่งดวงดาวมา ไม่น้อยกว่า 3,102 ปี ก่อนคริสตกาล (มีหลักฐานบันทึกโหราศาสตร์ของอินเดียที่มีอายุไม่น้อยกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และโดยเฉพาะในเรื่องคัมภีร์ดาวหางของอินเดียก็ได้มีบันทึกเป็นหลักฐานมาไม่ น้อยกว่า 1500 ปีมาแล้ว) และในส่วนของประเทศไทย โดยที่มีหลักฐานว่า อารยธรรมอินเดียได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 แล้ว และได้มีการขุดค้นพบแผ่นอิฐศิลาฤกษ์ ณ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ในจดหมายเหตุของจีนเรียกชื่อเมืองอู่ทองนี้ว่า เมืองกิมหลิน อันแปลว่าแดนทอง) ซึ่งประมาณว่า แผ่นอิฐศิลาฤกษ์ดังกล่าวมีอายุอยู่ในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 8 ถึง 11 (ตรงกับราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 4 หรือ ราว ๆ 1,500 ปีมาแล้ว อันตรงกับช่วงการสลายตัวของจักรวรรดิ์โรมันที่เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 1018 และในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1043 ถึงปี พ.ศ.1343 นั้น ก็เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของโหราศาสตร์ในยุโรปด้วย)

จึงเชื่อว่า หลักวิชาโหราศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องดาวหางของไทยนี้น่าจะได้รับการ เผยแพร่มาจากอารยธรรมของอินเดีย ซึ่งมาพร้อมๆกันกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วย โดยได้รับการถ่ายทอดมาสองสายคือ สายแรกมาจากทางภาคใต้ พร้อมกับการเผยแพร่พุทธศาสนา และสายที่สองได้รับมาจาก ทางพวกฝ่ายมอญทางด้านเหนือและตะวันตก มารวมพร้อมกับความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากอารยธรรมของฝ่ายจีน ซึ่งไทยได้ติดต่อค้าขายกันอยู่ มาพัฒนาขึ้นเป็นองค์ความรู้ในวิชาโหราศาสตร์ของไทยขึ้นมาเอง

หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ของไทยนี้จะแตกต่างกับของอินเดียทางด้านพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน และจีน ที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องหมู่ดาวนักษัตร โดยของไทยซึ่งเป็นฝ่ายสืบทอดพุทธศาสนาฝ่ายหินยานจะมีเพียง 27 หมู่ แตกต่างไปจากของจีนและอินเดียบางกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานซึ่งจะมี 28 หมู่ดาวนักษัตรด้วยกัน อีกทั้งการกำหนดหมู่นักษัตรประจำเมืองก็จะพิจารณาแตกต่างกันออกไปด้วย ผลงานเรื่องดาวหางของไทยจึงเป็นภูมิปัญญาของไทยที่แตกต่างไปจากชนชาติอื่น อันสมควรอนุรักษ์ไว้ให้สืบทอดต่อไป