Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ปกิณกะโหราศาสตร์ไทย ภาคตำราดาวพรหมปโรหิตา  พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางของไทย รวบรวมโดย พระครูสมุห์ อภิสิทธิ์ อภิญาโณ วัดยานนาวา หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานฌาปนกิจศพ อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร ณ เมรุวัดสุทธาราม ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และนำมาเผยแพร่ในเว็บพยากรณ์.คอม โดยคุณสายน้ำ ด้วยเห็นว่าเป็นตำราหายากและจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและวงการโหราศาสตร์สืบไป

 

 

อ.  บุญเรือน  วรรณวิจิตร
ผู้ก่อตั้งสมาคมและอดีตนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ


คำรำลึกคุณครู อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร


เนื่องในโอกาส งานฌาปนกิจศพ อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร อดีตนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ในวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2553 นี้
ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร นี้นับว่า ท่านเป็นอาจารย์ทางโหราศาสตร์คนสุดท้ายที่อาตมภาพ ได้กราบไหว้ครูและเจิมมือ ท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร ได้มีเรื่องเล่าคุยกับอาตมาทั้งในเรื่องของโหราศาสตร์และเรื่องราวทั่วๆไป มากมายหลายอย่าง บางวิชาก็เป็นเรื่องราวของเก่าที่ไม่ปรากฏในที่อื่น อย่างเช่นดาวพรหมปโรหิตา พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางของไทย ที่ท่านอาจารย์ บุญเรือนได้แนะนำและให้อาตมภาพรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน อาตมภาพจึงเห็นควรนำเอาตำรานี้มาจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ ถึงความรู้ความดีงาม และคุณค่าในเชิงโหราศาสตร์ของผู้วายชนม์ อันเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของท่านให้ประดับไว้ในโลกา

ตำราเล่มนี้ มีการจัดพิมพ์เพียงแค่ 2 ครั้งในจำนวนไม่กี่ร้อยเล่ม อาตมภาพได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อมอบให้ท่านอาจารย์จำหน่ายและใช้เป็นคู่มือสอน โดยพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2539 และหลังจากนั้น ก็ได้ทำการตรวจชำระและจัดพิมพ์ตำรานี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2540 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งสองครั้งนั้น ท่านอาจารย์ บุญเรือน ได้ใช้ปรากฏการณ์ดาวหางในการพยากรณ์ ครั้งแรก คือ ชื่อเสียงของประเทศจากเหรียญทองโอลิมปิค คราวดาวหางไฮอะกุตาเกะ และพยากรณ์ครั้งที่สอง คือ วิกฤติต้มยำกุ้งจากดาวหาง เฮลบอปพ์ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพยากรณ์ในส่วนที่เรียกว่า Mundane Horology
ด้วยคุณูปการที่ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร ได้มีต่อวงการโหราศาสตร์ และผลกุศลบุญราศีที่ท่านได้บำเพ็ญมา อาตมภาพขอตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร จงไปสู่สุคติภพชั้นช่อฟ้ากามาพวจรเสวยผลบุญอันเป็นสุข ณ สถานทิพยวิมานเบื้องบนนั้น ตลอดกาลอันสมควรเทอญ

จากศิษย์
พระครูสมุห์ อภิสิทธิ์ อภิญาโณ
ที่ปรึกษาสมาคมโหรแก่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
วัดยานนาวา สาทร กรุงเทพมหานคร

 

คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๑
พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหาง

พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางนี้เป็นบันทึกแต่โบราณของไทย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ตำราดาวพรหมปหิตา” โดยในตำราโหรของไทยได้เรียกดาวหางว่า “ดาวธุมเกตุ” อันมีหลักฐานปรากฎในจดหมายเหตุปูมโหร และบันทึกพงศาวดารหลายฉบับ ดังนั้นตำราฉบับนี้จึงมีชื่ออื่นเรียกว่า “คัมภีร์ว่าด้วยพระเกตุ หรือธุมเกตุ” อีกชื่อหนึ่ง

ในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องดาวหางนั้น ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมาโดยตรงว่า ให้พิจารณาจากท้องฟ้าและดาราศาสตร์ คือการดูดาวนั่นเอง จากบันทึกตำราต่างๆที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น เท่าที่ข้าพเจ้าได้เคยตรวจพบซึ่งข้อความบันทึกเกี่ยวกับดาวหางนั้นมีอยู่ หลายฉบับ แต่ละฉบับก็มีอยู่อย่างบกพร่องไม่สมบูรณ์ คงมีแต่บางส่วนในตำราอธิไทโพธิบาทว์และคำกล่าวที่ว่า “บาดสี่ธุมสอง” และคำพยากรณ์เพียงบางตอนสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแปรผลไปในทางร้ายๆทั้งสิ้น และข้อความต่างๆมิได้ต่อเนื่องกันและมิได้อ้างถึงเค้ามูลของตำราเดิมแต่ อย่างใด ทำให้ยากแก่การศึกษา จนกระทั่งนักโหราศาสตร์ไทยปัจจุบันหลายๆท่านถึงกับกล่าวว่า ในตำราโหราศาสตร์ของไทยไม่มีเรื่องดาวหางกล่าวถึงไว้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากวิทยาการทางด้านนี้จะถูกลบเลือนไป เพราะขาดการศึกษาที่ต่อเนื่อง และการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร (บ.ร. วรรณวิจิตร) อดีตนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ได้กรุณานำบันทึกของโหรฝ่ายวังหน้า และตำราเก่าจากปักษ์ใต้และบันทึกของท่าน “จันทรพิมพ์” หรือ “คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์” มาให้ข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ พร้อมทั้งได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดาวหาง เพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ต่อไป

อนึ่ง ข้อความที่ปรากฏนี้อาจผิดเพี้ยนไปจากของเดิมบ้างเพื่อขัดเกลาสำนวนและอักขระ ให้เป็นไปตามความหมายในปัจจุบัน และคำว่า “พระเกตุ” หรือ “ธูมเกตฺ” หรือ “ธุมเกตุ” ในที่นี้ ให้หมายความถึง ดาวหางทั้งสิ้น และขอให้บุญกุศลคุณความดีอันเป็นคุณานุปการในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์นี้ จงอำนวยผลบุญเป็นของท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร และ “ครูโหร” ทุกท่านที่ได้กรุณาบันทึก และให้คำอธิบายอันเป็นประโยชน์แก่วงการโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง หากมีสิ่งใดผิดพลาด ข้าพเจ้าขอน้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

อภิสิทธิ์ เอกแสงสี
12 มิถุนายน 2539

 

คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๒

เมื่อปี พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของดาวหาง ไฮอะกุตาเกะ ซึ่งได้พบนักโหราศาสตร์ไทยหลายคนกล่าวว่า ไม่มีตำราดาวหางในวิชาโหราศาสตร์ไทย จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า น่าจะรวบรวมข้อมูลเรื่องดาวหางชุดที่เคยมอบให้แก่อาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญ ไป ขึ้นรวมเล่มเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง ประกอบกับต่อมา ผู้เขียนได้รับความกรุณจากท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ได้กรุณาชี้แนะและมอบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดาวหางและเรื่องอื่นๆให้แก่ผู้ เขียนเพิ่มเติม โดยท่าน อาจารย์บุญเรือน ได้ปรารภกับผู้เขียนและอาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญว่า น่าจะทำการเรียบเรียงสรรพตำราโหราศาสตร์ที่สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ที่ได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นมาในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 ขึ้นมาใหม่เพราะของเดิมได้หมดไปแล้ว โดยได้มอบเรื่องทักษาให้ข้าพเจ้า และเรื่องทักษายุคให้อาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญ นำไปจัดพิมพ์ พร้อมทั้งได้ปรารภพิ่มเติมว่า จะให้พิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรื่องดาวหาง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นักศึกษาวิชาโหราศาสตร์ของสมาคมฯ รุ่นปี 2539 ซึ่งผู้เขียนก็ยินดีสนองคุณท่านอาจารย์จัดทำให้ด้วยความเต็มใจ

ในการพิมพ์ครั้งที่ 1 นั้น ผู้เขียนได้จัดพิมพ์ตำราดาวหางนี้ขึ้นมาโดยมีเวลาน้อย จึงได้แต่เพียงรวบรวมปกรณ์โหรไว้เป็นหัวข้อใหญ่ๆเท่านั้น เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาไปพร้อมกับคำสอนมุขบาฐของท่านอาจารย์บุญเรือน แต่ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ผู้เขียนได้เรียบเรียงย่อคำอธิบายของท่านอาจารย์ บุญเรือน พร้อมทั้งเพิ่มเติมประวัติข้อมูลเรื่องดาวหางในทางโหราศาสตร์ ปูมโหร และปกรณ์โหรในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อท่านที่สนใจในการศึกษา โหราศาสตร์เกี่ยวกับดาวหาง จะได้เข้าใจ “ ConCept ” แนวทางโหราศาสตร์ไทยเรื่องดาวหางได้เช่นเดียวกับโหรโบราณ

อภิสิทธิ์ เอกแสงศรี
20 มีนาคม 2540

 


 

 


มุขบูชา

นมัตถุ สุคตัสสะ โอม นมัสสิตวา
นบพระศาสดา นบธรรมคัมภีร์
นบสงฆสิกขา นบอาจารีย์
นบโหรา-ตรี- เวทย วิชศาสตรไสย

นโมข้าขอนมัสการ พระวรญาณจอมโมฬี ข้าขอน้อมเกศีอภิวาท ซึ่งพระบาทยุคลกงจักร มีลายลักษณ์ร้อยแปดสิ่ง ประเสริฐยิ่งมงคลพิศาล ข้าขอนมัสการซึ่งประทีปแก้วกล่าวแล้วคือพระนพโลกุตรธรรมเก้าประการ เป็นสิบกับพระปริยัติสารไตรปิฏก อันพระโลกนายกสั่งสอนสัตว์ให้กำจัดจากกิเลสให้เคลิ้มหลง ขอนมัสการสงฆ์ชิโนรสทรงกรรมบถศีลสิกขา มีพระโสดาเป็นประธาน มีพระอรหัตผลเป็นปริโยสานที่สุด เนื่องมาถึงสมมติสงฆ์ทุกวันนี้ เดชะบารมีพระรัตนตรัย ขอให้มีชัยประสิทธิแก่ตูข้าผู้นมัสการ อย่าให้แผ้วพานอุปัทวะจัญไร จงขจัดไกลจากสกลกายแห่งตูข้าผู้สามิภักดิ์คำรบรักษ์พระไตรรัตน์ จงมาขจัดพระเคราะห์ร้าย ความป่วยไข้ให้หายสูญอย่ามีเหตุ ข้าขอน้อมศิระเกศนมัสการพระอาจารย์ผู้ครูบา อันบอกสรรพวิชาไตรเภท หนึ่งข้าขอนบเทเวศร์อันสิงสถิตย์ ในทศทิศเป็นปฐมบนจดพรหมอักนิษฐโสฬส เบื้องต่ำนั้นจดนาคบาดาล โดยรอบขอบจักรวาฬโลกธาตุ ขอเชิญเทพยดาเจ้าทั้งหลายมาสันนิบาตประชุมกัน จงช่วยสรรอวยชัยศรีสวัสดิ์แห่งตูข้า แม้นจะว่ากล่าวประการใด ขอให้มีชัยมงคล ปานดังโกสีย์เทวราช ลงมาประสาธประสิทธิ์พรศุภผล ขอให้มีมงคลประสิทธิ์ เทอญ ฯ


ตำราดาวพรหมปโรหิตา

สิทธิการิยะ จะกล่าวตำราดาวพรหมปโรหิตาดังนี้ ถ้าดาวดวงใดก็ดี แลเห็นเป็นควันเรียกว่า ธุมเกตุ มีพระบาลีว่า

ธูมเกตัง ตาระกัง ทิสวา
วินาสัญจะ อเสสะโต
มนุสสานัง ภะยัง ชาตัง
ปริสานัญจะ อิตถินัง
อัญญมัญญัง วิหิงสกา
ชัมพูทีปนิวาสิโน
ปะฐะวิยัง โลหิตัง ปัคฆะริ
นานาภะยัง วิชายะเต

(แปลว่า) เพราะเห็นดาวธุมเกตุ จะเกิดความพินาศโดยสิ้นเชิง ภัยจะเกิดแต่มนุษย์ทั้งหลายทั้งชายหญิง ชาวชมพูทวีปจะเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จะนองเลือดในแผ่นดิน และภัยต่างๆจะเกิดขึ้น

อรรถาธิบายความในคาถาว่า แม้ปรากฏดาวเป็นธุมเกตุ (คือดาวหาง) เป็นที่ปรากฎเป็นสาธารณะโลกทั่วไปแก่ชายหญิงในชมพูทวีป จะเกิดภัยต่างๆขึ้น อาทิเช่น เกิดศึกทุกแห่ง โลหิตจะไหลดาษดื่นไป จะเกิดโกหกฉกฉ้อเบียดเบียนกันต่างๆ

สำหรับบันทึกและข้อเขียนในเรื่องดาวหางในที่นี้ส่วนใหญ่ จะมาจากบันทึกของโหราจารย์ไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยในตอนต้นบทปกรณ์ว่าด้วยดาวนั้นแต่เดิมเป็นของหลวงเทพเทพากร อันเป็นโหรฝ่ายวังหน้าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้รวบรวมของเก่าบันทึกไว้และ ต่อมา ท่านหลวงพุทธราชศักดา ได้เขียนคัดลอกไว้ในสมุดข่อยมาตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1207 (ประมาณปี พ.ศ. 2388 ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โดยท่านหลวงพุทธราชศักดาได้เปรียบเทียบกับตำราหลายฉบับและได้ตกทอดสืบไปยัง ฝ่ายโหราศาสตร์ปักษ์ใต้ ซึ่งท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร (บ.ร.วรรณวิจิตร) นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ท่านได้นำมาอธิบายพร้อมข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการค้นคว้าของข้าพเจ้าผู้เขียน


บทปกรณ์ว่าด้วยดาว


ดาวพระ ๓ ใหญ่ปริมณฑล ๑๕ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๔ ปริมณฑลใหญ่ ๑๔ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๕ ปริมณฑลใหญ่ ๑๒ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๖ ปริมณฑลใหญ่ ๑๙ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๗ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ ฯ ดาวพระ ๘ ปริมณฑลใหญ่ ๑๒ โยชน์ มีรัศมีดังดอกอัญชัน แต่ว่าเป็นหางกระ บ่ห่อนออกให้เห็น ถ้าเห็นเมื่อใดจะบังเกิดกลียุคใหญ่เมื่อนั้นแล ฯ ดาวพระ ๙ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ มีรัศมีดังกองเพลิง ถ้าหางออกให้เห็นจะเกิดกลียุคแล ถ้าออกแต่ราศีใด ต้องลัคนาผู้ใด ผู้นั้นจะเกิดวิบัติแล ฯ ดาวพระ ๐ ปริมณฑลใหญ่ ๑๓ โยชน์ แต่ว่าเป็นขอบล้อมอยู่ดุจรัศมีเพลิง ถ้าต้องลัคนาผู้ใด กาลจะถึงแก่ผู้นั้นแล ฯ มีดาว ๒ ดวงอยู่ใกล้กันประมาณ โยชน์ ๑ แล ลูกใหญ่ชื่อ “มันทเล” ลูกน้อยชื่อ “กุมารี” ด้วยว่า ดาวทั้ง ๒ ลูกนี้ย่อมเร่เที่ยวออกทุกทิศแล ฯ ดาวจำพวกหนึ่งชื่อ “สัมภกัน” หรือ “ลำพูกัน” มาอยู่ฝ่ายบูรพาทิศ เป็นแผ่นดุจแผ่นกระดาน ถ้าเห็นขึ้นกาลเมื่อใด กาลเมื่อนั้นจะได้รบพุ่งกันแล ฯ

อธิบาย อันปกรณ์ตำราโหราศาสตร์ของไทยนั้นมีหลายหลากมากคัมภีร์ด้วยกัน แต่ยังขาดการชำระและเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ให้เป็นที่เรียบร้อยดังเช่น ศาสตร์อื่นๆ ซึ่งกล่าวกันว่า มีตำราบันทึกอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คัมภีร์ ซึ่งนักศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ต่างก็ไม่ใคร่จะได้พบเห็นมากนัก บางตำราก็เคยพบเห็นแต่ชื่อที่ถูกบันทึกไว้แต่ก็ยังหาต้นฉบับตัวเขียนมาตรวจ สอบไม่ได้ จนกระทั่งในปัจจุบัน มีนักโหราศาสตร์ไทยในรุ่นปัจจุบันหลายท่านถึงกับกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ตำราโหราศาสตร์ไทยมีเพียง ๒ เล่มเท่านั้น คือ พระคัมภีร์จักรทีปนี และคัมภีร์ทักษาสังคหปกรณ์ เท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าตำราโหราศาสตร์ของไทยนับวันมีแต่จะสูญหายหรือถูก ลืมทอดทิ้งไป


อันการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยแต่ดั่งเดิมนั้น ท่านมีขั้นตอนการศึกษาแบ่งออกเป็นหลายภาคคือ

1. ภาคคำนวณ พึงเข้าใจก่อนว่า แต่เดิมในสมัยโบราณนั้น ยังไม่มีผู้ใดจัดทำปฏิทินโหรแสดงสมผุสดาวต่างๆเป็นรายวัน รายปี ดังเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น การที่จะเริ่มต้นศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ก็จะต้องเข้าใจถึงรายละเอียดแห่งจักรราศีและดวงดาวต่างๆว่าสถิตอยู่ที่ใด เสียก่อน จึงต้องทำการศึกษาวิชาคำนวณสุริยาตร์ คำนวณสารัมภ์ คำนวณมหาสงกรานต์ ฯลฯ เป็นต้น ดังเช่นการแบ่งหน้าที่ของกรมโหรหลวง ก็จะมีการแบ่งแยกโหรแผนกคำนวณขึ้นมาเป็นแผนกหนึ่งต่างหาก จากแผนกพยากรณ์

2. ภาคพยากรณ์ ได้แก่หลักที่ใช้ในการพยากรณ์ต่างๆ เช่น คัมภีร์อินทภาส บาทจันทร์ จักรทีปนี ทักษา เป็นต้น

3. ภาคโหราศาสตร์บ้านเมือง เช่นคัมภีร์ราชมันตัน คัมภีร์นครพังก์ คัมภีร์โสฬสมหานคร เป็นต้น

4. ภาคฤกษ์และชาตา จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเลขศาสตร์ นิมิตแห่งลางยาม (Omen) ดิถี ธาตุ การทำพิธียัญญกรรม คัมภีร์มหาทักษา และอื่นๆ

5. ภาคดวงดาว หมายถึง จะต้องเรียนรู้ถึงสภาพและปรากฎการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้า ดังที่ชนชาติทางตะวันตกเรียกว่า Phenpmenon


สำหรับเรื่องของดาวหางก็เช่นกัน ทางฝรั่งชนชาติตะวันตกถือว่าเรื่องดาวหางนั้นเป็นทั้ง PHENOMENON และ OMEN ดังที่ท่านวิลเลียม เช็กสปัยร์ กวีเอก ได้กล่าวไว้ว่า “ When beggar die there no comets seen , The heaven themselves blaze forth the death of princess ” ทั้งนี้ เพราะความเชื่อของฝรั่งชนชาติตะวันตกในเรื่องเกี่ยวกับดาวหางนั้น ได้ถูกจารึกไว้ในความทรงจำถึงความทารุณหฤโหดที่เลวร้าย สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยของอารยธรรมกรีกและโรมัน

จากสมัยของอารยธรรมกรีก มีความเชื่อกันว่า มนุษยชาติเป็นผู้รับใช้บรรดาปวงทวยเทพบนสวรรค์ ซึ่งมีการสื่อความหมายและคำสั่งให้รู้ได้จากปรากฎการณ์ฟากฟ้า ภายใต้ลัทธิสโตอิกซิสม์ (Stoicism) โดยเน้นให้คนทั้งหลายเชื่อถือในโชคชาตา และว่ามีแต่การยอมจำนนต่อโชคชาตาเท่านั้น จึงจะเป็นวิถีทางที่จะนำเอาชีวิตของตนให้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและ เทพเจ้าได้ แนวความคิดนี้ถูกยึดถือมาจนกระทั่งถึงสมัยอาณาจักรโรมันของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อจูเลียส ซีซาร์ถูกลอบทำร้ายจนถึงแก่กรรม มีเพียงบุคคล 2 คน ในขณะนั้นที่กุมอำนาจในวงการการเมือง ก็คือ มาร์ แอนโธนี (Mark Anthony) และ อ็อกตาเวียน ( Octavian) เมื่ออ็อกตาเวียนได้มีชัยชนะต่อสงครามกลางเมืองและได้ก้าวสู่ราชบัลลังก์ แห่งจักรพรรดิ์องค์แรกแห่งอาณาจักรโรมัน ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ออกุสตุส (Augustus) (ครองบัลลังก์จนถึงปี ต.ศ. 14)

จักรพรรดิออกุสตุสนี่เอง ที่ได้นำเอาโหราศาสตร์และพวกโหราจารย์ชาวแคลเดียนมาใช้เป็นเครื่องมือทางการ เมือง และได้ทำการเปลี่ยนแนวความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นผู้รับใช้เทพเจ้าเสียใหม่ มาเป็นว่า บรรดาจักรพรรดิและผู้ปกครองทั้งหลายนั่นแหล่ะเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้าบนสรวง สวรรค์มาเกิดในโลกมนุษย์ ทั้งนี้โดยอ้างว่า ซีซาร์เป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า และตนเอง (หมายถึงจักรพรรดิ์ออกุสตุส) ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้าด้วย


ในยุคนั้น ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติเรื่องดาวหางได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสังหาร บรรดาศัตรูทางการเมืองให้หมดไป โดยมีพวกโหราจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์จักรพรรดิ เรื่องนี้ได้มีบางท่านเข้าใจผิด คิดว่าจักรพรรดิออกุสตุสเป็นผู้บูชาดาวหางและเชื่อว่า ดาวหางได้อำนวยผลดีให้แก่จักรพรรดิออกุสตุสจนถึงได้กับสร้างวิหารบูชาดาวหาง ขึ้น แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จักรพรรดิ์ออกุสตุสได้นำเอาเรื่องของดาวหางมาเป็นเครื่องมือประหารชีวิต บุคคลที่อาจเป็นอันตรายต่อบัลลังก์ของพระองค์ จนทำให้บรรดาชาวเมืองและเชื้อพระวงศ์มีความหวาดกลัวต่อปรากฎการณ์ดาวหางยิ่ง นัก ทุกครั้งที่มีดาวหางปรากฏ องค์จักรพรรดิของโรมันทุกพระองค์จะถือเป็นธรรมเนียมสั่งให้โหราจารย์และคน สนิทกำหนดรายชื่อศัตรูทางการเมืองที่จะถูกประหารสังเวยเทพเจ้าต่อไปโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในสมัยของ จักรพรรดิ์เนโร (The Nero) ผู้บ้าคลั่งแก่งจักรวรรดิโรมันซึ่งมี บาลบิลุส (Balbillus) เป็นโหราจารย์ที่ปรึกษาได้กราบทูลว่า เมื่อดาวหางอันถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งลางร้ายที่บ่งบอกถึงการตายของผู้นำ ประเทศปรากฏขึ้นในท้องฟ้าในกาลเมื่อใดก็ตาม ตามธรรมเนียมประเพณีในอดีตนั้น เหล่าบรรดากษัตริย์ทั้งหลายก็มักจะหันเหเบี่ยงเบน “ความพิโรธกริ้วของสวรรค์ชั้นฟ้า” (ดาวหาง) ด้วยการประหารบุคคลสำคัญๆซึ่งเป็นประชาราษฎร์ของพระองค์เอง หลังจากฟังคำแนะนำของบาลบิลุสแล้ว จักรพรรดิ์เนโรก็สั่งให้ประหารบรรดาผู้ดีมีสกุลชาวโรมันเสียเป็นจำนวนมาก จาบรรดาชาวเมืองแห่งกรุงโรมจำใส่ใจไว้เสมอว่า เมื่อใดที่ดาวหางปรากฏออกมาให้เห็น ทั่วทั้งแผ่นดินแห่งอาณาจักรโรมันก็จะนองไปด้วยเลือด วิหารดาวหางจึงแตกต่างไปจากมหาวิหารบูชาเทพเจ้าอื่นๆ เช่นวิหารดวงอาทิตย์ซึ่งบูชาเทพเจ้ามิธรัส (Mithras) หรือวิหารแห่งเทพเจ้าซีเบล (Cybele) หรือวิหารบูชาเทพเจ้าไอซีซ (Isis) ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม มหาวิหารดาวหางจึงเป็นสถานที่ได้สร้างขึ้นเพื่อทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ขององค์จักรพรรดิ์ ซึ่งความเชื่อและหลักฐานแห่งความทารุณในเรื่องนี้ถึงกับเป็นที่ต้องบันทึก ไว้ในประวัติศาสตร์

ดังนั้นจากความตายและความทารุณทรมานในสมัยโรมันนี่เอง จึงเป็นที่มาของกวีนิพนธ์ของท่านวิลเลียม เช็กสเปียร์ว่า ดาวหางคือปรากฎการณ์แห่งความตายของพวกชนชั้นสูง

 

เมื่อสิ้นสุดยุคสมัยแห่งวัฒนธรรมโรมันแล้ว ภาระความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดาวหางของชนชาติตะวันตกมิได้เปลี่ยนแปลงคืบ หน้าไปเท่าใดนัก คงมีความสนใจในเรื่องของคราสและอุปราคาต่างๆมากกว่า จนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เรื่องดาวหางจึงได้รับการฟื้นฟูและให้ความสนใจมากขึ้น โดย จาคอบุส แองจีลุส ได้ศึกษาเกี่ยวกับดาวหางและตรวจสอบดูผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ ทำให้บรรดาโหราจารย์ทั้งหลายมีความมั่นใจว่า การทำนายของพวกเขาจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงและได้รับการเคารพนับถือจากคน ทั้งหลาย และแนวทางดังกล่าวนี้ ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดาวหางของฝ่ายตะวันตกจึงเริ่มมีบันทึกหลักเกณฑ์ที่ ค่อนข้างจะเป็นวิทยาการในราวๆ 600 ปีมานี่เอง

หมายเหตุ : อนึ่งผู้เขียนเห็นว่า ในปัจจุบันมีนักโหราจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านได้เริ่มเข้าสู่การสับสน เช่นเดียวกับชาติตะวันตกแนวทางข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว คือ แทนที่จะพิจารณาหรือพยากรณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากดาวหาง แต่กลับไปนำเอาสถิติและผลของการเกิดคราสและอุปราคา นำไปเป็นสถิติทำนายผลที่เกิดขึ้นกับการเกิดดาวหางแทน จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า การค้นคว้าเรื่องดาวหางในแนวทางโหราศาสตร์ของไทยต้องถดถอยไปสู่ความล้าหลัง เสียอีก หาได้สืบทอดจัดทำบันทึกปูมโหรขึ้นตรวจสอบเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จะเกิด ขึ้นจากปรากฎการณ์ดาวหางไม่


ในทางโหราศาสตร์ฝ่ายตะวันออก ตำราบันทึกเกี่ยวกับดาวหางในความเชื่อของนักปราชญ์ชาวอินเดีย ได้ถูกรวบรวมโดยท่านนักปราชญ์และโหราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งคือ ท่าน “ วะระหามิหิระ ” (ในฉบับแปลบางฉบับเรียกท่าน “วราหมิหิรา” หรือเรียกโดยย่อว่า ท่านกาลิทาส แต่คำว่า “กาลิทาส” เป็นตำแหน่งหาใช่ชื่อของท่านไม่) ท่านผู้นี้เกิดในราวปี พ.ศ. 1048 และตายในปี พ.ศ. 1130 รวมอายุได้ 82 ปี ซึ่งท่านโหราจารย์ผู้นี้เป็นคนสำคัญในจำนวนพวกนักปราชญ์ทั้งเก้าของพระเจ้า วิกรมาทิตย์ และเป็นที่เชื่อกันว่า ท่าน วะระหามิหิระ นี้ได้เริ่มการชำระสะสางเหล่าตำราโหราศาสตร์ของอินเดียมาตั้งแต่ราวๆปี พ.ศ. 1087 มาแล้ว ดังนั้น คัมภีร์ดาวหางซึ่งท่านวะระหามิหิระได้รจนาขึ้นเป็นโศลกแฝงอยู่ในคัมภีร์ พฤหัตะจึงมีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1500 ปีมาแล้ว พระคัมภีร์พฤหัตะ นี้มีอยู่ทั้งสิ้น 3900 โศลกด้วยกัน โดยแยกออกเป็น 107 บท แบ่งชื่อเป็นตอนได้มีดังนี้ คือ พฤหัตสังหิตา พฤหัตชาดก ปัญจสิทธาติกะ พฤหัตยาตรา พฤหัตวิวาปะฏะละ สวะลปะชาดก ละฆุยาตรา ละฆุวิวาหะปะกะละ และ มุหุรตะ เป็นต้น


โดยในเรื่องของดาวหางอันตำราได้ให้ชื่อว่า “เกตุ” นั้น โหรทางอินเดียท่านได้แบ่งจำพวกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท คือ

เกตุจำพวกหนึ่ง ได้แก่ หางของพระราหู ซึ่งในทางคำนวณมีตำแหน่งอยู่ในนักษัตรต่างๆอันตรงข้ามกับพระราหูเรียกว่า พระเกตุ

เกตุอีกจำพวกหนึ่ง ได้แก่ จำพวกที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ เช่น พวกเรืองแสงต่างๆที่บังเกิดขึ้นจากตัวสัตว์ เช่น หิ่งห้อย ตัวหนอนบางอย่าง ปลาบางชนิด หลุมศพ ฯลฯ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเรียกว่า ธาตุฟอสฟอรัส

และเกตุจำพวกสุดท้าย ได้แก่ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าอันเราไม่สามารถจะแยกออกได้ว่า จะเกิดขึ้น ณ เมื่อใด วันใด ในตำแหน่งใด พระเกตุเช่นนี้ก็คือเรื่องของดาวหางนั่นเอง

ชื่อของดาวหางที่ได้บรรยายไว้ในคัมภีร์ดังกล่าวมีจำนวนมากมายนัก เช่นในบางตอนของคัมภีร์ก็ถือเอาดาวหางเป็นลูกของดาวเคราะห์ เช่น กุมุทเกตุเป็นลูกของพระจันทร์มี 3 ดวง ทางกุภะเกตุ ลูกของพระอังคารมี 60 ดวง ตัสกรเกตุ ลูกของพระพุธมี 51 ดวง วิกะจาเกตุ ลูกของพระพฤหัสบดี มี 65 ดวง ศุกรสุตาเกตุ ลูกของพระศุกร์มี 84 ดวง กนกเกตุ ลูกของพระเสาร์มี 60 ดวง ฯลฯ และในบางตอนก็เรียกตามลักษณาการของดาวหางที่ปรากฏ เช่น ธุมเกตุ กิรณะเกตุ พันธุชีวะเกตุ มฤตยูสุตาเกตุ วิศวะรูปะเกตุ อรุณเกตุ คณะกาเกตุ จตุศรเกตุ กาละเกตุ วสาเกตุ กะพันธะเกตุ มณีเกตุ ศาสตราเกตุ รัศมีเกตุ ธุระวะเกตุ ชะละเกตุ ปัทมะเกตุ เศวตเกตุ ภวเกตุ จลเกตุ พรหมสุตาเกตุ ดังนี้เป็นต้น ฯลฯ รวมเรียกชื่อต่างๆนี้ นับได้ประมาณ 1,000 ดวง ตามที่ท่านฤาษีครรคะได้กล่าวไว้

ตามหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องดาวหางในคัมภีร์ดังกล่าว อาจจะกล่าวสรุปโดยย่อได้ดังนี้

1. นักปราชญ์ชาวอินเดีย ท่านได้พิจารณากำหนดกลุ่มหรือหมู่ดาวฤกษ์ว่าหมู่ดาวนักษัตรใดเป็นดาวประจำเมืองของเมืองใด

( หมายเหตุ - ของอินเดียมีการกำหนดหมู่ดาวนักษัตรเป็น 28 หมู่ โดยเพิ่มหมู่ดาวนักษัตร อภิชิต หรือ อภิชะ เป็นนักษัตรที่ 28 ขึ้นมา ต่างกับโหราศาสตร์ไทยซึ่งกำหนดหมู่ดาวนักษัตรไว้เพียง 27 หมู่ เท่านั้น เรื่องรายละเอียดนั้น ผู้เขียนได้เรียบเรียงไว้โดยละเอียดในหนังสือโหราศาสตร์ว่าด้วยฤกษ์และธาตุ แล้ว)

2. ดาวหางที่ปรากฏขึ้นในท้องฟ้านั้น มีทัศนะสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรใดและสัมพันธ์อย่างไร เกิดขึ้นทางทิศไหน และส่วนหางของดาวหางชี้ไปทิศทางใด

3. ประการที่สำคัญที่สุด ก็คือ การมองดวงดาวในสมัยโบราณท่านถือความสำคัญของการมองด้วยตาเปล่าเป็นหลัก ถ้ามองเห็นดาวหางและความสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรนั่นชัดเจนดี ก็หมายความว่า จะบังเกิดผลขึ้นแน่นอน แต่ถ้ามองเห็นไม่ชัดหรือต้องใช้กล้องช่วยส่อง ก็หมายความว่า ภัยหรือผลของดาวหางนั้นจะไม่รุนแรงหรืออาจไม่บังเกิดขึ้นก็ได้

4. การทำนายผลและระยะเวลาของเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากรากฎการณ์ดาวหาง ซึ่งอาจจะมีทั้งผลดีหรือผลร้ายก็ได้ แล้วแต่ ลักษณาการของดาวหาง ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 7 วัน ถึง 10 ปีเลยทีเดียว


สำหรับตำราดาวหางของไทยนี้ เชื่อว่า มิได้เป็นแนวทางเดียวกันกับของอารยธรรมตะวันตก แต่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์ของอินเดีย หรือจีน ซึ่งมีหลักฐานว่า ทางจีนได้มีบันทึกเรื่องโหราศาสตร์นี้มาไม่น้อยกว่า 4,600 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ์ฟูชิ) และทางอินเดียก็ได้มีบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์แห่งดวงดาวมา ไม่น้อยกว่า 3,102 ปี ก่อนคริสตกาล (มีหลักฐานบันทึกโหราศาสตร์ของอินเดียที่มีอายุไม่น้อยกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และโดยเฉพาะในเรื่องคัมภีร์ดาวหางของอินเดียก็ได้มีบันทึกเป็นหลักฐานมาไม่ น้อยกว่า 1500 ปีมาแล้ว) และในส่วนของประเทศไทย โดยที่มีหลักฐานว่า อารยธรรมอินเดียได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 แล้ว และได้มีการขุดค้นพบแผ่นอิฐศิลาฤกษ์ ณ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ในจดหมายเหตุของจีนเรียกชื่อเมืองอู่ทองนี้ว่า เมืองกิมหลิน อันแปลว่าแดนทอง) ซึ่งประมาณว่า แผ่นอิฐศิลาฤกษ์ดังกล่าวมีอายุอยู่ในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 8 ถึง 11 (ตรงกับราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 4 หรือ ราว ๆ 1,500 ปีมาแล้ว อันตรงกับช่วงการสลายตัวของจักรวรรดิ์โรมันที่เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 1018 และในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1043 ถึงปี พ.ศ.1343 นั้น ก็เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของโหราศาสตร์ในยุโรปด้วย)

จึงเชื่อว่า หลักวิชาโหราศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องดาวหางของไทยนี้น่าจะได้รับการ เผยแพร่มาจากอารยธรรมของอินเดีย ซึ่งมาพร้อมๆกันกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วย โดยได้รับการถ่ายทอดมาสองสายคือ สายแรกมาจากทางภาคใต้ พร้อมกับการเผยแพร่พุทธศาสนา และสายที่สองได้รับมาจาก ทางพวกฝ่ายมอญทางด้านเหนือและตะวันตก มารวมพร้อมกับความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากอารยธรรมของฝ่ายจีน ซึ่งไทยได้ติดต่อค้าขายกันอยู่ มาพัฒนาขึ้นเป็นองค์ความรู้ในวิชาโหราศาสตร์ของไทยขึ้นมาเอง

หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ของไทยนี้จะแตกต่างกับของอินเดียทางด้านพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน และจีน ที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องหมู่ดาวนักษัตร โดยของไทยซึ่งเป็นฝ่ายสืบทอดพุทธศาสนาฝ่ายหินยานจะมีเพียง 27 หมู่ แตกต่างไปจากของจีนและอินเดียบางกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานซึ่งจะมี 28 หมู่ดาวนักษัตรด้วยกัน อีกทั้งการกำหนดหมู่นักษัตรประจำเมืองก็จะพิจารณาแตกต่างกันออกไปด้วย ผลงานเรื่องดาวหางของไทยจึงเป็นภูมิปัญญาของไทยที่แตกต่างไปจากชนชาติอื่น อันสมควรอนุรักษ์ไว้ให้สืบทอดต่อไป


 

 

 

บทปกรณ์ว่าด้วยบาตร ๔ และ ธุม ๒


บาตร ๔ คือ อัสนีบาตร , กลาบาต , คาหบาตร , อุกาบาตร รวม ๔ ประการ ธุม ๒ คือ ธุมเกตุ ธุมเพลิง รวม ๒ ประการ รวมเข้ากันเป็น ๖ ประการ เป็นนิมิตที่เทวดาบันดาลให้เห็นต่างๆด้วยความกรุณาในสัตว์โลก อันจะถึงซึ่งความฉิบหายแล ฯ

ผิวแล อสุนียบาต ตกที่โรงวินิจฉัยก็ดี ฤาปีหนึ่งฟ้าผ่า ๓ หนก็ดี ๕ หนก็ดี ถูกผู้คนและสัตว์ทวิบาทจตุบาทล้มตาย ท่านทายว่าร้ายห้ามการยาตรา ให้เร่งทำบุญให้ทาน ฯ

กลาบาต สีแดงดุจสีเพลิงเทียนเป็นช่วงใหญ่ กลมเท่ากับผลมะพร้าวทั้งเปลือก ผิวตกบุรพทิศไปสู่อุดรร้ายนัก ฯ

คาหบาต มักตกเพลาค่ำ มีสีดุจแสงประอาทิตย์เมื่ออัสดงคต ถ้าเป็นปรากฏ ๓ , ๔ ทิศนี้ร้ายนัก ถ้าตกทิศ ๑ , ๒ ทิศ จะเกิดความไข้ ฯ

อุกาบาตร ตกสีแดง ช่วงแลเห็นปรากฏยาว ๓ , ๔ ศอก ศีรษะใหญ่เท่าลูกส้มโอ หางเท่าแสงคบเพลิง ตกแต่บุรพทิศ ร้ายนัก ให้ประหยัดจงดีแล ฯ

ธุมเกตุ ตก ให้มืดคลุ้มไปก็ดี ประดุจหนึ่งควันพลุ่งไปก็ดี แต่ในเวลากลางวันไป ให้ว่า พระภุม สำแดงเหตุ เป็นอันร้ายนัก

ธุมเพลิง ตกสีดุจควันเพลิง ให้เห็นปรากฏเป็นหมู่ ๆ เป็น จอม ๆ ใน ๓ ทิศก็ดี หากบันดาลให้ชนตกใจว่าไฟไหม้ ให้นักปราชญ์พิจารณาดู ผิว่าแท้แล้วจะถึงกาลพินาศให้เร่งเจริญเมตตาภาวนา

เรียกว่า อุบาทว์พระพาย หากกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงแสดงเหตุให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลก แล ฯ

อธิบาย - ในเรื่องนี้มีที่ปรากฏในตำราบูชาเทวดาอัฏฐเคราะห์ และตำราอธิไทโพธิบาทว์ อันอยู่ในภาคพิธีกรรม ซึ่งได้กล่าวถึงอุบาทว์ต่างๆ 8 ประการ คือ อุบาทว์พระอินทร์ อุบาทว์พระเพลิง อุบาทว์พระยม อุบาทว์พระนารายณ์ อุบาทว์พระพิรุณ อุบาทว์พระพาย อุบาทว์พระโสม อุบาทว์พระไพสพ



บทปกรณ์ว่าด้วยนาคบาต กาลบาต สูญบาต บ่วงบาต


ถ้านาคบาตรตกในท้องฟ้า เดือน 5 , 6 , 7 จะเกิดศึกข้างประจิมทิศ ถ้ากาลบาตรตกในเดือน 8 , 9 , 10 ให้ระวังศึกเฉียงเหนือ ถ้าสูญบาตรตกในเดือน 11 , 12 , 1 ให้ระวังศึกมาแต่ประจิม ถ้าบ่วงละบาตร ตกในเดือน 2 , 3 , 4 ข่าวศึกจะมาแต่ทิศตะวันตก ว่าด้วยนาคบาต กาลบาต สูญบาต บ่วงบาต ตกแต่เท่านี้ ฯ
อธิบาย- การพิจารณาบาตรต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับพระพิรุณ ดาวศุกร์ ๖ ดาวเกตุไทย ๙ ดาวเนปจูน และดาวจันทร์ ๒

บทปกรณ์ว่าด้วยการทอดแสงแห่งดาวหาง


ถ้าพระเกตุตกในพระอาทิตย์ สีแดง ขาว เขียว เหลือง นิล สีคราม เป็นสายรอบก็ดี จะเกิดศึกในประเทศต่างๆ ชนจะเจ็บเป็นไข้ตายเป็นอันมาก ฤกษ์บนไม่สู้ดี ฯ

ถ้าพระเกตุตกในพระจันทร์ เหมือนกล่าวมาแต่หลัง ถ้าสีขาวอาหารจะบริบูรณ์ ถ้าสีเหลืองอาณาประชาราษฏร์จะอยู่เย็นเป็นสุขทั้งแผ่นดิน ฯ

ถ้าพระเกตุตกในดาว เป็นสายออกไปอีกทิศพายัพ ประเทศเมืองอื่นจะเข้ามาสู่โพธิสมภารเป็นอันมาก ถ้าเป็นสายออกไปทิศหรดี จะเกิดศึกในปีนั้นแล ฯ

ถ้าพระเกตุตกมืดหมอกไป 7 วันก็ดี 3 วันก็ดี วัน 7 (วันเสาร์) ก็ดี ทั้งเช้าเย็นกลางคืน จะเกิดศึกต่างประเทศจะเสียเมือง ชนทั้งหลายจะตายมาก ฤกษ์บนวิปริตต่างๆ ฯ

ถ้าพระเกตุตกในแผ่นดิน เป็นควันไฟลุกขึ้นมา จะเสียเมือง ถ้ามิดังนั้นอาณาประชาราษฏร์นานาประเทศ จะเกิดความทุกข์ ฯ

ถ้าพระเกตุตกในน้ำ เป็นสีขาว เขียว เหลือง จะแพ้พาณิชย์ ค้าขายจะเป็นตายต่างๆ ฯ

ถ้าพระเกตุตกในพระราชวังเป็นแผ่นเขียว เป็นไคลที่เสาก็ดี เป็นเลือดข้นก็ดี ให้เขียวไปทั้งพระราชวังก็ดี ตกในช้าง ในม้า พระที่นั่งก็ดี จะเป็นอันตรายต่างๆ จะร้อนในพระพุทธศาสนา จะร้อนในไสยศาสตร์ จะแพ้ผู้ใหญ่และราษฏรทั้งปวง ฯ

ถ้าพระเกตุตกในภูเขา ในไม้ ให้เขียว แดง ขาว ทั้งสามอย่าง จะมีลาภในบ้านเมือง จะเกิดความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

อธิบาย - คำพยากรณ์ว่าด้วยนิมิตการเกิดเหตุแห่งดาวหางนี้ สามารถใช้พยากรณ์ได้ทั้งเหตุการณ์ทั่วไปเป็นสากลทั้งโลก หรือจะพยากรณ์เรื่องราวในประเทศก็ได้ ครูโหรแต่เดิมท่านดูดาวบนท้องฟ้าประกอบกับการคำนวณว่าด้วยฤกษ์และดิถีด้วย อนึ่งพึงสังเกตว่า ในเรื่องดาวหางนั้นมิใช่แต่จะมีโทษทุกข์แต่อย่างเดียว ในส่วนที่มีคุณก็มีอยู่ด้วย




บทปกรณ์ว่าด้วยดาวหางกับดาว 1 , ดาว 2 , ดาว 3


ว่าด้วยพระเกตุตก 9 ประการ ตกในอากาศก็ดี ตกในพระอาทิตย์, พระจันทร์, พระอังคารก็ดี ทั้ง 9 ประการท่านว่าไว้ ถ้าพระเกตุตกในเดือน 5 ให้พยับจะเกิดศึก ถ้าพระเกตุตกในเดือน 6 ข้าวจะแพง ถ้าตกในเดือน 7 ชนจะตายเป็นอันมาก ถ้าพระเกตุตกเดือน 8 ผลไม้จะแพง ตกเดือน 11 จะเกิดลม ชนจะร้อนใจ ตกเดือน 12 จะเกิดศึกมาแต่ประจิมทิศ ถ้าตกเดือน 1 จะเกิดสัตว์ที่มีพิษมาก ตกเดือน 2 หมากพลูจะแพง ตกเดือน 3 , 4 ข้าวของต่างๆจะไม่มีแล ฯ

อธิบาย - เป็นตำราที่ใช้ดิถีต่างหากออกไป ไม่ใช่จักรราศี นำมาพิจารณาใช้ดวงจักรราศีได้ในบางครั้งกาล โดยให้พิจารณาร่วมพร้อมด้วยดาวเกตุไทยหรือดาวเนปจูน ตลอดจนผสมกับการมองด้วยตาเปล่า (การส่องกล้อง) และการคำนวณด้วยดิถี


บทปกรณ์ว่าด้วยลักษณาการแห่งดาวหาง


ถ้าดาวหางเกิดขึ้นทิศประจิม จะเกิดศึกในปีนั้น ฯ
ถ้าดาวหาง (ขึ้น) หนพายัพ นานาประเทศจะเข้าสู่โพธิสมภารเป็นอันมาก ฯ
ถ้าดาวหาง (ขึ้น) ทิศทักษิณ พระยาจะมีลาภ ฯ
ทิศอุดรพระยาเราจะมีชัยชนะ ฯ
ถ้าบูรพาเขาจะคิดร้าย ต่อเจ้าเมืองแล ฯ
ถ้าพระเกตุขึ้นเมื่อจวนพลบถึงย่ำค่ำ จะแสดงเหตุอยู่เป็นนาน ฯ
ถ้าพระเกตุขึ้นเมื่อย่ำค่ำถึงเที่ยง จะมีภัยร้ายปานกลางเกิดขึ้น ฯ
ถ้าพระเกตุขึ้นหลังเที่ยงถึงรุ่ง ท่านว่า ไม่ร้ายแรงนัก ฯ

อธิบาย - แต่ในตำราบางปกรณ์มีข้อความต่างกันอยู่บ้างคือ
(1) ถ้าดาวหางขึ้นทิศตะวันออก (บูรพา) คนทั้งเมืองจะเดือดร้อนทั่วหน้ากัน
(2) ถ้าขึ้นทางทิศใต้ (ทักษิณ) เหล่าประชาราษฏรจะเดือดร้อน อดอยาก
(3) ถ้าขึ้นทางทิศเหนือ (อุดร) เจ้าเมืองจะได้รับเคราะห์ร้าย

สำหรับปกรณ์นี้ อันว่าด้วยเรื่องลักษณาการดาวหางนั้น ท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร ได้เคยเรียบเรียงคำพยากรณ์เอาไว้ในตำราโหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ “บทบาทพระเคราะห์” เป็นร้อยกรองในชื่อบทปกรณ์ว่าด้วยดาวขึ้นกลางวัน มีดังนี้


 

 

บทปกรณ์ว่าด้วยดาวขึ้นกลางวัน

โดย บ.ร.วรรณวิจิตร ท่านได้จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 2516 ในนาม มีนา ปาละมุล

1-2 แม้นดารินถิ่นทิศขึ้นอิสาน เร็วสี่วารช้าสี่เดือนข่าวเยือนแน่
บูรพาหนึ่งเดือนไม่เปื้อนแปร ศึกจะแผ่อำนาจดาษผ่านเรา

3 ถ้าขึ้นทิศอาคเนย์มิเสแสร้ง เขียนคำแต่งตำราพาท่านเขลา
ในเก้าเดือนศึกจะเยือนมาเมืองเรา บ่มิเศร้าจลาจลให้วนเวียน

4 ถ้าเห็นพบทักษิณนรินทร จะเร่าร้อนซึ่งศึกกับศึกเสี้ยน
มันรอบรายหมายมาดรุกฆาตเจียน ให้แนบเนียนนาครอย่าร้อนใจ

0 จงหลบอยู่ดูท่าอย่าคิดสู้ มันตราตรูล้อมเราเอาไฉน
อันศึกเรือเสือน้ำอย่าย่ามใจ หนีไปไกลก่อนสู้ดูเชิงเอย

7 ถ้าดาวขึ้นหรดีจะชี้ชัด ศึกชงัดแรงร้ายอ้ายหนูเหวย
มันมาเงียบเชียบชาอย่าช้าเลย เตรียมเข้าเฮ้ยเข้าของกองเสบียง

5 ขึ้นประจิมริมทิศสถิตสถาน หมู่พราหมณ์ท่านผ่านมาแน่เป็นแท้เที่ยง
ราชครูสู่นิเวศน์เขตวังเวียง จงเผดียงไว้ผดุงในกรุงเรา

8 ถ้าเห็นเย็นตาอยู่พายัพ นักบวชนับต่างภาษาจะมาเฝ้า
พวกบัณฑิตจะคิดมาสู่เรา ให้โอบเอาอ่อนโยนโอนไมตรี

6 อุดรประเทศเขตร้ายมีไข้หนัก เกิดหาญหักชีพวายตายเป็นผี
ข้าราชการผ่านเกล้าพระเมาลี จะเกิดมีล้มตายไม่เป็นการ ฯ.


บทปกรณ์ว่าด้วยการโคจรแห่งดาวหาง

ถ้าพระเกตุจับในวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ถ้าสีขาว สีเหลืองก็ดี ประเทศตะวันตก ตะวันออก จะเข้ามาสู่โพธิสมภาร ถ้าจับสีแดง สีเขียวร้ายนัก จะเสียเมืองในประเทศตะวันตกและทักษิณ ถ้าสีขาว สีเหลือง ข้าวปลาจะบริบูรณ์ ผลาหารมัจฉมังษาหารจะบริบูรณ์ยิ่งนัก ฯ

อธิบาย - ในปกรณ์นี้ ให้พิจารณาถึงแสงประกายของดาวหางที่เกิดขึ้น เมื่อโคจรเข้าวงในแล้วยังเกิดแสงของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประกายประกายสีของดาวหาง

บทปกรณ์ว่าด้วยดาวกับดาวหาง

ถ้าดาวหางเข้าในวงพระจันทร์ จะแพ้เจ้าเมืองในปีนั้น
ถ้าดาวการพฤกษ์ (ดาวศุกร์) รูปไม่เป็นดาว จะแพ้สมณพราหมณาจารย์ ฯ
ถ้าดาวพระเสาร์ไม่มีดวง จะแพ้ขุนนางท้าวพระยาในปีนั้น ฯ
ถ้าพระเกตุตกในดวงอาทิตย์แต่เช้าถึงเที่ยง จะเกิดศึกที่เมืองอื่น ฯ
ถ้าพระเกตุตกในดวงพระจันทร์แต่เที่ยงไปถึงค่ำ จะเกิดศึกในเมืองนั้นแล ฯ
ถ้าพระเกตุตกในพระจันทร์แต่ค่ำไปถึงสองยาม น้ำฝนจะดี ฯ
ถ้าพระเกตุตกตั้งแต่สองยามไปถึงรุ่ง ฝนนั้นจะน้อยจะแล้ง แล ฯ

อธิบาย - ครูโหรท่านให้พิจารณาเรื่องมุมทรรศนสัมพันธ์ระหว่างเชิงมุมการปรากฏของดาว หางกับทิศทางวงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และวงโคจรของดาวอื่นๆด้วย ส่วนสีแห่งดาวนั้นให้พิจารณาตามนิมิตและทิศแห่งทักษา



 

บทปกรณ์ว่าด้วยดาวหางกับเดือนเกิด

ถ้าพระเกตุตกอากาศ เป็นหมอกในเดือน 5 , 6 , 7 จะเกิดความไข้ ชนจะตายเป็นอันมาก ถ้าตกเป็นสีแดงในเดือน 8 , 9 , 10 จะเกิดไข้พิษ ถ้าเกิดในเดือน 11 , 12 , 1 จะเกิดโจรฉกชิงวิ่งราวเป็นอันมาก ถ้าตกในเดือน 2 , 3 , 4 สมณพราหมณาจารย์จะวิบัติ ฯ

อธิบาย - ว่าด้วยฤดูกาลและพิจารณาประกอบกับดาว 3 , 6 , 9 และเนปจูน

บทปกรณ์ว่าด้วยทิศแห่งดาวหาง

ผิวเห็นข้างทิศบูรพา จะมีพระยาสามองค์รบกันในปีนั้น
ถ้าเห็นทิศอาคเนย์ ชนในประเทศบ้านนอกจะได้ความยากสามเดือน
ผิวเห็นทิศทักษิณ จะเกิดพยาธิเบียดเบียน และเกิดทุกข์ต่างๆ แก่อำมาตย์ราชบัณฑิต สมณพราหมณาจารย์และพวกชาวบ้านชนบทใน 8 เดือน
ถ้าเห็นทิศหรดี จะเกิดข้าวเหลือเกลือถูกใน 3 เดือน
ถ้าเห็นหนประจิม จะมีอำมาตย์ 4 คน ประเสริฐกว่ากว่าคนทั้งหลาย ชายหญิง ท้าวพระยา จะลำบาก ช้าวจะแพง จะเกิดพยาธิทุกข์ทั้งปีแล ฯ
ถ้าเห็นทิศพายัพ จะเกิดความไข้ทั่วทั้งแผ่นดินใน 3 เดือนแล ฯ
ถ้าเห็นในทิศอุดร จะมีพระยากับลูกชายชวนกันยกทำไปตีเมืองอื่นใน 8 เดือนแล ฯ
ถ้าเห็นทิศอิสาน ท้าวพระยาและราษฏรจะเป็นสุข จะกว้างขวางน้ำใจในปีนั้นแล ฯ

อธิบาย - สำหรับปกรณ์นี้ เข้าใจว่า น่าจะพิจารณาถึงทิศแห่งดาวหาง มากกว่าทิศที่ดาวหางเกิดขึ้น (- ผู้เขียน)



 

 

ดาวหางในกรุงรัตนโกสินทร์


อันคัมภีร์ดาวหางของไทย ตามที่ได้เรียบเรียงมาข้างต้น จะมีข้อสังเกตและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ หาได้รับเอาโดยการถ่ายทอดมาตรงๆทีเดียวไม่ เมื่อศึกษาในปูมโหรเก่าๆแล้ว จะเห็นว่า บทปกรณ์ต่างๆที่กล่าวถึงเรื่องดาวหางของไทยนั้น มีความแตกต่างไปจากตำราเรื่องดาวหางของอินเดียอยู่หลายประการคือ

1. ดาวหางนั้นตามคัมภีร์โบราณกล่าวไว้ว่า ดาวหางจะขึ้นอยู่นานได้เพียง 45 วัน อันเป็นระยะเวลาเท่ากับตามกำลังการโคจรของพระอังคารที่โคจรใน 1 ราศี เป็นระยะเวลาประมาณ 45 วันเท่านั้น เพราะดาวอังคาร เป็นดาวนักรบเป็นดาวนองเลือด

2.เรื่องระยะเวลาของผลอันเกิดจากปรากฏการณ์ของดาวหางนั้น จะแตกต่างไปจากที่ปรากฏในคัมภีร์พฤหัตของอินเดีย กล่าวคือ จะบังเกิดผลขึ้นภายในระยะเวลาตั้งแต่ 1 วันเรื่อยไปจนถึงไม่เกิน 8 ปีของวันที่เห็นดาวหางนั้น

ความสำคัญในเรื่องระยะเวลาของผลอันเกิดจากปรากฏการณ์ของดาวหางนี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งที่จะนำมาใช้พยากรณ์อันแสดงให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ สามารถนำมาพยากรณ์ได้เช่นเดียวกับดวงชาตา

องค์พยานที่สำคัญในเรื่องการพยากรณ์จากปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ผู้เขียนขอหยิบ ยกเอาข้อความจากหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุจากความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” ถึงกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่ได้ทรงรับสั่งเมื่อตอนเกิดฟ้าผ่าเพลิงไหม้พระที่นั่งอัมรินทรมหาปราสาท ดังนี้

“ ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา เอกศก เพลาบ่าย 1 โมง 6 บาท อสุนีบาตพาดสายตกติดหน้าบันมุขเด็จเบื้องทิศอุดร ไหม้ตลอดทรงบนปราสาท ปลายหักฟัดฟาดลงพระปรัศซ้ายเป็นสองซ้ำ ลงซุ้มพระทวารแต่เฉพาะไหม้”

ทรงมีพระโองการตรัสว่า “เราได้ยกพระไตรปิฏก เทวาให้โอกาสแก่เราต่อเสียเมืองจึงจะเสียปราสาท ด้วยชาตาเมืองคอดกิ่วใน 7 ปี 7 เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมืองจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี”


จากพระราชดำรัสดังกล่าว ปัญหาที่น่าพึงพิจารณาทางโหราศาสตร์อยู่ในบางประเด็น ซึ่งมักไม่ใคร่มีหนังสือตำราใดเขียนอธิบายเอาไว้ กล่าวคือ

1.ระยะเวลา 7 ปี 7 เดือน นั้นมาจากไหน
2.ขอให้พิจารณาคำว่า “พระเคราะห์เมือง”

จากพระราชดำรัสดังกล่าว ตำราต่างๆมักวิจารณ์ว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านได้ทรงพยากรณ์ว่า จะมีการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิเป็นระยะเวลา 150 ปี แต่ก็หาได้อธิบายถึงความหมายขงคำว่า “ชาตาเมืองคอดกิ่วใน 7 ปี 7 เดือน” ไม่ ขอให้ลองพิจารณาถึงวันที่ได้สถาปนาเมืองกรุงเทพฯ คือ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล จุลศักราช 1144 อันตรงกับสุริยคติกาลวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 นั้น เมื่อคิดถึงวันอาทิตย์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา จ.ศ.1151 นั้น ก็จะเป็นระยะเวลา 7 ปี 20 วัน เท่านั้น และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อความในตอนต้นที่ว่า “ต่อเสียเมือง จึงเสียปราสาท” และที่ว่า “เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง” นั้นเล่า สมควรจะเป็นข้อความที่มีความหมายอย่างใด พระองค์ท่านทรงนำเอา จุดเหตการณ์ใด มาเป็นหลักในการพยากรณ์ หากจะพิจารณถึงเรื่องดวงเมืองแล้ว ก็เห็นมีแต่บรรดาท่านโหราจารย์ทั้งหลายได้สรรเสริญเอาไว้มากมายนัก หาได้มีจุดที่น่าหวั่นไหวจนถึงกับขนาดที่พระองค์ท่าน จะทรงตรัสด้วยความวิตกว่า ชาตาเมืองคอดกิ่วใน 7 ปี 7 เดือนนั้นไม่ หากจะพิจารณาว่า เป็นโวหารที่ท่านผู้บันทึกได้บันทึกเอาเอง ก็ไม่น่าจะใช่เพราะพระราชดำรัสในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น เป็นเสมือนหนึ่งกฎหมาย ซึ่งจะถูกบันทึกไว้โดยความรอบคอบอย่างยิ่ง คงเหลือมีส่วนที่ควรพิจารณายู่เพียง 3 ประเด็นเท่านั้น คือ 1.เรื่องนิมิตงู 4 ตัวในเวลาฝังหลุมหลักเมือง 2.เรื่องอธิไทโพธิบาทว์ ที่ฟ้าผ่าพระราชวังถึง 3 ครั้ง จนพระราชวังต้องเสียหายอันจัดว่าเป็นอุบาทว์พระอินทร์ ตามตำราว่าด้วยอุบาทว์ และ 3.เรื่องการพยากรณ์เกี่ยวกับพระเคราะห์เมือง ซึ่งในประเด็นข้อ 1. และ 2. นั้น ก็ล้วนแต่เป็นการพยากรณ์เหตุการณ์จากปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งสิ้น

หมายเหตุ - อาจารย์คนหนึ่งของผู้เขียนว่า คำว่า 7 ปี 7 เดือน นั้น มีอยู่ในเรื่องอุบาทว์ และเรื่องเกี่ยวกับดาวทิศพายัพ (หรืออุบาทว์พระพาย) แต่ผู้เขียนจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว และหาบันทึกก็ไม่เจอ และท่านอาจารย์ท่านนั้น (ท่านเป็นพระภิกษุอยู่ที่จังหวัดราชบุรี) ก็ได้มรณภาพไปแล้ว คงพบแต่ในบันทึกปกรณ์โหราศาสตร์อื่นๆบ้างแต่ ก็ใช้คำว่า “7เดือนบ่มิว่า 7 วัน” ซึ่งก็ยังไม่ตรงกันทีเดียวนัก


ในเรื่องดาวหางของไทยนั้น หาได้แยกแยะดาวหางออกเป็นจำนวนมากเป็นพันดวง ดังเช่นของอินเดียไม่ หลักใหญ่ในปกรณ์เรื่องดาวหางของไทย มีเพียงแค่ข้อความที่สรุปคือ “ธุม 2” ธุม 2 คือ ธุมเกตุ ธุมเพลิง

สำหรับคนไทยสมัยโบราณนั้น การพิจารณาเกี่ยวกับดาวหาง ท่านให้สังเกตให้แน่นอนว่า ดาวหางนั้นขึ้นให้เห็นจนมองด้วยตาเปล่าชัดเมื่อใด และจะลับหายไปเมื่อใด ในตอนที่เห็นว่าขึ้นนั้น ขึ้นจากทิศทางใด มีความสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรใด มีรูปร่างและสี ตลอดจนลักษณะเป็นอย่างใด และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีมุมใกล้เคียงกับดาวอะไรบ้าง

ท่านให้สังเกตว่า หางของดาวหางนั้นงอหรือชี้ไปทางจังหวัดใด ประเทศใด ประเทศนั้นจังหวัดนั้นจะได้รับความทุกข์ร้อนโภยภัยต่างๆนานาชนิด เหมือนกับพระยานาคอันถูกเล็บครุฑจับไว้แน่น ย่อมจะถึงแก่ความตาย ดังในบทปกรณ์ดาวที่ว่า “ดาวพระ ๙ ปริมณฑลใหญ่ 13 โยชน์ มีรัศมีดังกองเพลิง ถ้า (หาง) ออกให้เห็นจะเกิดกลียุคแล ถ้าออกแต่ราศีใด ต้องลัคนาใด ผู้นั้นจะเกิดวิบัติ แล ฯ ”


ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาศึกษาเรื่องดาวหางจากปูมโหรต่างๆที่โหราจารย์ใน อดีตท่านได้บันทึกไว้ให้พวกเราได้ศึกษากัน จะเห็นได้ว่า คนไทยโบราณท่านศึกษาเรื่องดาวหางกันอย่างไร และแตกต่างจากตอนนี้ไปอย่างไร
บันทึกจากปูมโหร



ดาวหาง ในสมัยรัชกาลที่ 2

สมัยรัชกาลที่ 2 ระหว่าง วันพฤหัสบดี 5 แรม 13 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง จ.ศ. 1171 (พ.ศ.2352) ถึงวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1186 (พ.ศ.2367) ทรงครองราชย์อยู่ 16 พรรษา (ประมาณปี พ.ศ.2352 -2367) มีบันทึกเรื่องดาวหางที่สำตัญดังนี้

ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีบันทึกว่า เมื่อปี จ.ศ. 1173 ณ เดือน 7 ข้างขึ้น เวลายามเศษ ทางทิศพายัพ แลเห็นเหมือนแสงเพลิงติดในอากาศ เรียกว่า ธุมเพลิง แต่นั้นก็เกิดไข้ป่วงใหญ่มาแต่ทางทะเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมากก่อน แล้วข้ามมาหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ติดต่อขึ้นมาจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองล้มตายลงเป็นอันมาก ฯ

- วัน 1 แรม 10 ค่ำ เดือน 7 เวลาย่ำค่ำ เห็นดาวหางขึ้นทางทิศพายัพ หางไปทิศอิสาน พอถึง ณ วัน 1 แรม 7 ค่ำ เดือน 2 ดาวหางก็สูญหายไป ฯ


ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 3

สมัยรัชกาลที่3 ระหว่าง วันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1186 ถึงวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จ.ศ. 1212 ทรงครองราชย์อยู่ 27 พรรษา (ประมาณปี พ.ศ.2367 - 2393) มีบันทึกเรื่องดาวหางที่สำคัญดังนี้

จ.ศ. 1187 (พ.ศ.2368) - ณ วัน 6 แรม 1 ค่ำ เดือน 12 เพลา 3 ทุ่ม มีดาวหาง ฯ

จ.ศ. 1189 (พ.ศ.2370) - ณ วัน 4 แรม 9 ค่ำ เดือน 11 เพลา 2 ทุ่ม ปรากฏการณ์อากาศมีสีดังฟ้าแลบ โตเท่าลำตาลยาวประมาณ 2 เส้น และตกลงมาข้างทิศหรดีแล้วพุ่งไปต่อทิศอาคเนย์ปรากฏอยู่จนรุ่ง ฯ

-เดือน 3 เจ้าอนุฯ คิดกบฏ ฯ

-จ.ศ.1189 วันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 เพลาบ่าย ธุมเกตุ ออกทิศบูรพา เพลาค่ำ ดาวอินทนูขึ้น ฯ

-ณ วันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 เสด็จกรมหมื่นนเรศโยธี สวรรคต

-ณ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 เพลาเย็น บังเกิดคลองฟ้าที่กลางอากาศเป็น 2 เส้น เป็นลำโตใหญ่ ตั้งแต่ทิศประจิมไปจดทิศบูรพา ฯ

จ.ศ. 1192 (พ.ศ.2373) - ณ วัน 5 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 เวลายามเศษ ทิศพายัพเป็นแสงไฟจับอากาศ โหรดูเคราะห์เมืองว่าร้าย จะมีศึกมาแต่ทิศทักษิณ ให้ตั้งพิธียิงปืนอาฏานา ฯ

- ณ วัน 4 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 7 คนตายด้วยโรคลงรากเป็นอันมาก ฯ


ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 4
สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงครองราชย์เมื่อวันพุธ 4 เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จ.ศ.1212 ถึงวันพฤหัสบดี 5 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง จ.ศ. 1230 (ประมาณปี พ.ศ. 2393 - 2411) มีบันทึกเรื่องดาวหางที่สำคัญ ดังนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ในวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สวรรคต ไว้ดังนี้
“ทุ่มเศษวันนั้น ท้องฟ้าเป็นควัน หมอกคลุ้มโตใหญ่ ใช่หน้าน้ำค้าง หมอกลงเหลือใจ บุราณว่าไว้ ธุมเกตุเกิดมี แลดูท้องฟ้า ต่ำเตี้ยเต็มที ดวงพระจันทร์สี แดงคล้ำหมองไป ครั้งถึงเวลา พระสงฆ์ปวารณา เสด็จสวรรคาลัย...”

-------------------------------------
(หมายเหตุ : ในชีวิตเคยพบเห็นหมอกธุมเกตุครั้งหนึ่ง ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 นาฬิกาเศษ เป็นลักษณะคล้ายกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงบันทึกไว้ - สายน้ำ)


ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างวันพฤหัสบดี 5 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง จ.ศ. 1230 (ประมาณปี พ.ศ.2411) ถึง วันเสาร์ 7 แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จ.ศ. 1272 (พ.ศ.2453) ทรงครองราชย์อยู่ 42 พรรษา (ประมาณปี พ.ศ. 2411 - 2453) มีบันทึกเรื่องดาวหางที่สำคัญ (มีดาวหางฮัลเลย์ปรากฏ มองเห็นได้ในไทย) ดังนี้

ม.จ.หญิง พูนพศมัย ดิศกุล ได้ทรงนิพนธ์เล่าไว้ว่า -

“ข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนิน พวกราษฏรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำนำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยเคยรู้รส อากาศมืดคลุ้ม มีหมอกขาวลงจัด เกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่า นี่แหล่ะคือ หมอกธุมเกตุ ที่ในตำราเขากล่าวถึงว่า มักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆเกิดขึ้น ...”

ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช - ก็ได้บันทึกว่า มีดาวหางปรากฏเห็นได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี




ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 7

ปรากฏว่าก่อนมีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็มีดาวหางปรากฏทำให้คนโจษจันกันมาก จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ต้องทรงจ้างนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน อธิบายให้คนทั้งหลายทราบว่า การขึ้นของดาวหางเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหาใช่ลางร้ายแก่บ้านเมืองประการใด ไม่ ฯ

ดาวหางในสมัยรัชกาลที่ 8

ในปีพ.ศ. 2489 ก่อนที่จะมีเหตุการณ์สวรรคตนั้น ปรากฏว่า มีดาวหางขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เวลา 3 น.เศษ ผู้คนลุกขึ้นดูดาวหาง และลือกัน ดาวหางนี้ปรากฏอยู่ 3 คืน จึงหายไป ฯ

บทสรุป และข้อสังเกตเรื่องดาวหางจากปูมโหร

จากปูมโหรที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เรื่องดาวหางที่ได้บันทึกไว้ นอกจากที่เห็นเป็นลักษณาการของดาวหางแล้ว ยังรวมถึงเรื่องคลองฟ้า และ ธุมเกตุ และธุมเพลิง เอาไว้ด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายถึงเรื่องดาวหางทั้งสิ้น สำหรับ “คลองฟ้า” นั้นมีตำราอีกปกรณ์หนึ่ง เรียกว่า “ตำราคลองฟ้า” กล่าวคือ

 



 

 

บทปกรณ์ว่าด้วยตำราคลองฟ้า

ถ้าแลเห็นคลองฟ้า ผ่านแต่ทิศประจิมไปบูรพา - ท่านให้เกรงไฟจะไหม้ จะมีวิกลมาก ย่อมทุกข์ หาลาภมิได้ ให้เกรงอย่าไปอื่น จะมีกังวลมาก ได้ข้าวของย่อมมิดีแล ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านแต่บูรพาไปประจิม - ท่านว่าจะได้หญิงสาวผู้ดี แลมีลาภเป็นอันดี มากนักแล ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านมาแต่อุดรไปทักษิณ - ให้เกรงจะมีข้าศึก จะมีลาภหนอุดร ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านมาแต่ทักษิณไปอุดร - ท่านว่าภายใน 5 เดือน จะมีลาภแก่เรา เพราะข้าศึก ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านแต่อาคเนย์ไปพายัพ - ท่านว่าจะได้ข้าวของ พี่น้องจะมาสู่ตน จะมีชนะแก่ศัตรูทั้งหลาย ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านมาแต่ทักษิณไปอาคเนย์ - ให้เกรงไฟจะไหม้ ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านแต่อิสานไปหรดี - ท่านว่า จะมีลาภเพราะผู้อื่นแล ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านมาแต่หรดีไปอิสาน - ให้เกรงข้าศึกจะมีอำนาจกว่าเรา อย่าสนเทห์เลย ฯ

อนึ่งโสด ถ้าเห็นคลองฟ้า ผ่านแต่อาคเนย์ไปพายัพ - ท่านว่าจะได้ข้าวของ พี่น้องจะมาสู่ตน จะมีชนะแก่ศัตรูทั้งหลาย ฯ

อธิบาย - สำหรับปกรณ์นี้ อันว่าด้วยเรื่องดาวหาง (คลองฟ้า) นั้นในตำราท่านได้อธิบายอุปเทห์ในการพิจารณาใช้อยู่ 2 ประการ กล่าวคือ ในประการแรก ในส่วนของบุคคล ท่านให้ใช้พิจารณาเป็นยามยาตรา ประกอบกับ ตำรา เมฆหมอก และตำราเมฆฉาย ในประการที่สอง ในเรื่องของบ้านเมืองนั้น ท่านให้พิจารณาประกอบกับตำราดาวคู่ (ดาวติดพระจันทร์) และตำราดาวออก (ดาวออกกลางวัน) และตำราเดือน และดาวหางโดยท่านหลวงพุทธราชศักดา ท่านได้เขียนว่า บ้านเมืองเป็นดังนี้ ก็ให้ทายดุจเดียวกันแล ฯ



สำหรับเรื่องลักษณาการแห่งดาวหาง นอกจากจะมีลักษณะเป็นธุมเกตุ ธุมเพลิง คลองฟ้า และลำภูกัน แล้ว โหรไทยโบราณ ท่านยังพิจารณาให้ความสำคัญแก่ดาวหางอีก 3 ประการกล่าวคือ

1. ดาวแสงศึก มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกันกับธุมเพลิง คล้ายกับว่า มีดวงจันทร์ปรากฏให้เห็นหลายดวง ซึ่งจะให้ผลร้ายภัยพิบัติและภัยสงคราม เป็นเวลานาน ถึง 3 ปี ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปี จ.ศ.1172 และปี จ.ศ.1192

2. ดาวธนูศึก หรืออินทนู จะมีสีเขียว หรือสีแดง จะทำให้ชนต่อชนทั้งปวงวิวาทต่อกันและเกิดโรคระบาด ภัยจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี จ.ศ. 1189
3. ดาวหางสีแดง จะเกิดภัยสงครามและราษฏรจะได้ทุกข์ยาก ภัยจะเกิดขึ้นในเวลาปีกึ่ง

รวมลักษณะของดาวหางที่พิจารณามีอยู่ 7 ประการด้วนกัน ส่วนพวกอุกาบาตร ดาวตก ผีพุ่งใต้ และอื่นๆนั้น ก็มีพิจารณาในตำราอื่นๆแล้ว ซึ่งผู้เขียนจะขอหยิบยกขึ้นมาให้ฟัง ดังเช่น ตำราดูแผ่นดินไหว ตำราอาเพศ (เชิญพระเคราะห์) ตำรารุ้งกินน้ำ ตำราดาวตก ตำราเมฆหมอก ตำราเมฆฉาย ตำราฟ้าร้อง ตำราอสุนียบาต อธิไทโพธิบาทว์ ตำราดูดวงอาทิตย์ ตำราดูดาวเคียงจันทร์ และตำราว่าด้วยสรรพคราส (คราธ) และสูรย์จันทร์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน

ผู้เขียนขอยืนยันว่า โหรไทยแต่โบราณท่านมีความละเอียดลออและแต่งปกรณ์โหรไว้เป็นจำนวนมาก เอาไว้อย่างเหมาะสมสำหรับการพิจารณากฏเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ในแต่ละเรื่องราว ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง ยังได้หาวิธีทดสอบเกณฑ์นั้นออกเป็นหลายประการอีกด้วย เปรียบเสมือนกับวิธีรับประทานอาหารของฝรั่ง ซึ่งจะมีการจัดมีดช้อนส้อมและแก้วน้ำจำนวนมากเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ เมื่อจะรับประทานอาหารประเภทใด ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมืออย่างใด เครื่องดื่มอย่างใด ก็จะต้องใช้ให้อย่างเหมาะสม มิฉะนั้น ก็จะถูกผู้คนตำหนิติเตียนเอาได้


ซึ่งแตกต่างจากหลักการที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมักจะลากเอาบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เข้าไปหาผลของเรื่องคราส แล้วกลับมาอ้างว่าเป็นผลกระทบที่เกิดจากดาวหาง คล้ายๆกับไปอ้างว่า กระบือก็คือโค ฉันใดฉันนั้น นั่นแหล่ะ ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นอันตรายเสียยิ่งไปกว่า การยอมรับว่าตนไม่รู้ไม่เคยศึกษาเสียอีก เพราะผู้ที่ไม่รู้ก็ย่อมบันทึกปูมโหรมาหาสถิติได้ ดังเช่นที่ จาคอบุส แองจีลุส ได้จุดประกายการศึกษาเรื่องดาวหางให้แก่ยุโรปเป็นวิทยาการขึ้นมาในคริสต์ ศตวรรษที่ 15 (แต่ก่อนนั้น มีแต่เป็นบันทึกคล้ายปูมโหร ถึงลักษณะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลังจากมีดาวหางโดยไม่ได้อธิบายผลของการเกิด ดาวหางแต่อย่างใด) ผลงานอันเกิดจากการศึกษาเรื่องดาวหางที่ได้เริ่มมีตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 15 นั้น ได้แก่ คำพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่อันลือลั่นของโหรยุโรปที่ได้จากการศึกษาดาวหางในปี ค.ศ.1577 โดยท่านโหราจารย์ ไทโช บราเฮ ได้ให้คำพยากรณ์ว่า “จะมีเจ้าชายเกิดในตอนเหนือของฟินแลนด์ จะทำความยับเยินแก่ประเทศเยอรมันนี และจะหายไปในปี 1632” ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ดาวหางที่มีความแม่นยำอย่างน่าพิศวง ที่สามารถบ่งบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้เป็นเวลา 55 ปี โดยเจ้าชาย กูสตาวัส อดอลฟัส ผู้เกิดในฟินแลนด์ ได้บุกรุกประเทศเยอรมันนีและทำสงคราม 30 ปี และก็เสด็จสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.1632 ตรงตามคำพยากรณ์พอดี

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้อ่านบันทึกและข้อเขียนของโหรอาวุโสหลายท่าน ดังเช่นท่าน ม.จ.เฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต , ท่าน ร.ต.อ. เปี่ยม บุณยโชติ , ท่านอาจารย์เชย บัวก้านทอง , ท่านอาจารย์สำราญ สมุทวนิช , ท่านอาจารย์อั้น แก้วสนธิ , ท่านอาจารย์จำรัส ศิริ , ท่านอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (จันทรพิมพ์) ฯลฯ ซึ่งท่านทั้งหลายที่กล่าวนามมานี้ ก็ล้วนแล้วแต่มีความรอบรู้อย่างแตกฉาน และมีความเข้าใจในเรื่องตำราดาวหางของไทยเป็นอย่างดี เป็นที่น่าเสียดายว่า บรรดาข้อมูลแห่งความรู้ต่างๆที่ท่านได้ค้นคว้ามานั้นมิได้รับการจัดพิมพ์เผย แพร่ จึงทำให้ความเข้าใจของคนรุ่นหลังไม่ต่อเนื่องและขาดความเข้าใจวิธีการศึกษา เรื่องดาวหางตามแนวทางโหราศาสตร์ของไทยไป


ในตอนต้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงการพิจารณาดาวหางตามแนวทางของคัมภีร์พฤหัตของอินเดีย ว่า โหราจารย์ชาวอินเดียท่านได้จัดนักษัตรดาวฤกษ์ครองประจำเมืองต่างๆโดยเทียบ กับแว่นแคว้นต่างๆในประเทศอินเดียในสมัยนั้น โดยได้ยึดเอากรุงอุชเชนีเป็นหลัก และเมื่อมีดาวหางปรากฏขึ้นสัมพันธ์กับดาวนักษัตรใด ท่านก็ให้คำพยากรณ์ออกมาดังเช่น ท่านได้กำหนดไว้ดังนี้คือ

1. หมู่ดาวนักษัตร อัศวินี เทียบกับแคว้น อัศมะกะ
2. หมู่ดาวนักษัตร ภรณี เทียบกับแคว้น กิราตะ
3. หมู่ดาวนักษัตร กฤตติกา เทียบกับแคว้น กาลิงค์
4. หมู่ดาวนักษัตร โรหิณี เทียบกับแคว้น ศุระเสน
ฯลฯ

ก็ได้มีโศลกพยากรณ์ว่า

“อัศวินิยามัศมะกะมะ ภรณีษุ กิราตะปารระถิวัมมะ หันบาตุ
พหุลาสุ กลิงคะเศศัง โรหิณะยามะ ศูรเสนะปะติมัง”

อันหมายความว่า
เมื่อดาวหางสัมผัสกับหมู่ดาวอัศวินี ผู้นำของแคว้นชาวอัศวมะกะ จะต้องตาย
เมื่อดาวหางสัมผัสกับหมู่ดาวภรณี ผู้นำของแคว้นชาวกิราตะ จะต้องตาย
เมื่อดาวหางสัมผัสกับหมู่ดาวกฤตติกา ผู้นำของแคว้นชาวกาลิงค์ จะต้องตาย
เมื่อดาวหางสัมผัสกับหมู่ดาวโรหิณี ผู้นำของแคว้นชาวศุระเสน จะต้องตาย
ดังนี้เป็นต้น
ฯลฯ

สำหรับโหราศาสตร์ไทย ก็มีหลักการเช่นเดียวกัน โดยได้มีตำรากำหนดนักษัตรดาวฤกษ์ครองประจำเมืองเอาไว้เช่นกัน

 



 

 

ปกรณ์โหรตำราว่าด้วยดูดาวประจำเมือง

ฤกษ์ที่ 1 อัศวินี เป็นดาวประจำเมือง นครหลวงกัมพูชา
ฤกษ์ที่ 2 ภรณี เป็นดาวประจำเมือง นครพุกาม
ฤกษ์ที่ 3 กฤติกา เป็นดาวประจำเมือง ลำพูนไชย
ฤกษ์ที่ 4 โรหิณี เป็นดาวประจำเมือง อยุธยา
ฤกษ์ที่ 5 มฤคสิรษะ เป็นดาวประจำเมือง หงสาวดี
ฤกษ์ที่ 6 อารทรา เป็นดาวประจำเมือง ทะวายบุรี
ฤกษ์ที่ 7 ปุนัพพสุ เป็นดาวประจำเมือง ถะเกิง (คือเมืองพะโค)
ฤกษ์ที่ 8 ปุษยะ เป็นดาวประจำเมือง นครเพชรบุรี
ฤกษ์ที่ 9 อาศะเลษะ เป็นดาวประจำเมือง ไชยสิริ
ฤกษ์ที่ 10 มะฆะ เป็นดาวประจำเมือง อังวะ
ฤกษ์ที่ 11 ปุระวะผลคุนี เป็นดาวประจำเมือง พาราณสี
ฤกษ์ที่ 12 อุตตระผลคุนี เป็นดาวประจำเมือง มิถิลา
ฤกษ์ที่ 13 หัสตะ เป็นดาวประจำเมือง จำปานคร
ฤกษ์ที่ 14 จิตรา เป็นดาวประจำเมือง ธัญญวดี , อรัญวดี
ฤกษ์ที่ 15 สวาตี เป็นดาวประจำเมือง ไพสาลี หรือ เชตถอุดร
ฤกษ์ที่ 16 วิสาขา เป็นดาวประจำเมือง ปาวาย หรือ ตักกศิลา
ฤกษ์ที่ 17 อนุราธา เป็นดาวประจำเมือง กัมพูชา
ฤกษ์ที่ 18 เชษฐะ เป็นดาวประจำเมือง กลิงคราช
ฤกษ์ที่ 19 มูละ เป็นดาวประจำเมือง ลานนาไทย (ล้านช้าง)
ฤกษ์ที่ 20 ปุรพาษาฒ เป็นดาวประจำเมือง เมืองใต้ , ปัญจาลนคร
ฤกษ์ที่ 21 อุตตราษาฒ เป็นดาวประจำเมือง รามวดี , รามัญนคร
ฤกษ์ที่ 22 ศะระวะณะ เป็นดาวประจำเมือง ไทยใหญ่
ฤกษ์ที่ 23 ธนิษฐะ เป็นดาวประจำเมือง โกสัมพี
ฤกษ์ที่ 24 ศะตะภิษะ เป็นดาวประจำเมือง นครราชสีมา
ฤกษ์ที่ 25 ปุพภัทรบท เป็นดาวประจำเมือง นครอินทปัต
ฤกษ์ที่ 26 อุตตรภัทรบท เป็นดาวประจำเมือง กบิลพัสดุ์
ฤกษ์ที่ 27 เรวดี เป็นดาวประจำเมือง อนุราธนคร

สำหรับเกณฑ์ดาวประจำเมือง ตามตำราที่ได้คัดลอกมานี้ มีบางส่วนที่แตกต่างไปจากที่ปรากฏในตำราอื่นอยู่บ้าง

แต่สิ่งสำคัญที่ปรากฏ ก็คือเข้าใจว่า ตำรานี้จะได้เขียนขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของไทย โดยได้กำหนดเอาหมู่ดาวนักษัตรฤกษ์ โรหิณี เป็นดาวประจำเมืองของอยุธยา และกำหนดดาวฤกษ์อื่น สำหรับเมืองบริวารและประเทศข้างเคียง และแสดงว่า โหราศาสตร์ไทยมีส่วนสัมพันธ์กับโหราศาสตร์อินเดีย โดยยังคงชื่อเมืองของอินเดียเอาไว้ในหมู่ดาวนักษัตรที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้กับ เมืองหรือประเทศที่ข้างเคียงของไทย โดยเมืองของอินเดียที่มีชื่อนั้นก็ล้วนแต่เป็นเมืองที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ทั้งสิ้น


ผลของการกำหนดดาวประจำเมืองนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหมู่ดาวนักษัตรโรหิณี โหรโบราณของไทยจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เวลาที่ดาวหางหรือหรือดาวอื่นเข้าสัมพันธ์กับหมู่ดาวโรหิณี จนถึงกับได้จารึกไว้ในปูมโหรและปกรณ์ตำราโหราศาสตร์อีกหลายฉบับ จนกระทั่งถึงกับมีภาพเขียนจำลอง แสดงมุม ภาพดาวเมื่อครั้งกรุงเก่าเสีย บันทึกเอาไว้ในปกรณ์โหรรวมทั้งเมื่อครั้งเสียเมืองล้านช้าง เมืองเชียงใหม่ เมืองนครราชสีมา เมืองพิษณุโลก เมืองนครสวรรค์ เอาไว้เลยทีเดียว

สำหรับเมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน คือ กรุงเทพมหานครนั้น ในตำราดาวประจำเมืองนั้นมิได้กำหนดเอาไว้ และยังค้นคว้าตำราเก่าๆก็ไม่ได้ความกระจ่างชัด ดูเหมือนว่าท่านอาจารย์ ร.ต.อ. เปี่ยม บุณยโชติ และของท่าน ร.อ. ทองคำ ยิ้มคำภูจะกล่าวถึงอยู่บ้าง แต่หาไม่พบ จึงได้ค้นคว้าเอาจากตำรายดาว 10 ประการ ตำราเทวดาอัฏฐเคราะห์ต้องฤกษ์ ตำราว่าด้วยนักษัตรฤกษ์ในวิถีทั้งสาม คัมภีร์จุฬามณี และคัมภีร์โสฬสมหานคร แล้ว พอมีข้อสังเกตอยู่บางประการ จึงใคร่ขอเสนอแนะว่า

มีหมู่ดาวนักษัตรฤกษ์ที่ควรให้ความสนใจอยู่ 3 กลุ่ม คือ
ฤกษ์ที่ ๒ ภรณี
ฤกษ์ที่ ๙ อาศะเลษะ
ฤกษ์ที่ ๒๐ ปุรพาษาฒ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่ดาวนักษัตรฤกษ์ที่ ๒ ภรณีนักษัตรฤกษ์ และหมู่ดาวนักษัตรฤกษ์ที่ ๙ อาศะเลษะนักษัตรฤกษ์ อันถือว่าเป็นฤกษ์เทพ และมีส่วนสัมพันธ์กับดวงชาตาเมืองที่ได้วางลัคนาเมืองกรุงเทพ อยู่ที่ราศีเมษ และวางดาวจันทร์ ๒ อยู่ที่ราศีกรกฏแต่ทั้งนี้ ผู้เขียนยังมีความรู้น้อยอยู่จึงไม่อยากวินิจฉัยชี้ขาดไป คงรอผลการพิสูจน์จากบันทึกปูมโหรดีกว่า อีกทั้งท่านโหราจารย์ผู้อื่นก็อาจให้คำแนะนำและชี้ขาดได้ดีกว่าข้าพเจ้าอยู่ แล้ว




 

 

เรื่องดาวหางกับโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน

ในบางช่วงของรัชสมัย อย่างเช่นในรัชกาลที่ ๓ ฯ นั้น ในบางปีก็จะมีปรากฏการณ์เรื่องดาวหางมาก แต่ในบางช่วงรัชสมัยก็จะมีน้อย ท่านอาจารย์เชย บัวก้านทอง ได้ทำการแปลหนังสือ Book of Astrology และได้บันทึกเอาไว้ว่า
ดาวหางจะปรากฏให้เห็นในทุกๆปี หรือ ใน ๓/๔ ของปี แต่จะปรากฏเห็นในทวีปต่างๆของ ๔ ทิศ และจะเห็นอยู่ประมาณไม่เกิน ๑ สัปดาห์ แล้วก็หายไป ถ้าดาวหางปรากฏให้เห็นได้(ด้วยตาเปล่า) ในประเทศใดเมืองใด ประเทศนั้น เมืองนั้น จะเกิดเหตุการณ์วิปริต คือ

1.กษัตริย์ จะเป็นอันตราย
2.ยอดขุนศึก แม่ทัพใหญ่จะตาย
3. บ้านเมืองจะอลหม่าน

แต่ทั้งนี้ ท่านอาจารย์เชย บัวก้านทอง ได้สรุปเอาไว้มีข้อความที่เป็นสาระสำคัญยิ่งไว้ด้วยว่า แต่ทั้งนี้จะต้องรู้ ประเภทและลักษณะของดาวหางด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศกันทุกปี และบ้านเมืองตงจะล่มจมไปนานแล้ว เพราะมีดาวหางมาเยือนโลกอยู่แทบทุกปี

ซึ่งความเห็นดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่าถูกต้อง และมีเหตุผลเป็นอย่างมาก เพราะในบางครั้ง ถึงแม้ว่า จะมีดาวหางปรากฏให้เห็นได้ในเมืองไทย แต่ก็ไม่ใคร่มีเหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้น หรือมิฉะนั้นแล้ว ในบางทีก็กลับเป็นเหตุการณ์ที่ไปเกิดขึ้นที่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงสมควรที่พวกเราจะได้ทำความรู้จักและเข้าใจเรื่องดาวหางในวิชาโหราศาสตร์ ให้ถูกต้อง


อย่างเช่นในเมืองไทย ในช่วงปี พ.ศ.2538 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ประเทศไทย ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ของอิทธิพลสุริยุปราคา (สุริยคราส) ที่เกิดขึ้นเล็งดวงเมือง พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนมีนาคม พ.ศ.2539 ก็เกิดปรากฏการณ์ดาวหาง ไฮตากุตาเกะ ซึ่งพอมองเห็นด้วยตาเปล่าในเมืองไทย ได้มีลักษณะคล้ายสีเขียวอมฟ้า โดยปรากฏขึ้นอยู่ในแนวมุมสัมพันธ์กับหมู่ดาวรูปหญิงสาว และหมู่ดาวหมีใหญ่ และดวงจันทร์ได้โคจรอยู่ในช่วงนักษัตรฤกษ์ที่ 23 ธนิษฐะนักษัตรฤกษ์ ถึงนักษัตรฤกษ์ที่ 6 อารทรานักษัตรฤกษ์ จะเห็นได้ว่า ในช่วงระหว่าง เดือนเมษายน พ.ศ. 2539 จนถึงเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2539 นั้น มิได้มีเหตุการณ์ที่เกิดจากผลกระทบของดาวหางไฮตากุตาเกะ เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย คงมีแต่เหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสุริยคราสอันมีกำหนด 1 ปีครึ่ง เท่านั้น

แต่บรรดาประเทศอันเป็นหมู่เกาะและคาบสมุทรนั้นค่อนข้างจะได้รับผลกระทบอยู่ พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นที่ ประเทศอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อิตาลี รวมทั้ง กิจการเกี่ยวกับวงการการทูตระหว่างประเทศค่อนข้างได้รับความสั่นสะเทือนไป ทั่ว ทุกประเทศส่วนใหญ่ต้องเริ่มเข้าสู่การหารือเจรจากันใหม่

ในทางตรงกันข้าม ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีปรากฏการณ์ดาวหางไฮตากุตาเกะในเมืองไทยอันทำ มุมอยู่ในอริภพแก่ลัคนาดวงเมืองไปแล้วเพียง 4 เดือน (นับจากวันที่ 1 เมษายนพ.ศ.2539 เป็นต้นไป ก็จะครบกำหนด 4 เดือนในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2539) ซึ่งตำรากล่าวว่า “จะได้ลาภมาสู่ จะมีแขกต่างเมืองมา จะมีผู้ดีมา จะชำนะแล ฯ ” และมีอีกปกรณ์หนึ่งกล่าวว่า “ ท้าวพระยาจะประกอบด้วยไชยลาภยิ่งนักแล ฯ ” ก็ปรากฏว่าประวัติศาสตร์ของไทยก็ต้องบันทึกเอาไว้ว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2539 นักมวยไทย ชื่อสมรักษ์ คำสิงห์ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างสูงสุด ด้วยการชนะเลิศกัฬามวยสากลรุ่นเฟเธอร์เวท ได้เหรียญทองโอลิมปิค มาตรอบครองได้ หลังจากที่ได้รอคอยกันมาเป็นเวลานานถึง 40 ปี


การที่ประเทศไทย ได้รับชื่อเสียงเช่นนี้ นักโหราศาสตร์ส่วนใหญ่ได้วิจารณ์ว่าเป็นผลดีจากการที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในภพ ที่ 9 ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น ดาว 5 กำลังโคจรพักร์ในราศีธนูที่ประมาณ 15 องศา (ในนวางค์ 1 ตามปฏิทิน อจ.ทองเจือ อ่างแก้ว และสากล) ผู้เขียนเองก็ได้แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ในปูมโหรในเรื่องปกรณ์โหรว่าด้วยดาวหาง กับผลอันเกิดจากดาวหางในอริภพของลัคนาดวงเมือง เอาไว้เพื่อให้พิจารณาเป็นสถิติต่อไป

สำหรับในปี พ.ศ.2540 (ขณะที่เรียบเรียงพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้) ประเทศไทยก็ได้มีโอกาสเห็นดาวหางอีกครั้งหนึ่งชื่อว่า “ดาวหาง HALE BOPP” (ดาวหางเฮล-บอพพ์) ซึ่งว่ากันว่าดาวหางดวงนี้จะมีความสว่างสุกใสมากที่สุดมากว่าดาวหางฮัลเลย์ ที่โด่งดังเสียอีก ทางนักดาราศาสตร์ได้คำนวณแนววงโคจรของดาวหางเฮล-บอพพ์ เอาไว้ว่า จะแนวโคจรตวัดเหมือนกับจะแบ่งครึ่งท้องฟ้า (มีแนวตั้งฉากกับแกนโลก) สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทยค่อนข้างชัดเจนราววันที่ 24-25 มีนาคม พ.ศ.2540 (ก่อนและหลังนั้นก็สามารถมองเห็นได้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถมองเห็นได้ทั้งในเวลาช่วงหัวค่ำและช่วงเช้า มืด )อยู่ในราศีมีน โดยดาวหางจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2540 และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2540

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว เห็นว่า “ดาวหาง HALE BOPP” (ดาวหางเฮล-บอพพ์) นั้นมีลักษณาการวงโคจรคล้ายกับดาวหางที่เรียกว่า “จลเกตุ” ในตำราดาวหางของอินเดีย ซึ่งจะส่งผลร้ายในเรื่องของโรคาพยาธิระบาด และเกิดทุพภิกภัยในท้องที่กว้าง และในช่วงระหว่างวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2540 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2540 อันเป็นช่วงที่ดาวหางมีอิทธิพลสูงที่สุด คือมีความสุกสว่างมากที่สุด , หางจะยาวที่สุดและมองเห็นได้ในเมืองไทย โดยมีมุมสัมพันธ์ทางทิศตะวันตกเฮียงเหนือ (ทิศพายัพ) กับทิศตะวันตก (ทิศประจิม) เป็นเวลา 7 วัน


จากลักษณาการของดาวหางดังกล่าว เมื่อได้พิจารณาตามตำราดาวหางแล้วเห็นว่า มีปกรณ์โหรพยากรณ์ไว้หลากหลาย ดังนี้คือ

“จะรบกันและจะแพ้เขา”

“บ้านเมืองจะฉิบหาย จะบังเกิดการจลาจลและโรคระบาด และความอดอยากทั้งภัยธรรมชาติ จะเกิดขึ้นภายใน 18 เดือน ความแห้งแล้งจะตามมา ชนทั้งหลายจะร้องขอความช่วยเหลือ แลบ้างก็จะได้รับความทุกข์ทรมานด้วยบุตร ต้องเศร้าโศก”

“ประเทศทางทิศใต้ และประเทศทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีเหตุวุ่นวาย นักปราชญ์ราชบัณฑิตและขุนนางเมืองอื่นจะมาสู่ ให้ดูใน 3 เดือน 7 เดือน แล ฯ ”

“เมียพระยาจะไห้ พระยาจะเกิดความเพราะเมีย คนจะเสียด นางจะหนี จะมีศึก ไฟจะไหม้ คนจะร้อนใจด้วยพยาธิ จะแพ้ช้างม้าวัวควายจะตายมากนัก ข้าวเกลือหมากพลูปลาจะแพง ฝนจะตก (ต้องดูพระศุกร์ 6 ร่วม) แล ฯ ”

อีกทั้งประเทศอันสัมพันธ์แก่ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ อันได้แก่ ประเทศจีน , รัสเซีย , สหรัฐอเมริกา , โปแลนด์ , ไทย , พม่า , อินเดีย , ประเทศในตะวันออกกลาง อันได้แก่ ตุรกี ซีเรีย จอร์แดน อิรัก อิหร่าน , และประเทศทางแถบแอฟริกาใต้ตอนกลาง จะได้รับผลกระทบ จากคำพยากรณ์ต่างๆดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งเรื่องราวของคำพยากรณ์ต่างๆนั้น จะเป็นจริงหรือไม่นั้น พวกเรานักโหราศาสตร์ทั้งหลายก็ควรจะต้องค้นคว้าและบันทึกปูมโหรเป็นสถิติต่อ ไป

ส่วนเรื่องระยะเวลาที่ผลจะเกิดขึ้นนั้น ตำรากล่าวว่าจะบังเกิดผลใน 3 เดือน นับแต่วันที่ดาวหางปรากฏ (ในที่นี้ ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2540 เป็นหลัก เพราะเป็นวันที่กล่าวว่า ดาวหางเฮล-บอพพ์ จะมีความสุกสว่างและมีหางยาวมากที่สุด ส่วนหลังจากนั้น หางจะค่อยสั้นลง เนื่องจากอยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์) และอิทธิพลของดาวหางดวงนี้จะมีอยู่ได้นานถึง 18 เดือน หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง เลยทีเดียว

(หมายเหตุ - ผู้เขียนยังไม่ได้ตรวจสอบว่า ดาวหางนี้ขึ้นในทิศทางใด มุมการโคจรของดาวหางที่มองเห็นด้วยตาเปล่านั้น ไปทำมุมสัมพันธ์กับหมู่ดาวนักษัตรใดบ้างรวมทั้ง เรื่องสีของดาวหางเป็นอย่างใด ซึ่งจะต้องนำเอาเหตุการณ์ทั้งหมดนี้มาพิจารณาประกอบกันในการให้คำพยากรณ์ ด้วย เท่าที่ได้ค้นคว้าผลพยากรณ์ดาวหางมานี้ ก็ทำได้เพียงแค่เทียบเคียงข้อมูลที่ได้รับจากนักดาราศาสตร์เท่านั้น)

(หมายเหตุ : หลังจากนี้จะขึ้นสู่บทที่ว่าด้วย "การสอบพระเคราะห์เมือง" -สายน้ำ)

 


 

 

การทดสอบผลการพยากรณ์นิมิตเรื่องดาวหาง

เมื่อได้ทำการพยากรณ์นิมิตเรื่องดาวหางแล้ว โหรโบราณท่านหาได้ออกคำพยากรณ์ไปเลยทีเดียวไม่ ท่านยังคงใช้วิธีการอื่นในการตรวจสอบผลการพยากรณ์นิมิตเรื่องดาวหางต่อไปอีก ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า “การสอบพระเคราะห์เมือง”
วิธีการสอบพระเคราะห์เมืองนั้น มีมากมายหลายวิธี แต่พระคัมภีร์ที่เป็นหลักในการตรวจสอบนั้นก็คือ

1. คัมภีร์นครพังก์สะ
2. คัมภีร์จุฬามณี
3. คัมภีร์โสฬสมหานคร และ
4. คัมภีร์ราชมัฏตัน

ปกรณ์โหรทั้ง 4 คัมภีร์นี้ล้วนแล้วแต่มีวิธีการในการสอบพระเคราะห์เมืองทั้งสิ้น ดังเช่นในคัมภีร์จุฬามณี กล่าวว่า ให้ทำดวงจุฬามณีอัฏฐจักรขึ้น และทำฤกษ์ “กลีพัตร” ขึ้น แล้วพึงพิจารณาดูว่า หากพระ 1 หรือพระ 2 หรือพระ 7 จรมาต้อง “ฤกษ์กลีพัตร” แล้ว จะบังเกิดเหตุการณ์วิปริตต่าง ๆ ตะวันและรัศมีพระจันทร์จะมืดมัวเป็นควัน และมีเหตุการณ์บังเกิดขึ้น หากพระ 3 มาต้อง จะบังเกิดดาวตกหรือยอดประธานแก่แผ่นดินจะหักพังลงมา ... ฯ เป็นต้น ซึ่งที่มีหลักฐานอยู่นั้น จะเห็นมีปรากฏในคัมภีร์นครพังก์สะ และในคัมภีร์โสฬสมหานคร นั้น ได้มีหมายเหตุ ปูมโหร ตอนท้ายกำกับอยู่ด้วย จึงเชื่อว่า แต่เดิมนั้น โหรจะต้องคอยทดสอบ เรื่องนิมิต กับผลการออกคำพยากรณ์อยู่เสมอ

ดังเช่นที่ปรากฏในปูมโหรเมื่อปี จ.ศ.1192 (พ.ศ.2373) ภายหลังจากที่มีดาวหางปรากฏทางโหรก็ได้พยากรณ์ “พระเคราะห์เมือง” แล้วเห็นว่าร้ายจึงได้ถวายความเห็นว่า เห็นสมควรสะเดาะเคราะห์ โดยให้ตั้งพิธียิงปืนอาฏานา ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้นจึงเห็นควรศึกษาการพยากรณ์พระเคราะห์เมืองควบคู่ไปด้วยกันด้วยโดยขอแสดงบทคัมภีร์อย่างย่อ กล่าวคือ


บทปกรณ์ว่าด้วยการคำนวณเคราะห์เมือง

ตั้งจุลศักราชลง เอาเกณฑ์เมืองคูณ เอา 312 หาร เศษเป็นเกณฑ์ตราไว้ ตั้งเกณฑ์ลงเอา 16 หาร เศษ 0 จะเป็นอุบาทว์แล เศษ 1 จะเดือดเนื้อร้อนใจ เศษ 3 ไฟจะไหม้บ้านเมือง เศษ 10 อุบาทว์ใหญ่แล เศษ 11 จะเกิดกลียุค เศษ 13 ไฟจะไหม้บ้านเมือง เศษ 7 , 8 ศึกจะลัดเข้าเมือง เจ้าเมืองจะตกใจแล ฯ

พิจารณาเดือน ตั้งเกณฑ์ลง เอา 12 คูณ บวกเดือนเข้า เอานามเมืองคูณ เอา 312 หาร เศษนั้นเอา 16 หาร เศษทายดุจปีแล

ผิวจะรู้จักวัน เอาเกณฑ์ตั้ง เอา 12 คูณ บวกเดือนเข้า เอานามเมืองคูณ เอา 312 หาร เศษนั้นเอา 16 หารเศษ ทายดุจก่อนแล ผิวว่าเศษเป็น 0 ทั้ง ปี เดือน วัน 3 อย่าง ร้ายนักแล ฯ

อีกกลวิธีหนึ่ง
ตั้งมหาศักราชขึ้นเอา 108 หาร เศษเป็นเกณฑ์ตราไว้ ตั้งเกณฑ์ลงแล้วเอา นามเมือง อายุเมือง บวกเข้า เอา 9 หาร เศษ 0 , 1 , 3 ไฟจะไหม้บ้านเมืองปีนั้น เศษ 7 , 8 ศึกจะเข้าเมือง เศษ 2 , 4 , 5 , 6 บ้านเมืองจะอยู่เป็นสุขแล ฯ

ตั้งเกณฑ์ลง เอา 12 คูณ บวกเดือนเข้า เอาอายุเมือง นามเมือง บวกเข้า เอา 9 หาร เศษทายดุจปีเดือนนั้นแล ฯ

ตั้งอายุเมืองลง เอา 12 คูณ เอา 4 บวก เอา 12 หาร เศษนับแต่พฤษภไป ตกราศีใด ไฟไหม้ในเดือนนั้นแล


ผิวจะรู้จักวัน เอาเกณฑ์ตั้ง เอา 12 คูณ บวกเดือนเข้าเอา 30 คูณ บวกดิถีเข้าเอา 7 หาร เศษ 0 , 1 , 3 ไฟจะไหม้บ้านเมืองในวันนั้นแล ปีเดือนวันอย่าสนเท่ห์เลย

ตั้งสมผุสพระอาทิตย์ลงเอา 30 คูณราศี บวกองศาขึ้นเอา 60 คูณ บวกลิปดาขึ้น เอาอักษรเมืองคูณ เอานามเมืองคูณ เอา 9 หาร ผิวเศษ 0 , 1 , 3 ไฟจะไหม้ในเวลาเช้า 32 ชั้นฉายแล เศษ 3 ได้ 9 ฉายาเช้า เศษ 7 ตะวันบ่าย 6 ฉายา เศษ 8 ได้ 16 ฉายาบ่าย เศษ 2 เวลาพลบค่ำ เศษ 4 , 5 , 6 จะไหม้กลางคืนวันนั้นแล ฯ ตำรานี้แม่นนัก

ประการหนึ่ง ตั้งสมผุสอาทิตย์วันนั้นลง เอา 30 คูณราศี บวกองศา เอา 60 คูณ บวกลิปดาขึ้น เป็นเกณฑ์ตราไว้ ตั้งเกณฑ์ลง 2 ฐาน ฐานบนเอา 16 หาร เศษ 0 ไฟไหม้วันนั้นแล ฐานล่างเอา 40 หาร เศษ 0 , 1 , 3 ไฟไหม้วันนั้นแล ฯ
ตั้งมหาศักราชลง เอา 108 หาร เศษเป็นคามเกณฑ์ตราไว้ ตั้งคามเกณฑ์ลง บวกนามเมืองเข้า เอา 9 หาร ผิวเศษ 0 ดังนี้ ชื่อว่า สูญตกกลางเมือง เมืองจะเสียแล ผิวเศษ 1 ชื่ออาทิตย์ตกกลางเมือง เจ้าเมืองจะพลีดพรากจากบ้านเมืองไป ผิวเศษ 2 เจ้าเมืองและราษฎรจะอยู่เย็นเป็นสุขมากแล ผิวเศษ 3 ไฟจะไหม้บ้านเมือง ผิวเศษ 4 ดีนัก เศษ 5 เจ้าเมืองจะได้ลาภ เศษ 6 เจ้าเมืองและราษฏรจะมีความสุขเป็นอันมาก ผิวเศษ 7 จะมีศึกตกกลางเมือง ผิวเศษ 8 ข้าวจะแพงจะมีศึกด้วย

กลหนึ่งตั้งคามเกณฑ์ลง เอานามเมือง ทักษาเมืองบวกเข้า เอา 9 หาร ผิวเศษ 0 , 1 , 3 เมืองนั้นจะมีศึกในปีนั้นแล ผิวเศษ 2 , 4 , 5 , 6 จะมีชนต่างเมืองมาสู่โพธิสมภารในปีนั้นแล ผิวเศษ 7 , 8 ข้าศึกจะเข้าเมือง โจรจะปล้นในปีนั้นแล

ผิวจะรู้ว่าเดือนใด เอาคามเกณฑ์ตั้งลงเอา 12 คูณ นับเดือน 6 เป็นต้นไก้เท่าใดบวกเข้า เอานามเมือง ทักษาเมืองบวกแล้ว เอา 9 หาร เศษทายดุจก่อนนั้นแล ฯ

ผิวจะรู้ว่าวันใด ตั้งคามเกณฑ์ลง เอา 12 คูณ บวกเดือนเข้า เอา 30 คูณ บวกดิถีเข้าเอานามเมือง ทักษาเมืองบวกเข้า แล้วเอา 9 หาร เศษทายดุจก่อนแล ฯ


ถ้าจะดูเคราะห์เมือง ตั้งจุลศักราชปีนั้นลง เอา 108 หาร เศษออกเป็นเกณฑ์ตราไว้ แล้วจึงตั้ง เกณฑ์ลง เอานามเมืองบวก เอา 3 คูณ 9 หาร ผิวเศษ 0 , 1 , 3 ทำนายว่าจะเกิดเหตุขึ้นในเมืองนั้นปีนั้น มิฉะนั้นจะเกิดศึก เกิดเพลิง เกิดไข้ อีกอย่างหนึ่งน้ำจะท่วมคนจะทำร้ายแก่เจ้าเมือง จะเสียบ้านเมืองแล ถ้าเศษ 7 , 8 จะเกิดโจรผู้ร้าย ความสุขน้อย ผิวเป็นเศษดังนี้ 2 , 4 , 5 , 6 ทำนายว่า บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข แก่อาณาประชาราษฏรทั้งปวงแล

ถ้าจะดูว่าเหตุเกิดเดือนใด ให้ตั้งมาสเกณฑ์เดือนนั้นลง เอานามเมืองบวก 3 คูณ 9 หาร เศษเป็นเคราะห์เดือน นายดุจก่อนเถิด ฯ

ถ้าจะดูเคราะห์เมือง ว่าดีหรือร้าย ให้ตั้งจุลศักราชปีนั้นลงเอา 12 หาร เศษตราไว้เป็นเกณฑ์ ตั้งเกณฑ์ลงเอา 7 หาร

ผิว่าได้เศษ 1 , 2 ทำนายว่าจะเกิดเพลิงทั้ง 8 ทิศแล ฯ
ผิว่าได้เศษ 3 ขุนนางจะมีความสุข ฯ
ผิว่าได้เศษ 4 ว่าอาณาประชาราษฏร จะคิดการลามกแก่แผ่นดิน ฯ
ผิว่าได้เศษ 5 ราษฏรจะมีความสุข ฯ
หากเป็นเศษ 6 ว่าราษฏรนั้นจะเป็นโจรคิดกบถ ศึกมาแต่ทิศทั้งปวง ฯ
เศษ 0 ขุนนางผู้น้อยจะได้เป็นใหญ่ขึ้น จะได้ยศศักดิ์ต่างๆ นั้นแล ฯ


บทปกรณ์ว่าด้วยการคำนวณพระเคราะห์เฝ้าเมือง

ให้ตั้งมหาศักราชลง เอานามเมืองคูณ เอา 4 ลบ เอา 9 หาร

เศษ 1 ว่าพระ 1 เฝ้าเมือง ไฟจะแรงไหม้บ้านเมือง ฝูงชนจะทำไร่นายาก
ลางแห่งให้ผล ลางแห่งมิให้ผล จะแพ้ผู้ใหญ่แล ฯ
เศษ 2 ว่า พระ 2 เฝ้าเมือง ว่าเจ้าเมืองอื่น จะเอาลาภมาให้
เมื่อปลายปีข้าวจะแพงหน่อยหนึ่ง
เศษ 3 ว่า พระ 3 เฝ้าเมือง ว่าคนจะเกิดรบพุ่งกันปีนั้น
จะเกิดโจรขโมยเที่ยวลักปล้นตีชิงกันทุกแห่ง ไฟจะไหม้บ้านไหม้เมือง
ข้าวจะแพงแล ฯ
เศษ 4 ว่า พระ 4 เฝ้าเมือง จะแพ้เศรษฐีผู้ใหญ่ จะแพ้สัตว์สี่เท้าสองเท้าแล ฯ
เศษ 5 , 6 ว่า พระ 5 , 6 เฝ้าเมือง ว่าประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข ฯ
เศษ 7 , 8 ว่า พระ 7 , 8 เฝ้าเมือง ว่าคนจะตื่นไฟตื่นศึกแล ฯ
เศษ 0 ว่า พระ 9 เฝ้าเมือง ว่าผลผลาหารจะโหดหื่น ฝูงชนจะร้อนใจมากนักแล ฯ

บทปกรณ์ว่าด้วยการคำนวณพระเคราะห์ผุดกลางเมือง

ผิว์ จะรู้ว่าพระเคราะห์ตัวใดผุดกลางเมือง ให้ตั้งมหาศักราชลง เอาชื่อเจ้าเมืองบวก แล้วเอา 5 บวกเข้า เอา 9 หาร

เศษ 1 ว่า พระ 1 ผุดกลางเมือง ว่าคนทั้งหลายจะเกิดทุกข์ไข้เจ็บมากนัก ฯ
เศษ 2 ว่า พระ 2 ผุดกลางเมือง ว่าคนทั้งหลายจะอยู่ดีกินดีแล ฯ
เศษ 3 ว่า พระ 3 ผุดกลางเมือง จะเกิดโจรผู้ร้ายขโมยทุกแห่ง ฯ
เศษ 4 ว่า พระ 4 ผุดกลางเมือง ชนทั้งหลายอยู่ดีมีศีลธรรม บ้านเมืองก็ดีแล ฯ
เศษ 5 ว่า พระ 5 ผุดกลางเมือง ว่าตามพุธแล ชนทั้งหลายอยู่ดีมีศีลธรรม บ้านเมืองก็ดีแลฯ
เศษ 6 ว่า พระ 6 ผุดกลางเมือง ว่าจะเกิดลมร้ายพัดฝนไปตกไกล และพายุใหญ่มากนักแล ฯ
เศษ 7 , 8 ว่า พระ 7 , 8 ผุดกลางเมือง ว่าจะเกิดความไข้ระบาด และพายุร้าย บ่ ว่า สาลวนกลางเมือง แล ฯ
เศษ ๐ ว่า พระ 9 ผุดกลางเมือง ว่าลมจะพัดแรง คนจะเกิดแพ้ภัย แล ฯ

(หมายเหตุ - บันทึกของ อจ.บุญเรือน ว่าต้นฉบับเดิมเขียนว่า “แพร่พราย” จะหมายถึงแพ้หลาย หรือแพ้ภัยไม่ได้ความชัด ตามความเห็นส่วนตัวของท่านอาจารย์ว่าจะเกิดเหตุการณ์สาลวนยุ่งเหยิงผิดพลาด ต่างๆ )

บันทึกหมายเหตุ
ตามตำราในภาคคำนวณ ได้กล่าวถึง ทักษาเมือง นามเมือง อายุเมือง อักษรเมือง พลเมือง ไว้ แต่ตัวเลขสำเร็จที่จะใช้พยากรณ์ในปัจจุบันนั้น มิได้มีการกล่าวถึงได้ตรวจสอบในคัมภีร์จุฬามณีกลีพัท คัมภีร์นครพังก์ คัมภีร์โสฬสมหานคร คัมภีร์ราชมัฏตัน และอื่นๆแล้ว ก็ไม่ได้เลขสำเร็จ คงมีแต่เลขสำเร็จสำหรับใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

ส่วนวิธีการคำนวณ อักษรเมือง นั้น ท่านมีปรากฏในคัมภีร์ราชมัฏตันแล้ว
ดังมีปรากฏในการสอบปูมโหร กับบทพยากรณ์ตามคัมภีร์โสฬสมหานครที่ใช้พยากรณ์บ้านเมืองว่า “ผิว์จะดูเคราะห์เมือง ท่านให้เอาจุลศักราชพันกัน เอานามเมืองบวก เอา 9 หาร ถ้าเศษ 2 , 4 , 6 ท่านว่าดี เมืองเป็นสุขเกษม ถ้าเศษ 0 , 1 , 3 , 7 , 8 ท่านว่า จะเกิดศึกและอุบาทว์ต่างๆ ฝนจะแล้งด้วยแล ฯ ”

บันทึกจากปูมโหร มีว่า


เมื่อครั้งศักราช 972 เศษ 8 พวกจีน ญี่ปุ่น คิดกบฏยกเข้าเมืองกรุงเก่า
ศักราช 983 เศษ 1 คนออกฝีดาษล้มตายมาก
ศักราช 984 เศษ 8 พระยาช้างเผือกล้ม ชนออกฝีดาษล้มตายมาก
ศักราช 1018 ปีวอก เศษ 0 วุ่นวายด้วยพระองค์ไชย พระธรรมราชา กบฏ แล ฯ
ศักราช 1050 ปีมะเส็ง เศษ 8 ครั้งนั้นวุ่นวายด้วยวิชชาเยนทร์ ฝรั่งคิดกบฏ พระนารายณ์ เมืองลพบุรี แล ฯ
ศักราช 1127 ปีระกา เศษ 3 พม่ายกมาล้อมกรุงเก่า คนออกฝีตายมาก
ศักราช 1138 ปีวอก 1139 ปีระกา เศษ 7 เสียเมืองพิษณุโลกแก่พม่า
พวกพม่ายกไปทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้านระแหง ต้องอดข้าวโซล้มตายลงเป็นอันมาก ฯ
ศักราช 1148 ปีมะเมีย เศษ 6 พม่ายกทัพมา พม่าต้องแตกทัพหนีตายเป็นอันมาก ฯ
ศักราช 1188 ปี จอ เศษ 8 เสียเมืองโคราชแก่อนุ เมืองเวียงจันทร์ คนตายมาก ฯ


หายนะปี พ.ศ.2540 หลังจากดาวหางเฮล-บอปพ์มา

เดือนพฤษภาคม 2540
26 พ.ค.40 โครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย 20,000 ล้านบาท (มาตรการฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)
21 พ.ค.40 การรับปรุงภาษีสรรพสามิต
12 พ.ค.40 องค์การบริหารสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระเมินมูลค่าของหลักประกัน
8 พ.ค.40 ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ จัดเก็บตามใบขนสินค้า เดือนเมษายน 2540
7 พ.ค. 40 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล
7 พ.ค.40 การให้การสงเคราะห์แก่ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ ฯ
2 พ.ค.40 การสั่งเลิกการควบคุม ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน)

เรือเฟอร์รี่ล่ม ชายฝั่งภูเก็ต

*วันที่ 4 พฤษภาคม 2540 เวลา 09.00 น.เกิดเหตุเรือเฟอร์รี่ชนหินโสโครก ล่มระหว่างน่านน้ำภูเก็ต-พังงา-กระบี่ เหตุเกิดบริเวณหินหมูสัง อ.เกาะยาว จ.พังงา ผู้โดยสารพร้อมลูกเรือ จำนวน 722 คนรอดตาย ขณะที่เรือเฟอร์รี่จะพานักท่องเที่ยวไปเกาะพีพี จ.กระบี่

เดือนมิถุนายน 2540
30 มิ.ย. 40 ชี้แจงข่าวการจ่ายเงินคลัง สมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
30 มิ.ย. 40 สรุปผลการดำเนินงาน ของกระทรวงการคลังในรอบ 6 เดือน
27 มิ.ย. 40 แถลงการณ์กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2)
27 มิ.ย. 40 แถลงการณ์กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
25 มิ.ย. 40 แถลงการณ์กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวเด่นในอดีต - ยิงยกโรงพักหลังสวน
*เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ที่โรงพัก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อ ด.ค.ชัยวร หิรัญสดี ใช้ปืน 11 มม. ยิงผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต ทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ด.ต.ชัยวรด้วย

เดือนกรกฏาคม 2540
16 ก.ค.2540เรื่องร่างพระราชกำหนด บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
2 ก.ค.2540 แถลงการณ์ร่วมฯ เรื่อง การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา
เดือนสิงหาคม 2540 (สมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)
25 ส.ค.2540 รายงานข้อมูลการคลัง ประจำเดือนกรกฏาคม 2540
5 ส.ค.2540 แถลงการณ์ฯเรื่องมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน

น้ำท่วมชุมพร - สิงหาคม 2540
ได้เกิดฝนตกติดต่อเป็นเวลาหลายวันในพื้นที่จังหวัดชุมพร เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนซีต้า นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้สรุปความเสียหายของสภาพน้ำท่วม จังหวัดชุมพร รวมทั้งสิ้น 8 อำเภอ 49 ตำบล 270 หมู่บ้าน 3880 ครัวเรือน ราษฎรได้รับผลกระทบ 14,600 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน เสียชีวิต 1 คน ถนน 143 สาย สะพานไม้ 8 แห่ง ท่อระบายน้ำ 20 แห่ง ฝายน้ำล้น 3 แห่ง บ้าน 11 หลัง พื้นที่การเกษตร 42,100 ไร่ หลังจากน้ำท่วมมา เป็นระยะเวลา 10 วัน นำความสูญเสียมาสู่ชาวชุมพร ทั้งภาคราชการและภาคเอกชนมูลค่าไม่ต่ำกว่า กว่า 2,000 ล้านบาท

 


 

สรุปสาระสำคัญ
เกี่ยวกับเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก
ข่าวกระทรวงการคลังที่ 53/2540 วันที่ 3 กันยายน 2540

1. ธนาคารโลกได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่นำโดยนาย J.Shivakumar มาหารือกับฝ่ายไทย ระหว่างวันที่ 28 - 29 สิงหาคม 2540 เกี่ยวกับการจะให้กู้ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทย ในวงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานฝ่ายไทยเพื่อประสานงาน และเป็นคู่เจรจากับธนาคารโลกในการจัดเตรียมรายละเอียดแผนปฏิบัติการเพื่อ เตรียมโครงการปรับโครงการสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมีนายสุทธิพันธุ์ นิมานเหมินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน อาทิ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงบประมาณ และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งคณะทำงานฝ่ายไทยได้รับมอบนโยบายและดำเนินการเจรจา กับเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกตามแนวนโยบายของทางการ

2.ตามที่ได้มีการเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2540 เกี่ยวกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ว่า ไม่ได้จัดเตรียมหัวข้อในการเจรจากับธนาคารโลก จึงทำให้ธนาคารโลกฉวยโอกาสเสนอให้ใช้เงินกู้ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาของ 58 ไฟแนนซ์นั้น กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า คณะทำงานฝ่ายไทยฯ ได้ปรึกษาหารือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อกำหนดแนวทางในการ เจรจาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย และในการเจรจานั้น ฝ่ายไทยและธนาคารโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจปัจจุบันที่ควรเร่งแก้ไขโดยด่วน คือปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในระบบการเงินและการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ ถูกระงับการดำเนินกิจการ ในกรอบการเจรจาทั้งหมดนั้นฝ่ายไทยและธนาคารโลกได้พิจารณากำหนดหัวข้อร่วมกัน ไม่ใช่ธนาคารโลกกำหนดเพียงฝ่ายเดียว และมีบางประเด็นที่ธนาคารโลกเสนอให้มีการศึกษา แต่ฝ่ายไทยเห็นว่ายังไม่จำเป็น และมีบางประเด็นที่ฝ่ายไทยก็เสนอเพิ่มในการเจรจาด้วย นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติ คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต้องเห็นชอบร่วมกัน จึงจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรวบรัดตามที่ฝ่ายตนเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว

3.ในการเจรจาครั้งนี้ ธนาคารโลกได้เสนอให้กู้เพื่อช่วยเตรียมการกู้เงินธนาคารโลก (Implementation Assistance Loans - IA Loan) จำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยประเทศไทย ในการจัดเตรียมโครงการที่จำเป็นที่จะใช้เงินกู้เพื่อการปรับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loans-SAL) ได้อย่างรวดเร็ว และเรียบร้อยตามกำหนดการไม่ใช่เป็นการกู้เงินมาช่วยเหลือ 58 ไฟแนนซ์ ตามที่ตกเป็นข่าวแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วคณะทำงานฝ่ายไทยยังได้รับคำชมเชยจากคณะผู้แทนธนาคารโลกว่า ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีและเสนอประเด็นที่สำคัญต่อการเจรจาอย่างมาก ซึ่งทำให้การทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ

ตำราดาวพรหมปโรหิตา
พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางของไทย
ได้จบลงแล้ว

ประโยชน์อันใดบังเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
แม้ในภายหน้าก็ดี ที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว
ข้าพเจ้าขออุทิศกุศลนั้น
แค่ท่านอาจารย์บุญเรือนวรรณวิจิตร ผู้ล่วงลับ ในกาลทุกเมื่อ

ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์อภิสิทธิ์ อภิญาโณ
มาด้วยความเครารพอย่างสูง


สายน้ำ