พุทธานุญาตอื่นๆ เรื่อง น้ำย้อม เป็นต้น
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง ด้วยดินแดงบ้าง จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ
น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑.”
และในสมัยต่อมาพระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ได้แก่
๐ ทรงอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กเพื่อต้มน้ำย้อม.
๐ น้ำย้อมล้นหม้อ ทรงอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันล้น.
๐ ทรงอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงในน้ำ หรือหลังเล็บ
เพื่อทดสอบว่าน้ำในหม้อย้อมร้อนพอแล้วหรือไม่ร้อน
๐ ทรงอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อมอันเป็นภาชนะมีด้าม เพื่อสะดวกในการใช้งาน
๐ ทรงอนุญาตอ่างสำหรับย้อม, หม้อสำหรับย้อม เพราะบางแห่งภิกษุก็ขาดแคลนภาชนะ
๐ ทรงอนุญาตรางสำหรับย้อม เพื่อภิกษุไม่ต้องขยำจีวรในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง
๐ ทรงอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า เพื่อตากจีวรที่พื้นได้จักได้ไม่เปื้อน
๐ ในเวลาต่อมา ทรงอนุญาตราวจีวร สายระเดียง
คือ ตากจีวรบนที่แขวน เพราะที่รองกับพื้นนั้นถูกแมลงกัดบ้าง
๐ ทรงอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้ เพื่อภิกษุทั้งหลายตากจีวรตอนกลาง
น้ำย้อมจะได้ไม่หยดออกทั้งสองชาย
๐ ทรงอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร เพื่อไม่ให้มุมจีวรชำรุด
๐ ทรงอนุญาตให้ย้อมจีวรพลิกกลับไปกลับมาเมื่อจีวรยังชุ่มด้วยน้ำย้อม
๐ ทรงอนุญาตให้จุ่มจีวรลงในน้ำ เนื่องจากจีวรเป็นผ้าเนื้อแข็ง
๐ ทรงอนุญาตเราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ เนื่องจากจีวรเป็นผ้ากระด้าง
การเปลือยกายและการใช้ผ้า
ทรงห้ามเปลือยกายแบบเดียรถีย์ และปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ผู้ล่วงละเมิด. อนึ่ง ทรงห้ามใช้ผ้าคากรอง, เปลือกต้นไม้กรอง, ผลไม้กรอง, ผ้ากัมพล ทำด้วยผมคน, ผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์ ปีกนกเค้า หรือหนังเสือ, ซึ่งเป็นของพวกเดียรถีย์ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ผ้าทำด้วยปอ นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหมายในที่นี้ คือไม่ให้นุ่งห่มเลียนแบบเดียรถีย์).
ทรงห้ามใช้จีวรที่มีสีไม่ควร และห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก
ทรงห้ามใช้จีวรมีสีไม่สมควรต่างๆ คือ เขียวล้วน, เหลืองล้วน, แดงล้วน, เลื่อมล้วน, ดำล้วน, แดงเข้ม, แดงกลายๆ (ชมพู). อนึ่ง ทรงห้ามจีวรที่ไม่ตัดชาย, จีวรมีชายยาว, จีวรมีชายเป็นดอกไม้, จีวรมีชายเป็นแผ่น และทรงห้ามใช้เสื้อ หมวก, ผ้าโพก ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ใช้.
กติกา (ข้อกำหนดหรือแม่บท) ๘ ประการที่จีวรจะเกิดขึ้น
คือ ๑.) เขาถวายกำหนดเขตภิกษุที่อยู่ในสีมา
๒.) เขาถวายกำหนดกติกา
๓.) เขาถวายกำหนดเฉพาะเจตหรือวัดที่เขาทำบุญประจำ
๔.) เขาถวายแก่สงฆ์
๕.) เขาถวายแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ ภิกษุณี)
๖.) เขาถวายแก่สงฆ์ที่จำพรรษาแล้ว
๗.) เขาถวายโดยเจาะจง
(ให้เกี่ยวเนื่องกับการถวายข้าวยาคู หรืออาหารอื่นๆ เป็นต้น)
๘.) เขาถวายจำเพาะบุคคล (คือแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้).