พระวินัยที่เกี่ยวกับจีวร
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การให้ทำจีวรที่มีขนาดเกินประมาณ
ปาจิตตีย์ รัตนวรรค สิกขาบทที่ 10
โย ปะนะ ภิกขุ สุคะตะจีวะรัปปะมาณัง จีวะรัง..
“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว 9 คืบ โดยกว้าง 6 คืบ ด้วยคืบสุคต นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคต.”
อนาบัติ
1.ทำจีวรหย่อนกว่าประมาณ 2.ได้จีวรที่ผู้อื่นทำสำเร็จแล้วเกินประมาณมาตัดเสียแล้วใช้สอย 3.ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี 4.ภิกษุวิกลจริต 5.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัตแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระนันทะพระพุทธอนุชาใช้จีวรมีขนาดเท่าจีวรพระสุคต ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเดินมาแต่ไกลก็ลุกขึ้นต้อนรับ ด้วยนึกว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมา เมื่อเข้าใกล้เห็นว่ามิใช่ จึงติเตียนว่าใช้จีวรขนาดเท่าของพระสุคต พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำจีวรให้มีขนาดเท่าจีวรสุคตหรือยิ่งกว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่ให้ตัดเสีย ประมาณแห่งจีวรสุคต คือ ยาว 9 คืบ กว้าง 6 คืบ.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุเก็บไตรจีวรเกินความจำเป็นมากกว่าสิบวัน
สิกขาบท: ผ้ากฐิน
กฐินเดาะแล้วเก็บอติเรกจีวรไว้เกิน 10 วัน
นิฏฐิตะจีวะรัส๎มิง ภิกขุนา อุพภะตัส๎มิงกะฐิเน, ทะสาหะปะระมัง…
“จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว พึงทรงอติเรกจีวรได้ 10 วัน เป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไปเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
วิภังค์
ที่ชื่อว่า อติเรกจีวร ได้แก่ จีวรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป.
คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ ความว่า เมื่ออรุณที่ 11 ขึ้นมาจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือ บุคคล.
อนาบัติ
1.ในภายใน 10 วัน ภิกษุอธิษฐาน 2.ภิกษุวิกัปไว้ 3.ภิกษุสละให้ไป 4.จีวรฉิบหาย 5.จีวรถูกไฟไหม้ 6.โจรชิงเอาไป 7.ภิกษุถือวิสาสะ 8.ภิกษุวิกลจริต 9.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นทรงอนุญาตให้ภิกษุมีจีวรได้เพียง 3 ผืน ( ผ้านุ่ง, ผ้าห่ม, ผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าสังฆาฏิ) ภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุผู้รวมกันเป็นคณะ 6 รูป) เข้าบ้าน อยู่ในวัดลงสู่ที่อาบน้ำ ด้วยไตรจีวรต่างสำรับกัน ภิกษุทั้งหลายติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามเก็บอติเรกจีวร (จีวรที่เกินจำเป็นคือเกินจำนวนที่กำหนด) ถ้าล่วงละเมิดต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ต่อมามีเหตุเกิดขึ้น พระอานนท์ใคร่จะเก็บผ้าไว้ถวายพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน
องค์แห่งอาบัติ 1.ผ้าประกอบด้วยชาติและประมาณเป็นของๆตน 2.ผ้านั้นถึงซึ่งกาล นับวันได้ คือว่าถึงมือของตนแล้ว เป็นต้น 3.ปลิโพธทั้ง 2 ขาดแล้ว 4.ผ้านั้นเป็นอดิเรกจีวร 5.ล่วง 10 วันไป พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 155)
กฐินเดาะ ในที่นี้ตามศัพท์แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงผ้า หมายถึงยกเลิกอานิสงส์กฐินที่ภิกษุพึงรับ (พระไตรปิฎกแปลไทย มจร. 2/3/462)(ดูหน้า 258 ประกอบ)
อธิษฐาน คือ การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ ได้แก่ตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะเป็นของประจำตัวชนิดนั้น ๆ เช่น ไตรจีวร บาตร : วิธีอธิษฐาน กระทำโดยใช้กายคือมือสัมผัส หรือเปล่งวาจาตามคำอธิษฐานก็ได้ ( วิ.ป. 8/322/261. วิ.อ. 2/469/147)(ดูหน้า 408 ประกอบ)
วิกัป คือ ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือ ขอให้ภิกษุหรือสามเณรรูปอื่นร่วมเป็นเจ้าของสิ่งที่จะวิกัปนั้น ทำให้ไม่ต้องอาบัติ แม้เก็บไว้เกินกำหนด (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า 227)
ห้ามภิกขุอยู่โดยปราศจากไตรจีวรแม้แต่คืนเดียว
สิกขาบท: โรงเก็บของ (ผ้ากฐิน 2)
กฐินเดาะแล้วอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง
นิฏฐิตะจีวะรส๎ ภิกขุนา อุพภะตัส๎ัมิงกะฐิเน, เอกะรัตตัมปิ เจ…
“จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
วิภังค์
ค ำว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้นสิ้นราตรีหนึ่ง ความว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากผ้าสังฆาฏิก็ดี จากผ้าอุตราสงค์ก็ดี จากผ้าอันตรวาสกก็ดี แม้คืนเดียว.
อนาบัติ
1. ภายในอรุณ ภิกษุถอนเสีย 2.ภิกษุสละให้ไป 3.จีวรหาย 4.จีวรฉิบหาย 5.จีวรถูกไฟไหม้ 6.โจรชิงเอาไป 7.ภิกษุถือวิสาสะ 8.ภิกษุได้รับสมมติ 9.ภิกษุวิกลจริต 10.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พ ระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเอาผ้าสังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนข้างนอก) ฝากภิกษุรูปอื่นไว้ จาริกไปสู่ชนบทด้วยสบง(ผ้านุ่ง) กับจีวร (ผ้าห่ม) รวม 2 ผืนเท่านั้น. ผ้าที่ฝากไว้นานขึ้นราเปรอะเปื้อนภิกษุผู้รับฝากจึงนำออกตาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้คืนหนึ่ง. ในบทวิภังค์ของสิกขาบทนี้ว่า ช่วงก่อนอรุณขึ้น รักษาผ้าไตรไว้ในที่มีรั้ว หรือกำแพงล้อม,เงาโคนไม้ในที่นั้นในขณะอยู่ผู้เดียวได้ แต่หากอยู่หลายคนหรืออยู่ที่ปราศจากรั้วกำแพงล้อม อย่าให้จีวรละหัตถบาส ถ้าล่วงละเมิดต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ภายหลังม ีเรื่องเกิดขึ้น ภิกษุเป็นไข้ ไม่สามารถนำจีวรไปได้ทั้ง 3 ผืน จึงทรงอนุญาตให้สงฆ์สวดสมมติแก่ภิกษุเช่นนั้นเป็นกรณีพิเศษ และไม่ปรับอาบัติ.
องค์แห่งอาบัติ 1.ผ้าภิกษุอธิษฐานเป็นจีวรแล้ว 2.ไม่มีอานิสงส์กฐิน 3.ไม่ได้อวิปปวาสสมมติ 4.อยู่ปราศจากผ้านั้นราตรีหนึ่งจนอรุณใหม่ขึ้นมา พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้จึงเป็นนิสสัคิยปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 156).
ในบุพพสิกขาวรรณาหน้า 508 กล่าวว่า โบราณคติสืบมา…ให้รู้จักอรุณแดงขึ้นมา..ให้ทันอรุณขาวก่อนอรุณแดง
หัตถบาส แปลว่า บ่วงแห่งมือ (ระยะบ่วงมือ ในบุพพสิกขาวรรณา หน้า 469 กล่าวว่า ประมาณ 2 ศอก 1 คืน)
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุเก็บผ้าที่จะทำไตรจีวรไว้เกินกำหนดหนึ่งเดือน
สิกขาบท: ผ้ากฐิน 3
กฐินเดาะแล้วเก็บอกาลจีวรไว้เกิน 1 เดือน
นิฏฐิตะจีวะรัส๎มิง ภิกขุนา อุพภะตัส๎มิงกะฐิเน, ภิกขุโน ปะเนวะ…
“จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุหวังอยู่ก็พึงรับ ครั้นรับแล้ว พึงรีบให้ทำ ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมือความหวังว่าจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงเก็บจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
วิภังค์
ทื่ชื่อว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 11 เดือนในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 7 เดือนในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว แม้ผ้าที่เขาถวายเจาะจงในกาล นี้ชื่อว่า อกาลจีวร.
อนาบัติ
1.ในภายในหนึ่งเดือนภิกษุอธิษฐาน 2.ภิกษุวิกัปไว้ 3.ภิกษุสละให้ไป 4.จีวรหาย 5.จีวรฉิบหาย 6.จีวรถูกไฟไหม้ 7.โจรชิงเอาไป 8.ภิกษุถือวิสาสะ 9.ภิกษุวิกลจริต 10.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้นอกาลจีวร (ผ้าที่เกิดขึ้นนอกกาลที่อนุญา่ตเป็นกาลทำจีวร. ดูเิชิงอรรถ) เกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แต่ไม่พอทำจีวร เธอจึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นตรัสถามทราบความแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เก็บผ้านอกกาลไว้ได้ ถ้ามีหวังว่าจะได้ทำจีวร ปรากฏว่าภิกษุบางรูปเก็บไว้เกิน 1 เดือน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
อกาลจีวร คือ (1)ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของปีถัดไปสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐิน รวมเป็น 11 เดือน (2)ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ในปีเดียวกัน สำหรับผู้ที่ได้กรานกฐิน รวมเป็น 7 เดือน (พระไตรปิฎกแปลไทย มจร. 2/21/50
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุใช้ภิกขุณีซักไตรจีวร
สิกขาบท: จีวรเก่า
การใช้นางภิกษุณีให้ซัก, ย้อม, ทุบจีวรเก่า
โย ปะนะ ภิกขุ อัญญาติกายะ ภิกขุนิยา ปุราณะจีวะรัง…
“อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี ซึ่งจีวรเก่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
อนาบัติ
1.ภิกษุณีผู้เป็นญาติซักให้เอง 2.ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นผู้ช่วยเหลือ 3.ภิกษุไม่ได้บอกใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักให้เอง 4.ภิกษุใช้ให้ซักจีวรที่ยังไม่ได้บริโภค 5.ภิกษุใช้ให้ซักบริขารอย่างอื่น เว้นจีวร 6.ใช้สิกขมานาให้ซัก 7.ใช้สามเณรีให้ซัก 8.ภิกษุวิกลจริต 9.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. อดีตภริยาของพระอุทายี เข้ามาบวชเป็นภิกษุณี รับอาสาซักผ้าของพระอุทายี ซึ่งมีน้ำอสุจิเปอะใหม่ ๆ นางได้นำน้ำอสุจินั้นส่วนหนึ่งเข้าปาก ส่วนหนึ่งใส่ไปในองค์กำเนิดเกิดตั้งครรภ์ขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ซัก, ย้อม หรือทุบจีวรเก่า (คือที่นุ่งห่มแล้วแม้คราวเดียว) ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
มิใช่ญาติ คือ ไม่เกี่ยวเนื่องทางสายโลหิตตลอดเจ็ดชั่วคน คือวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกันมา นับตั้งแต่ตัวภิกษุขึ้นไป 3 ชั้น คือ ชั้นพ่อ ชั้นปู่ ชั้นทวด กับนับจากตัวภิกษุลงมาอีก 3 ชั้น คือ ชั้นลูก ชั้นหลาน ชั้นเหลน รวมเป็น เจ็ดชั่วคน (วิ.อ. 2/503-5/165-166)
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุขอไตรจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ
สิกขาบท: การขอจากผู้ไม่ใช่ญาติ
การขอจีวรกว่าต่อคฤหัสถ์ ที่มิใช่ญาติ
โย ปะนะ ภิกขุ อัญญาตะกัง คะหะปะติง วา คะหะปะตานิง วา…
“อนึ่ง ภิกษุใด ขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชายก็ดี ต่อคฤหัสถ์หญิงก็ดี ผู้มิใช่ญาตินอกจากสมัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
สมัยในคำนั้นดังนี้ : ภิกษุเป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี นี้สมัยในคำนั้น.”
วิภังค์
มีชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด 7 ชั่วอายุของบุรพชน
อนาบัติ
1.ภิกษุขอในสมัย 2.ภิกษุขอต่อญาติ 3.ภิกษุขอต่อคนปวารณา 4.ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น 5.ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน 6.ภิกษุวิกลจริต 7.ภิกษุอาิทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ.
เรื่องต้นบัญญัติ
บุตรเศรษฐีเลื่อมใสพระอุปนันทศากยบุตร จึงปวารณาให้ขออะไรก็ได้แต่เธอขอผ้า ( ห่ม )จากตัวเขา แม้เขาจะขอไปเอาที่บ้านมาให้ก็ไม่ยอม พระศาสดาทรงทราบ ทรงติเตียนว่า “ดู ก่อนโมฆบุรุษการกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ไม่ควรทำ คนทีี่่มีญาติย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนที่ไม่ใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังขอจีวรต่อบุตรเศรษฐีผู้มิใช่ญาติได้.” จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาิติ ถ้าขอได้มาต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภายหลัีงมีโจรขโมยจีวรไป ภิกษุเห็นว่าทรงบัญญัติห้ามไว้จึงไม่ขอจีวรเปลือยกายเดินมา จึงตรัสว่า “เรา อนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกโจรแย่งชิงจีวรไปหรือมีจีวรฉิบหาย ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติได้ เธอเดินไปถึงวัดใดก่อน ถ้าจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปู่ที่นอนก็ดี ของสงฆ์ในวัดนั้นมีอยู่ จะถือเอาผ้าของสงฆ์นั้นไปห่มด้วยคิดว่า ได้จีวรนั้นมาแล้วจักคืนไว้ดังกล่าวดังนี้ก็ควร. ถ้าจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปูที่นอนก็ดี ของสงฆ์ไม่มี ต้องปกปิดด้วยหญ้า หรือใบไม้เดินมา ไม่พึงเปลือยกายเดินมา ภิกษุใดเปลือยกายเดินมา ต้องอาบัติทุกกฏ.”
ทรงบัญญัติให้ขอได้ ในเวลาจีวรถูกโจรชิงเอาไป หรือจีวรฉิบหาย.
องค์แห่งอาบัติ 1.ผ้ากว้างยาวควรวิกัปได้ 2.ไม่มีสมัย 3.ขอกับคนไม่ใช่ญาติ 4.ได้มาเป็นของตน พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้จึงเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 159).
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุรับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง
สิกขาบท: เรื่องกว่านั้น
ตัญเจ อัญญาตะโก คะหะปะติ วา คะหะปะตานี วา พะหูหิ…
“ถ้าคฤหัสถ์ชายก็ดี คฤหัสถ์หญิงก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ปวารณาต่อภิกษุนั้น ด้วยจีวรเป็นอันมาก เพื่อนำไปได้ตามใจ ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวร มีอุตราสงค์ อันตรวาสกเป็นอย่างมากจากจีวรเหล่านั้น ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
อนาบัติ
1.ภิกษุนำเอาไปด้วยคิดว่า จักนำจีวรที่เหลือมาคืน 2.เจ้าเรือนถวายบอกว่า จีวรที่เหลือจงเป็นของท่านรูปเดียว 3.เจ้าเรือนไม่ได้ถวายเพราะเหตุจีวรถูกชิงไป 4.เจ้าเรือนไม่ได้ถวายเพราะเหตุจีวรหาย 5.ภิกษุขอต่อญาติ 6.ภิกษุขอต่อคนปวารณา 7.ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน 8.ภิกษุวิกลจริต 9.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก 6 รูป) เที่ยวขอจีวรในกลุ่มภิกษุที่มีจีวรถูกโจรชิงไป หรือจีวรหาย ทั้ง ๆ ที่ภิกษุเหล่านั้น มีผู้ถวายจีวรแล้ว เป็นการขอหรือเรี่ยไรแบบไม่รู้จักประมาณ ได้ผ้ามากจนถูกหาว่าจะขายผ้าหรืออย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ถ้าคฤหัสถ์ปวารณาให้รับจีวรมากผืนเพื่อนำไปได้ตามใจ ก็รับได้เพียงผ้านุ่งกับผ้าห่มเท่านั้น รับเกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
องค์แห่งอาบัติ 1.ยินดีเกินกว่ากำหนด 2.ไม่มีเหตุเป็นต้นว่าผ้าเขาชิงเอาไปเสียหมด 3.ขอกับคนผู้ไม่ใช่ญาติ 4.ได้มาเป็นของตน พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้จึงเป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์(บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 160)
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุพูดทำนองขอไตรจีวรดีกว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
สิกขาบท: การขอ
ภิกขุง ปะเนวะ อุททิสสะ อัญญาตะกัสสะ คะหะปะติสสะ วา…
“อนึ่ง มีคฤหัสถ์ชายก็ดี คฤหัสถ์หญิงก็ดี ผู้มิใช่ญาติตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้น หรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังรูปให้ครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะอาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี.”
วิภังค์
บทว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่าท่านเจ้าข้า ท่านต้องการจีวรเช่นไร ผมจักจ่ายจีวรเช่นไรถวายท่าน.
อนาบัติ
1.ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ 2.ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ 3.ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น 4.ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน 5.เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก 6.ภิกษุวิกลจริต 7.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
ชายผู้หนึ่งพูดกับภริยาว่า จะถวายผ้าแก่พระอุปนันทะ เธอทราบจึงไปพูดให้เขาถวายจีวร อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าถวายจีวรอย่างที่เธอไม่ใช้ เธอก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เขาจึงติเตียนว่ามักมาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามกำหนดให้คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ให้ซื้อจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ถวายตนด้วยหมายจะได้ของดีๆ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
เข้าไปหาผู้ถวายจีวร 2 ราย ให้รวมกันหาจีวรที่ดี
สิกขาบท: การขอ ที่ 2
ภิกขุง ปะเนวะ อุททิสสะ อุภินนัง อัญญาตะกานัง คะหะปะตีนัง วา…
“อนึ่ง มีคฤหัสถ์ชายก็ดี คฤหัสถ์หญิงก็ดี ผู้มิใช่ญาติสองคนตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ ไว้เฉพาะภิกษุว่าเราทั้งหลายจักจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ เหล่านี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืนด้วยกัน,ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ ก่อน เข้าไปหาแล้วถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ขอท่านทั้งหลายจงจ่ายจีวรเช่นนั้นหรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ เหล่านี้ แล้วทั้งสองคนรวมกัน ยังรูปให้ครองจีวรผืนเดียวเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะอาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี.”
อนาบัติ
1. ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ 2.ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ 3.ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น 4.ภิกษุจ่ายด้วยทรัพย์ของตน 5.เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก 6.ภิกษุวิกลจริต 7.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
ชายสองคนพูดกันว่า ต่างคนต่างจะซื้อผ้าคนละผืนถวายพระอุปนันทะ เธอรู้จึงไปแนะนำให้เขารวมทุนกันซื้อผ้าชนิดนั้นชนิดนี้ เขาพากันติเตียนว่ามักมาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเข้าไป ขอให้คฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ มิได้ปวารณาไว้ก่อน ที่เขาตั้งใจจะต่างคนต่างซื้อจีวรถวายเธอ แต่เธอกลับไปขอให้เขารวมกันซื้อจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ โดยมุ่งให้ได้ผ้าดี ๆ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
ห้ามภิกขุทวงไตรจีวรจากคนที่รับอาสาซื้อจีวรมาถวายเกินสามครั้ง
สิกขาบท: ราชา
ภิกขุง ปะเนวะ อุททิสสะ ราชา วา ราชะโภคโค วา…
“อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร, ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษูนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน, ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร, ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่, พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล; ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใคร ๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมี หรือ? ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรือ อุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย, ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่าคนที่ท่่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น, ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว; ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล,ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า รูปต้องการจีวร ; ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี, ถ้าให้สำเร็จไม่ได้,พึงยืนนิ่งต่อหน้า 4 ครั้ง 5 ครั้ง 6 ครั้ง เป็นอย่างมาก; เธอยืนนิ่งต่อหน้า 4 ครั้ง 5 ครั้ง 6 ครั้ง เป็นอย่างมาก; ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้,การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี, ถ้าให้สำเร็จไม่ได้, ถ้าเธอพยายามให้ิยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ,เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์; ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้, ส่งทูตไปก็ได้ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ, บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด, ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่, ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน, ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย; นี้เป็นสามีจิกรรรมในเรื่องนั้น.”
อนาบัติ
1.ภิกษุทวง3 ครั้งยืน 6 ครั้ง ภิกษุทวงไม่ถึง 3 ครั้งยืนไม่ถึง 6 ครั้ง 2.ภิกษุไม่ได้ทวงไวยาวัจกรถวายเอง 3.เจ้าของทวงเอามาถวาย 4.ภิกษุวิกลจริต 5.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
มหาอำมาตย์ผู้อุปัฏฐากพระอุปนันทศากยบุตร ใช้ทูตให้นำเงินค่าซื้อจีวรไปถวายพระอุปนันทะ ท่านตอบว่าท่านรับเงินไม่ได้ รับได้แต่จีวรที่ควรโดยกาล เขาจึงถามหาไวยาวัจกร (ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์) ท่านจึงแสดงอุบาสกคนหนึ่ง ว่าเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย เขาจึงมอบเงินแก่ไวยาวัจกรแล้วแจ้งให้ท่านทราบ
ท่านก็ไม่พูดอะไรกับไวยาวัจกร แม้จะได้รับคำเตือนจากมหาอำมาตย์ซึ่งส่งทูตมา ขอให้ใช้ผ้านั้นเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่พูดอะไรกับไวยาวัจกร จนกระทั่งได้รับคำเตือนเป็นครั้งที่ 3 ขอให้ใช้ผ้านั้น จึงไปเร่งเร้าเอากับไวยาวัจกรผู้กำลังมีธุระ จึงต้องเข้าประชุมสภานิคม ซึ่งมีกติกาว่า ใครไปช้าจะต้องถูกปรับ 50 กหาปณะ แม้เขาจะแจ้งให้ทราบกติกาก็ไม่ฟัง คงเร่งเร้าเอาจนเขาต้องไปซื้อผ้ามาให้และไปถูกปรับเพราะเข้าประชุมช้า คนทั้งหลายจึงติเตียนว่าทำให้เข้าประชุมช้าต้องเสียค่าปรับ
พระผู้มีพระภาคทรงทราบและทรงติเตียน จึงบัญญัติสิกขาบทความว่า ถ้าเขาส่งทูตมาถวายค่าซื้อจีวร และเธอแสดงไวยาวัจกรแล้ว เธอจะไปทวงจีวรเอากับไวยาวัจกรได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ไปยืนนิ่ง ๆ ให้เขาเห็นไม่เกิน 6 ครั้ง ถ้าทวงเกิน 3 ครั้ง หรือไปยืนเกิน 6 ครั้ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์.
องค์แห่งอาบัติ 1.กัปปิยการกภิกษุแสดงเอง 2.ทูตบอกกัปปิยการกให้รู้แล้ว บอกภิกษุให้รู้ด้วย 3.พยายามคือทวงและยืนให้เกินกำหนด 4.ได้มาด้วยความพยายามนั้น พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 163)
วิภังค์สิกขาบทว่า : ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้วพึงทวง พึงเตือนสองสาม ครั้งว่า รูปต้องการจีวร ; อย่าพูดว่า จงให้จีวรแก่รูป จงนำจีวรมาให้รูป จงแลกจีวรให้รูป จงจ่ายจีวรให้รูป
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การให้ช่างทอจีวรดีกว่าผู้ที่จะถวายสั่ง
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 7
ภิกขุง ปะเนวะ อุททิสสะ อัญญาตะโก คะหะปะติ วา…
“อนึ่ง เจ้าพ่อเรือนก็ดี เจ้าแม่เรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ทอจีวรเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว่ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้วถึงความกำหนดในจีวรในสำนักของเขานั้นว่า จีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดีให้เป็นของที่ทอดีให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กของน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต เป็นนิสสัึคคิยปาจิตตีย์.”
อนาบัติ
1.ภิกษุขอต่อญาติ 2.ภิกษุขอต่อคนปวารณา 3.ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น 4.ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตนเอง 5.เจ้าเรือนใครจะให้ทอจีวรมีราคามาก ภิกษุให้ทอจีวรมีราคาน้อย 6.ภิกษุวิกลจริต 7.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระอุปนัันทศากยบุตร ทราบว่า ชายผู้หนึ่งสั่งภริยาให้จ้างช่างหูกทอจีวรถวาย จึงไปหาช่างหูก สั่งให้เขาทอให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่นเป็นต้น ด้ายที่ให้ไว้เดิมไม่พอ ช่างต้องมาขอด้ายจากหญิงนั้นไปเติมอีกเท่าตัว ชายผู้สามีทราบภายหลังจึงติเตียน พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทใจความว่า ภิกษุที่เขามิได้ปวารณาไว้ก่อน ไปหาช่างหูกให้ทออย่างนั้นอย่างนี้ ตนจะให้รางวัลบ้าง ครั้นพูดกับเขาแล้ว ให้แม้ของเพียงเล็กน้อยสักว่าบิณฑบาต ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การเก็บผ้าอัจเจกจีวรไว้เกินสมัยทำจีวร
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 8
ทะสาหานาคะตัง กัตติกะเตมาสิปุณณะมัง, ภิกขุโน ปะเนวะ…
“วันปุรณมีที่ครบ 3 เดือน แห่งเดือนกัตติกา ยังไม่มาอีก 10 วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวรพึงรับไว้ได้ ครั้นรับไว้แล้ว พึงเก็บไว้ได้จนตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาิจิตตีย์.”
วิภังค์
บทว่า ยังไม่มาอีก 10 วัน คือ ก่อนวันปวารณา 10 วัน.
ที่ชื่อว่า อัจเจกจีวร อธิบายว่า บุคคลประสงค์จะไปกองทัพก็ดี,บุคคลประสงค์จะไปแรมคืนต่างถิ่นก็ดี บุคคลเจ็บไข้ก็ดี สตรีมีครรภ์ก็ดี บุคคลยังไม่มีศรัทธา มามีศรัทธาเกิดขึ้นก็ดี บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใส มามีความเลื่อมใสเกิดขึ้นก็ดี ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่านิมนต์ท่านผู้เจริญมา ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา ผ้าเช่นนี้ชื่อว่าอัจเจกจีวร.
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นจีวรกาล คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้ท้ายฤดูฝน 1 เดือน เมื่อกรานกฐินแล้ว ได้ขยายออกไปเป็น 5 เดือน.
อนาบัติ
1.ภิกษุอธิษฐาน 2.ภิกษุวิกัป 3.ภิกษุสละให้ได้ 4.จีวรหาย 5.จีวรฉิบหาย 6.จีวรถูกไฟไหม้ 7.จีวรถูกชิงเอาไป 8.ภิกษุถือวิสาสะ 9.ในภายในสมัย 10.ภิกษุวิกลจริต 11.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตให้รับผ้าจำนำพรรษา ( ที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ก่อนออกพรรษา) แล้วเก็บไว้ได้ แต่ภิกษุบางรูปเก็บไว้เกินเขตจีวรกาบ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ให้รับผ้าจำนำพรรษาได้ก่อนออกพรรษา 10 วัน แต่ให้เก็บไว้เพียงตลอดกาลจีวร (ถ้าจำพรรษาครบ 3 เดือน เก็บได้หลังจากออกพรรษา 1 เดือน ถ้าได้กรานกฐิน เก็บต่อได้อีก 4 เดือน จึงเป็น 5 เดือน ) เก็บเกินกำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การอยู่ป่ามีภัยเก็บจีวรในบ้านเกิน 6 คืน
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 9
อุปะวัสสัง โข ปะนะ กัตติกะปุณณะมัง, ยานิ โข ปะนะ…
“อนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว จะอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่มีรังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ตลอดถึงวันเพ็ญเดือน 12 ปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร 3 ผืน ๆ ใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และปัจจัยอะไร ๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ 6 คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้นเว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติเป็นนิสสัคคิย ปาจิตตีย์.”
วิภังค์
คำว่า เสนาสนะป่า เป็นต้น ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่า ป่านั้นมีระยะไกล 500 ชั่วธนู เป็นอย่างน้อย. (ห่างหมู่บ้านประมาณ 25 เส้น = 1 กิโลเมตร : พระไตรปิฎก มจร.2/644/573)
ที่ชื่อว่า เป็นที่รังเกียจ คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน ของพวกโจรปรากฏอยู่.
อนาบัติ
1.ภิกษุอยู่ปราศ 6 ราตรี 2.ภิกษุอยู่ปราศไม่ถึง 6 ราตรี 3.ภิกษุอยู่ปราศ 6 ราตรีแล้วกลับมายังคามสีมา อยู่ แล้วหลีกไป 4.ภิกษุถอนเสียภายใน 6 ราตรี 5.ภิกษุสละให้ไป 6.จีวรหาย 7.จีวรฉิบหาย 8.จีวรถูกไฟไหม้ 9.จีวรถูกชิงเอาไป 10.ภิกษุถือวิสาสะ 11.ภิกษุได้รับสมมติ 12.ภิกษุวิกลจริต 13.ภิกษุอาทิกัมมิกะ
เรื่องต้นบัญญัติ
ภิกษุออกพรรษาปวารณาแล้ว ยังอยู่ในเสนาสนะป่า พวกโจรเข้าใจว่า “พวกภิกษุมีลาภ” ก็เข้าปล้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่ป่าเก็บจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในบ้าน ได้ ภิกษุจึงเก็บไว้ในบ้านเกิน 6 คืน จีวรหายบ้าง หนูกัดบ้าง จึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุอยู่ป่า เก็บจีวรผืนหนึ่งไว้ในบ้านได้ แต่จะอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ไม่เกิน 6 คืน ถ้าเกินไปต้อง นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้รับสมมติ (คือ สงฆ์สวดประกาศเป็นกรณีพิเศษ เช่น เจ็บป่วย)
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
ปาจิตตีย์ โอวาทวรรค สิกขาบทที่ 5
โย ปะนะ ภิกขุ อัญญาติกายะ ภิกขุนิยา จีวะรัง ทะเทยยะ…
“อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน เป็นปาจิตตีย์.”
อนาบัติ
1.ภิกษุณีผู้เป็นญาติ 2.ภิกษุแลกเปลี่ยน คือ เอาจีวรมีค่าน้อยแลกเปลี่ยนจีวรมีค่ามาก หรือเอาจีวรมีค่ามากแลกเปลี่ยนจีวรมีค่าน้อย 3.ภิกษุณีถือวิสาสะ 4.ภิกษุณีถือเอาเป็นของขอยืม 5.ภิกษุให้บริขารอื่นเว้นจีวร 6.ภิกษุให้แก่สิกขมานา 7.ภิกษุให้สามเณรี 8.ภิกษุวิกลจริต 9.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่่ต้องอาบัติ
เรื่องต้นบัญญัติ
ภิกษุรูปหนึ่งให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นแต่ของแลกเปลี่ยน ต้องปาจิตตีย์.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา
การเย็บจีวรให้แก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
ปาจิตตีย์ โอวาทวรรค สิกขาบทที่ 6
โย ปะนะ ภิกขุ อัีญญาติกายะ ภิกขุนิยา จีวะรัง สิพเพยยะ วา…
“อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์.”
อนาบัติ
1.ภิกษุเย็บเพื่อภิกษุณีผู้เป็นญาติ 2.ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดีซึ่งบริขารอื่นเว้นจีวร 3.ภิกษุเย็บเพื่อสิกขมานา 4.ภิกษุเย็บเพื่อสามเณรี 5.ภิกษุวิกลจริต 6.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ
พระอุทายีเย็บจีวรให้นางภิกษุณี มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเย็บเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เย็บจีวรเพื่อนางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์.
ธัมมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยการล่วงไปแห่งเรา