Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

Jataka Parijata 161 171

คัมภีร์ปาริชาตชาดก บทที่ ๗ ว่าด้วยราชาโชค โศลกที่ ๑๖๑ -๑๗๑

โศลกที่ ๑๖๑

            ในชะตาผู้ใดได้อำศาวตารโยค จะมีรูปร่างลักษณะสง่างามผ่าเผยอย่างพระราชา จะมีชื่อเสียงโด่งดัง จะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ชอบหาความสงบสุข ธรรมะธัมโม เป็นคนรอบรู้และคงแก่เรียน มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้ที่มีความพยายามชักชวนหรือบังคับให้คนบำเพ็ญความดี จะช่วยปราบยุคเข็ญแห่งความชั่วต่างๆ เป็นคนไม่มีราคะจริต เป็นผู้รู้และเลื่อมใสในคัมภีร์พระเวทและปรัชญา ฯ

                                         หริหรพรหมโยค

โศลกที่ ๑๖๒

            ท่านกำหนดกฎเกณฑ์ของผู้ที่จะได้ ทริพรหมโยค ไว้ ๓ ประการ คือ

๑.มีศุภเคราะห์อยู่ในภพที่ ๒-๖ และ ๑๒ จากเจ้าเรือนของภพที่ ๒ ของลัคนา

๒.มีพฤหัสบดี จันทร์และพุธ อยู่ในภพที่ ๔-๘ และ ๙ จากเจ้าเรือนของภพที่ ๗ จากลัคนา

๓.มีอาทิตย์ ศุกร์และอังคาร อยู่ในภพที่ ๔-๑๐ และ ๑๑ จากเจ้าเรือนของลัคนา

หมายเหตุ

คำว่า หริหรพรหม หมายความว่า มีรูปร่างหรือคุณงามความดีเสมือนกับพระวิษณุ พระศิวะและพระพรหมรวมกัน

ในหัวข้อที่ ๒ ของโศลกนี้ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษหรือพิจิก ศุกร์ก็จะเป็นเจ้าเรือนของภพที่ ๗ จากลัคนา  ฉะนั้นพุธในชะตาจะอยู่ในภพหนึ่งภพใด คือในภพที่ ๔-๘ และ ๙ จากศุกร์ไม่ได้เลย เพราะระยะเชิงมุมของพุธและศุกร์อยู่ห่างกันเกิน ๗๖ องศาไม่ได้

ในหัวข้อที่ ๓ ของโศลกนี้  ถ้าพุธเป็นเจ้าเรือนของลัคนา คือลัคนาสถิตราศีเมถุนหรือกันย์ อาทิตย์จะอยู่ในภพที่ ๔-๑๐ และ ๑๑ จากพุธไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะอาทิตย์กับพุธห่างกันได้ไม่เกิน ๒๘ องศา

 

โศลกที่ ๑๖๓

            ในชะตาผู้ใดได้หริหรพรหมโยค จะเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับคัมภีร์พระเวทและไสยศาสตร์ จะมีวาจาสัตย์ จะมีความผาสุกทุกประการ เป็นที่รักเคารพยินดีของผู้ที่ได้มาพบเห็นคบค้าสมาคม มีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยนเต็มไปด้วยความเมตตาปราณี มีชัยชนะต่อศัตรู เต็มไปด้วยคุณงามความดี เป็นที่พึ่งและเป็นมิตรของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง ฯ

                                                      นาภสาทิโยค

โศลกที่ ๑๖๔

            คำว่านาภสาทิโยคเป็นชื่อโยครวมหลายชนิดด้วยกัน คำนี้หมายความว่าฟ้าหรือสวรรค์ โยคของนาภสาทิแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆได้ ๔ ประการ คือ อากฤติโยคมี ๒๐ ชนิด สังขยาโยคมี ๗ ชนิด  อาศรัยโยคมี ๓ ชนิด และทลโยคมี ๒ ชนิด รวมทั้งสิ้น ๓๒ ชนิดด้วยกัน

สำหรับอากฤติโยคที่มี ๒๐ ชนิด มีชื่อดังต่อไปนี้ อากฤติหมายความว่าการกระทำหรือกริยา ส่วนจะดีหรือร้ายนั้นแล้วแต่ดาวที่ทำให้เกิดโยค

๑.ยูปโยค     ยุป แปลว่าเสาพิธีสำหรับบูชายัญ อาวุธหรือธงที่จับมาได้จากข้าศึก และตั้งไว้เป็นเกียรติในที่สาธารณะ รางวัลที่ได้ในการแข่งขันกีฬา

๒.อิษุโยค     อิษุ แปลว่า  ลูกศร ลูกธนู หรือบางทีเรียกศรโยค

๓.ศกติโยค    ศกติ หรือ ศักติ แปลว่าหอก กำลังแรง ความกล้าหาญ ลูกศรเหล็ก เดช หรือชายาของเทวา

๔.ยวโยค  ยว แปลว่า ข้าว เมล็ดข้าว ความเร็ว ฝีเท้า

๕.ทัณฑโยค   ทัณฑ แปลว่า ไม้ การทำโทษ การปรับ การริบ การจำขังหรือประหารชีวิต นามของพระยม ก้านของไบไม้ ดอกไม้หรือผลไม้

๖.คทโยค  บางทีเขียนว่า คทา แปลว่า ตระบอง พลอง โรค พยาธิ ความป่วยไข้ ภาษา

๗.สมุทรโยค  สมุทรแปลว่าทะเล อันประทับหรือผนึกเรียบร้อยแล้ว สาคร มหาชลธี ห้วงน้ำใหญ่

๘.ฉัตรโยค   ฉัตรแปลว่าร่ม เครื่องสูงสำหรับกษัตริย์ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง

๙.อรรธจันทรโยค  อรรธจันทร์ แปลว่า พระจันทร์ครึ่งซีก มือที่งอในท่าที่จะทำการจับกุม แววหางนกยูง ธนูหรือลูกศรที่มีปลายพระจันทร์ครึ่งซีก

๑๐.ศกฏโยค  ศกฏ แปลว่า เกวียน ระแทะ หรือปีศาจจำพวกแทตย์

๑๑.อัมพุชโยค  อัมพุช แปลว่า ดอกบัว สิ่งที่เกิดในน้ำ ศรของพระอินทร์ บางทีเรียกกมลโยค

๑๒.ปักษิณโยค  ปักษิณ แปลว่า นก วิหค ศร วันเพ็ญ เวลา หนึ่งคืนกับสองวัน หรือ ๖๐ ชั่วโมง นางปีศาจตนหนึ่ง

๑๓.เนาโยค  เนา แปลว่า หรือ เภตรา  สำเภา

๑๔.จักรโยค  จักร แปลว่า อาวุธชนิดหนึ่งรูปกลมๆเช่นจักรของพระนารายณ์ นอกนั้นยังแปลได้อีกมากมายหลายประการ เช่น ห่านเทศ กองทัพ ประเทศ คณะ สมุหะ พวก เสนา ลูกล้อ จักรของช่างทำหม้อ โรงหีบน้ำมัน น้ำวน วงกลม ปูมสำหรับคำนวณวันเกิดหรือเหตุการณ์ สะดือ ขอบฟ้า

๑๕.วัชรโยค  วัชร แปลว่า อาวุธของพระอินทร์ แข็ง อันแทงไม่ทะลุ อันมีง่าม สายฟ้าหรืออัศนิบาต ศรพระอินทร์ เพชร เด็กๆหรือลูกศิษย์

๑๖.หลโยค  หล แปลว่า ไถ สุรา พสุธา น้ำ

๑๗.การมุกโยค  การมุก แปลว่า ศร ธนู ต้นไม้ไผ่ การทำงานเสร็จสิ้นไป บางทีเรียกว่าธนุรโยค

๑๘.กูฏโยค   กูฏ แปลว่า กับสำหรับดักกวาง จั่น  การให้ทุกขเวทนา เผาไหม้ แนะนำ ปรึกษา หารือ บ้าน เรือน ที่อาศัย ยอดเขา โอ่งน้ำ ฆ้อน ตลุมพุก ผาน ตัวไถ อาวุธอันซ่อนเร้น อาวุธลับ มายา กรรไกร การลวง

๑๙.วาปีโยค   วาปี แปลว่า บ่อน้ำ หนองน้ำ สระน้ำ ทะเลสาป

๒๐.ศฤงคาฏกโยค  ศฤงคาฏก แปลว่า ทาง ๔ แยก จตุรัส สี่กั๊ก หนทาง  ๔ แพร่ง ฯ

โศลกที่ ๑๖๕

อาศรัยโยค มี ๓ ชนิดด้วยกัน คำว่าอาศรัย หมายถึงที่อยู่หรือผู้ปกครอง

๑.รัชชุโยค   รัชชุ   แปลว่า   เชือก ป่าน

๒.นลโยค    นล แปลว่า ต้นอ้อ ไม้ซาง บัว กลิ่น การแผ่รังสี การส่งแรง มัดหรือกักขัง

๓.มุสลโยค  มุสล แปลว่า สากตำข้าว

ทลโยค มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน  ทล หมายความว่า แบ่ง แยก การตัด การผ่าออกเป็น ๒ ซีก เช่น ผ่าไม้ไผ่ เป็นต้น

๑.สรักโยค    คำว่า สรก หรือ สรัก แปลว่า พวงมาลัย พวงหรีด พวงดอกไม้ บางทีเรียกมาลาโยค

๒.โภคินโยค   คำว่า โภคิน แปลว่า งู ผู้เสพ นฤบดี ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าแคว้น บางทีก็เรียกสรรปโยค

สังขยาโยค มีอยู่ ๗ ชนิด  คำว่า สังขยา หมายถึงการนับ หรือจำนวน

๑.วีณาโยค   คำว่า วีณา แปลว่า พิณ บางทีเรียก วัลลกีโยค

๒.วรทามโยค   คำว่า วรทาม แปลว่า เส้นเชือกอย่างดี ด้ายหรือป่านอย่างดี

๓.ปาศโยค     คำว่า ปาศ แปลว่า เชือกบาศ บ่วงบาศ บ่วงรัดคอ บ่วงแขวนคอ  เครื่องพันธนาการ  โซ่  ตรวน เชือกล่ามสัตว์

๔.เกทารโยค  คำว่า เกทาร แปลว่า ทุ่งนา ทุ่งหญ้า เกษตร ทุ่ง ท้องทุ่ง ภูเขา อ่างแก้ว นามพระศิวะ

๕.ศูลโยค   คำว่า ศูละ แปลว่า หอก อาวุธ เหล็กแหลม ธงสามง่าม แหลน มฤตยู  หญิงแพศยา ความเจ็บปวด การเสียบหรือแทงให้ทะลุตลอด การเบียดเบียน

๖.ยุคโยค   คำว่า ยุค  แปลว่า แอกสำหรับเทียมวัวเทียมควาย การละเว้น สมัย เครื่องพันธนาการ มาตราวัดความยาวประมาณ ๔ ศอก หรือ ๑ วา

๗.โคลโยค   คำว่า โคล แปลว่า สิ่งที่มีรูปทรงกลม  ลูกคลี ลูกบอล โลก โอ่งน้ำ หมึก ชื่อของพระนางทุรคา ฯ

 

โศลกที่ ๑๖๖

             กฎเกณฑ์ของอาศรัยโยค ๓ ประการ คือ

๑.รัชชุโยค        ดาวพระเคราะห์ทุกดวงอยู่ในจรราศีทั้งสิ้น

๒.มุสลโยค       ดาวพระเคราะห์ทุกดวงอยู่ในสถิระราศีทั้งสิ้น

๓.นลโยค         ดาวพระเคราะห์ทุกดวงอยู่ในอุภโยทัยราศี

               กฎเกณฑ์ของทลโยคมี ๒ ประการ คือ

๑.สรักโยค         ดาวศุภเคราะห์ทั้งหมดอยู่ในภพเกนทระกับลัคนา

๒.สรรปหรือโภคินโยค มีดาวบาปเคราะห์ทั้งหมดอยู่ในภพเกนทระกับลัคนา สำหรับศุภเคราะห์ในที่นี้ไม่คิดจันทร์ เพราะฉะนั้นศุภเคราะห์และบาปเคราะห์ก็มีจำนวนอย่างละ ๓ เท่าๆกัน ฯ

 

โศลกที่ ๑๖๗

             ท่านผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า อาศรัยโยคกับพวกโยคที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นโยคอันเดียวกันคือจากอากฤติโยค มียวโยค กมล หรืออัมพุชโยค วัชรโยค และปักษิณโยค  จากสังขยาโยค มีโคลโยค ส่วนทลโยคที่กล่าวไว้ ๒ ประการนั้น หมายถึงดาวพระเคราะห์อยู่ในภพเกนทระกับลัคนา ซึ่งอาจไปพ้องกับโยคอื่นๆได้หลายประการ ฯ

 

โศลกที่ ๑๖๘

นักโหราศาสตร์สมัยก่อนให้คำจำกัดความของโยคต่างๆไว้ดังนี้

๑.คทโยค หรือ คทาโยค คือการที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในภพเกนทระที่ติดกันจากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้ ๔ ประการ  คือการที่ดาวพระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑ และ ๔,๔ และ ๗ ,๗ และ ๑๐ หรือ ๑๐ และ ๑ เป็นต้น ไม่จำกัดว่าอยู่ภพละกี่ดวง แต่ทั้ง ๗ ดวง ต้องอยู่ตามที่กล่าวมานี้ ใน ๑๒ ราศีของลัคนาก็มี ๔๘ โยคด้วยกัน

๒.ศกฏโยคหรือศักฏะโยค คือการที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในภพที่ ๑ และ ๗ จากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้ประการเดียวเท่านั้น ใน ๑๒ ราศีของลัคนาก็มีได้ ๑๒ โยคด้วยกัน

๓.ปักษิณหรือวิหคโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในภพที่ ๔ และภพที่ ๑๐ จากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้ประการเดียวเท่านั้น ใน ๑๒ ราศีของลัคนาก็มีได้ ๑๒ โยคด้วยกัน

๔.ศฤงคาฏกะโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในภพที่ ๑ ภพที่ ๕ และในภพที่ ๙ จากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้ประการเดียวเท่านั้น ใน ๑๒ ราศีของลัคนาก็มีได้ ๑๒ โยคด้วยกัน

๕.ทลโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในภพที่เป็นตรีโกณแก่กันเอง แต่ไม่เกี่ยวกับภพที่ลัคนาสถิตอยู่ เช่นอยู่ในภพที่ ๒-๖-๑๐ อยู่ในภพที่ ๓-๗-๑๑ และอยู่ในภพที่ ๔-๘-๑๒ จากลัคนา เป็นต้น แต่ละลัคนาก็มีได้ ๓ โยค ใน ๑๒ ราศีของลัคนาก็สามารถมีได้ ๓๖ โยคด้วยกัน ฯ

 

โศลกที่ ๑๖๙

 ๑.วัชรโยค  คือการที่มีศุภเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑ และภพที่ ๗ จากลัคนา และมีบาปเคราะห์อยู่ในภพที่ ๔ และภพที่ ๑๐ จากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้โยคเดียวเท่านั้น ฉะนั้น ๑๒ ลัคนาก็มีได้ ๑๒ โยค มีข้อที่น่าคิดอยู่ว่าถ้าลัคนากุมพุธและศุกร์อยู่ว่า ถ้าลัคนากุมพุธและศุกร์อยู่เมษ จันทร์และพฤหัสบดีอยู่ตุลย์  เสาร์อยู่กรกฏ และอังคารอยู่มังกร ตำแหน่งอาทิตย์จะอยู่ภพ ๔ และภพ ๑๐ ไม่ได้ และอยู่เมษก็ไม่ได้ ดังนั้นอาทิตย์จะสามารถอยู่ได้เพียงสองราศีคือพฤษภและมิน

๒.ยวโยค เป็นโยคที่กลับกันกับวัชรโยค คือมีบาปเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑ และภพที่ ๗ จากลัคนา

และมีศุภเคราะห์อยู่ในภพที่ ๔ และภพที่ ๑๐ จากลัคนา ใน ๑๒ ลัคนาก็มีเพียง ๑๒ โยคเช่นกัน และตำแหน่งของอาทิตย์ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน

๓.อัมพุชโยคหรือกมลโยค คือการที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ อยู่ในภพเกนทระทั้งหมดทุกภพ แต่ละลัคนาก็มีได้โยคเดียว ๑๒ ลัคนาก็มีได้ ๑๒ โยคเช่นกัน

๔.วาปีโยค คือการที่พระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่ในผณประทั้ง ๔ หรือในอาโปกลิมะทั้ง ๔ ภพจากลัคนา แต่ละลัคนาก็มีได้ ๒ ประการ ใน ๑๒ ลัคนาก็สามารถมีได้ ๒๔ โยคด้วยกัน ฯ

 

โศลกที่ ๑๗๐

๑.ยูปะโยค  คือมีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑-๒-๓ และ ๔ จากลัคนา

๒.อิษุหรือศรโยค  คือมีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๔-๕-๖ และ ๗ จากลัคนา

๓.ศักติโยค  คือมีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๗-๘-๙ และ ๑๐ จากลัคนา

๔.ทัณฑะโยค  คือมีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑๐-๑๑-๑๒ และ ๑ จากลัคนา

ตามที่กล่าวมาทุกๆโยคใน ๔ ภพ จากลัคนานั้นต้องมีดาวทุกๆภพ จะเห็นได้ว่าแต่ละลัคนาก็มีได้โยคเดียวเท่านั้น ฯ

โศลกที่ ๑๗๑

๑.เนาโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่เรียงติดต่อกันทั้ง ๗ ราศีตั้งต้นจากลัคนา

๒.กูฏโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่เรียงติดต่อกันทั้ง ๗ ราศีตั้งต้นจากภพที่ ๔ ของลัคนา

๓.ฉัตรโยค คือการที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่เรียงติดต่อกันทั้ง ๗ ราศีตั้งต้นจากภพที่ ๗ ของลัคนา

๔.จาปโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่เรียงติดต่อกันทั้ง ๗ ราศีตั้งต้นจากภพที่ ๑๐ ของลัคนา

๕.อรรถจันทรโยค คือ การที่ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ดวงอยู่เรียงติดต่อกันทั้ง ๗ ราศี โดยไม่ตั้งต้นจากภพเกนทระกับลัคนา คือตั้งต้นจากผณประ หรือ อาโปกลิมะภพจากลัคนา หรือจะพูดให้ง่ายๆคือตั้งต้นจากภพที่ ๒-๓-๕-๖-๘-๙-๑๑ หรือ ๑๒ จากลัคนา เพราะฉะนั้นในลัคนาแต่ละราศีก็มีได้ ๘ ประการ และในลัคนาทั้ง ๑๒ ราศีก็มีได้ ๙๖ ประการ ส่วนในเนาโยค กูฏโยค  ฉัตรโยค  จาปโยค มีได้เพียงโยคเดียวต่อลัคนาในราศีหนึ่งราศีใด ฯ