Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

secret Of Navamasa 5 800

 

เมื่อเราได้ทำความรู้จักทฤษฎี ราศีตุลยนวางศ์ และ นวางศ์ดุลยราศี ไปแล้ว ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ในทุกๆวรรคของดวงชาตา ไม่ว่าจะเป็น โหรา ตรียางค์ (ทเรกณะ) สัปตางศะ ฯลฯ หรือโดยรวมแล้วเราจะเรียกทฤษฎีนี้ว่า “ภวะ สุจกะ นวางศ” (भाव सूचक नवांश ) สุจกะ หมายถึงการบ่งชี้ ซึ่งรวมความว่า นวางศ์เป็นตัวบ่งชี้ถึงเรือนและภพ  ซึ่งโดยหลักโหราศาสตร์ทั่วไป จะกล่าวถึง ภพหรือเรือนในสองลักษณะคือ ภพหรือเรือนชาตาในความหมายเท่ากับราศี คือ ขอบเขตและระยะของราศีกับภพเท่ากัน เป็นสิ่งเดียวกัน และไม่แบ่งแยกกัน กับอีกความหมายหนึ่ง ภพหรือเรือนชาตา ไม่ใช่อันเดียวกับราศี หมายความว่า มีภวะจักรแยกต่างหากจากราศีจักร  และขอบเขตของทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน ดังนั้น ภวะ สุจกะ นวางศ จึงให้ความหมายในแบบแรก คือ นวางศ์ที่เป็นเดียวกับภพ หรือเรือนชาตา

สำหรับตอนนี้เราจะมาศึกษาเจาะลึกลงไปอีกในเรื่องเทคนิคการใช้ ทฤษฎี ราศีตุลยนวางศ์ และ นวางศ์ดุลยราศี ซึ่งในตอนนี้เราจะเรียกรวมๆว่า “ทฤษฎี ภวะ สุจกะ นวางศ

นวางศ์จักรนั้น มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งสำหรับการพยากรณ์เกี่ยวกับความเป็นจริงที่หลากหลายในชีวิตของคนๆหนึ่ง และได้นำมาแสดงเป็นโศลกที่สำคัญต่างๆสำหรับการวินิฉัยดวงชาตา ซึ่งได้มาจากคัมภีร์โหราศาสตร์มาตรฐานฉบับต่างๆ เช่น คัมภีร์ พฤหัต ชาดก, คัมภีร์ปาริชาติ ชาดก ,คัมภีร์เทศะ มฤคะชาดก,และนาฑิ ครนถะ(คัมภีร์ของทมิฬ นาฑู) เช่น ธรุวะ นาฑิ และเทวะ เกลารัม ฯลฯ เป็นต้น  ซึ่งในบทนี้เป็นการขยายความเทคนิคเฉพาะของทฤษฎี “ภวะ สุจกะ นวางศ” เพื่อสำหรับการนำไปใช้ในการพยากรณ์ดวงชาตา

 

 

ก.ราศี-ตุลย-นวางศะ

คัมภีร์ธรุวะ นาฑิ เป็นคัมภีร์ทางโหราศาสตร์โบราณที่สำคัญมากคัมภีร์หนึ่ง ของแคว้นทมิฬ นาฑู ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จักคัมภีร์นี้ โดยต้นฉบับเป็นอักษรเขียนด้วยลายมือโบราณ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์หอสมุดอักษรโบราณของเมืองเจนไน-มัทราส) โดยคัมภีร์เล่มนี้มี 42 บท มีเนื้อหามากถึง 250,000 โศลก รจนาโดย พระฤาษีไชยะ มุนี ซึ่งท่านจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการกล่าวถึงดวงชาตาต่างๆในคัมภีร์ของท่านดังนี้....

“เจ้าชาตาถือกำเนิดในลัคนาราศีกันย์ ,โหราของดาวอาทิตย์,ตรียางค์ของราศีมังกร,นวางศ์ของราศีพฤษภและในตฤมศางศะของดาวพฤหัส”

อธิบาย.- ปกติโหราจารย์ในปัจจุบันมักจะคุ้นเคยในการอ้างอิงตำแหน่ง(องศา)ของลัคนาจากดวงชาตา แต่สำหรับท่านไชยะ มุนี มักจะอธิบายตำแหน่งของลัคนาโดยวิธีการแบบโหรโบราณดังโศลกที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเราสามารถกระจายออกมาเพื่อคำนวนหาองศาของลัคนาได้ดังนี้

(1) โหรา ของดาวอาทิตย์ คือมีระยะองศาระหว่าง 5.15 -6.00 องศา (โหรา คือการแบ่งราศีออกเป็นสองส่วน ส่วนละ 15 องศา โดยมีอาทิตย์และจันทร์สลับกันครองในแต่ละโหรา)

(2)ตรียางค์ของราศีมังกร คือ มีระยะองศาระหว่าง 5.10-5.20 องศา

(3)ตฤมศางศะของดาวพฤหัส คือ มีระยะองศาระหว่าง 5.12-5.20 องศา หากเทียบกับโหราและตรียางค์ จากข้อที่(1)และ (2) ระยะองศาจะเหลือแคบลง หรือระหว่าง 5.15-5.20 องศา

(4)นวางศ์ของราศีพฤษภ คือ มีระยะองศาระหว่าง 5.13.20-5.16.40 องศา หากเทียบกับโหราและตรียางค์ ดังนั้นองศาจะเหลือแคบลง หรือระหว่าง 5.15.00-5.16.40 องศา

ดังนั้นองศาของลัคนาก็จะอยู่ระหว่าง 1 องศา 40 ลิปดา หรือ ลัคนาสถิตย์ในครึ่งที่ 2 ของนวางศ์ราศีพฤษภ ซึ่งเป็นนวางศ์ลัคน์

 

“ ในนวางศ์จักรนั้น ให้จดจำเอาไว้ว่า ราศีนวางศ์ในแต่ละนวางศ์นั้น จะสถิตด้วยดาวเคราะห์ทั้ง 7 และลัคนา และจำเอาอีกไว้ว่าภพใดเรือนใดในจักราศี จะตรงกับราศีนวางศ์ในนวางศ์จักร  ซึ่งแต่ละดาวเคราะห์จะมีชื่อเรียกพิเศษเฉพาะ ตามลักษณะของเรือนที่ดาวเคราะห์นั้นๆสถิตย์ในนวางศ์จักรที่ตรงกับในราศีจักร โดยทั้งหมดนี้เรียกว่า ภวะ สุจกะ นวางศ

ดวงชาตาตัวอย่างด้านล่างนี้ จะเป็นการอธิบายตามโศลกข้างต้น

(1)ดาวอาทิตย์สถิตในราศีมีนในราศีจักรและในนวางศ์ราศีธนู(ในนวางศ์จักร) ซึ่งราศีธนูเป็นเรือนที่ 4 (สุขะภวะ,เรือนพันธุ)ของราศีจักร ดังนั้นดาวอาทิตย์จึงเรียกเป็น “สุขะอัมศะ-ยุกตะ” ( युक्त –ยุกตะ-การเชื่อมกัน,ร่วมกัน) หมายความว่า ดาวอาทิตย์ในราศีจักรสถิตในเรือนที่ 7 (ปัตนิ)แต่ก็เป็นตัวเชื่อมไปถึงเรือนที่ 4 หรือ สุขภวะ(เรือนพันธุ) ในนวางศ์จักร

(2)ดาวศุกร์ในนวางศ์ราศีกุมภ์ ซึ่งตรงกับเรือนที่ 6 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “ษัษฐอัมศะ-ยุกตะ” หมายความว่าดาวศุกร์ที่อยู่เรือนที่ 7ในราศีจักรมีความสัมพันธ์กับเรือนที่ 6 (เรือนอริ)ในนวางศ์จักร

(3)ดาวพุธในราศีเมษและนวางศ์พฤษภ ซึ่งตรงกับเรือนที่ 9 ในราศีจักรจึงเรียกเป็น “ภาคยะอัมศะ-ยุกตะ” (ภาคยะ= เรือนศุภะ)

(4)ดาวเสาร์ในราศีพฤษภและนวางศ์สิงห์ ซึ่งตรงกับเรือนที่ 12 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “วยายะอัมศะ-ยุกตะ” (วยายะ= เรือนวินาศ)

(5)ดาวเกตุ(สากล)ในราศีพฤษภและนวางศ์พฤษภ (วรโคตรนวางศ์)  ซึ่งตรงกับเรือนที่ 9 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “ภาคยะอัมศะ-ยุกตะ”

(6)ดาวพฤหัสในราศีสิงห์และนวางศ์สิงห์ (วรโคตรนวางศ์)  ซึ่งตรงกับเรือนที่ 12 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “วยายะอัมศะ-ยุกตะ”

(7)ดาวจันทร์ในราศีธนูและนวางศ์ธนู (วรโคตรนวางศ์)  ซึ่งตรงกับเรือนที่ 4 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “สุขะอัมศะ-ยุกตะ” (สุขะ= เรือนพันธุ)

(8)ดาวอังคารในราศีพิจิกและนวางศ์กรกฏ(เป็นนิจในนวางศ์) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 11 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “ลาภะอัมศะ-ยุกตะ” (ลาภะ= เรือนลาภะ)

(9)ดาวราหูในราศีพิจกและนวางศ์พิจิก (วรโคตรนวางศ์)  ซึ่งตรงกับเรือนที่ 3 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “วิกรมอัมศะ-ยุกตะ” (วิกรมะ -กล้าหาญ = เรือนสหัสชะ)

(10)ลัคนาในราศีกันย์และนวางศ์พฤษภ ซึ่งตรงกับเรือนที่ 9 ในจักราศีดังนั้นจึงเรียกเป็น “ภาคยะอัมศะ-ยุกตะ”

 

การเรียกชื่อเรือนในโหราศาสตร์ระบบนาฑิ จะเรียกดังนี้

เรือนที่ 1. लग्न ลัคนา , โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า ตนุ

เรือนที่ 2. वित्त วิตตะ(ร่ำรวย) หรือ ธนะ धन (เงินทอง) ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า กดุมภะ

เรือนที่ 3 विक्रमวิกรม (กล้าหาญ) ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า สหัชชะ

เรือนที่ 4 सुख สุขะ (สุข), โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า พันธุ

เรือนที่ 5 पुत्र ปุตระ (ลูก) ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า ปุตตะ

เรือนที่ 6 षाष्ठ ษัษฐะ (ลำดับที่หก) ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า อริ

เรือนที่ 7 भार्या ภรรยา ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า ปัตนิ

เรือนที่ 8 निधान นิธนะ(ตาย)หรือ रन्ध्र รันธระ(หลุม) ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า มรณะ

เรือนที่ 9 भाग्य ภาคยะ(โชค) , โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า ศุภะ

เรือนที่ 10 कर्म กรรมะ,โหราศาสตร์ไทยจะเรียกเหมือนกันว่า กรรมะ

เรือนที่ 11 कर्म ลาภะ ,  โหราศาสตร์ไทยจะเรียกเหมือนกันว่า ลาภะ

เรือนที่ 12 व्यय วยายะ (การหลุดพ้น) โหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่า วินาศ

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นชื่อเรียกพิเศษเฉพาะตัวสำหรับนวางศ์ทั้งสิบสองนวางศ์ ตามตำแหน่งที่ตรงกับเรือนชาตาในราศีจักร ซึ่งรวมเรียกว่า”ภวะ สุจกะ นวางศ” ซึ่งชื่อเรียกเฉพาะ ตามข้างต้นนี้จะพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในตำราโหราศาสตร์มาตรฐานต่างๆทั่วไป แต่ก็ยังมีกล่าวถึงบ้าง อาทิเช่น

  1. คัมภีร์พฤหัต ชาดก บรรพที่ 7 โศลกที่ 24 เรื่อง ลัคนาอัมศะและนิธนะอัมศะษัษฐี
  2. คัมภีร์ปาริชาต ชาดก บรรพที่ 5 โศลกที่ 82 เรื่อง นิธนะอัมศะษัษฐีและรันธระอัมศะ
  3. คัมภีร์ภวะ ปะกาศิกะ บรรพที่ 5 โศลกที่ 75 เรื่อง ธนะอัมศะษัษฐี
  4. คัมภีร์สันธาณ ทีปิกา โศลกที่ 12 เรื่อง ปุตรามะเส

นอกจากนี้ก็จะยังมีการแบ่งประเภทชื่อมีชื่อพิเศษเฉพาะของนวางศ์ที่ตรงกับเรือนเกณฑ์(เรือน 1,4,7,10)หรือเรือนตรีโกณ (เรือน 5และ 9) คัมภีร์ธรุวะ นาฑิ ได้กล่าวไว้ดังนี้

“ราศีเมษ-ถ้าหากนวางศ์ราศีที่ดาวศุกร์สถิตตรงกับเรือนเกณฑ์ในราศีจักร จะกลายเป็น ราชาโยค”

ส่วนคัมภีร์เทวะ เกลาลัม ก็ได้กล่าวไว้คล้ายกันดังนี้

“ในมุมเกณฑ์ของดวงนวางศ์ จะนำมาซึ่งอำนาจแห่งราชาให้กับเจ้าชาตา”

อธิบาย-เรื่องราชาโยค ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้บ่อยมากที่สุดในโหราศาสตร์ภารตะ โดยราชาโยค จะมีเกณฑ์ของดาวเคราะห์ต่างๆในดวงชาตา สถิตในตำแหน่งที่ให้คุณ และมีลักษณะหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในแต่ละ กฏเกณฑ์ของราชาโยค แต่จะให้ผลดีเสมอเสมอแก่ดวงชาตานั้นๆ  โดยจะมีลักษณะให้ความสุข (ดุจราชา) ให้อำนาจ (ดุจราชา) ให้ทรัพย์สิน (ดุจราชา) และให้ขอบเขต (อาณาจักร) หรือหากจะเทียบกับดวงชาตาในปัจจุบัน ก็จะหมายถึง การเป็นเจ้าของกิจการ (ซึ่งมีอำนาจ ทรัพย์สินและขอบเขตการปกครองในกิจการของตน) การเป็นเจ้าของที่ดิน หรือ การเป็นข้าราชการที่ใช้อำนาจรัฐ (อำนาจแห่งราชา) เช่น ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ หรือการเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือ เป็นตัวแทนของปวงชนนั้นๆ

 

 

ชื่อพิเศษเฉพาะของนวางศ์ต่างๆ

  • “ดาวอาทิตย์สถิตย์ใน “สิงหาอัมศะ หรือสิงหามศะ” (นวางศ์สิงห์) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 2 ได้ชื่อว่า “วิตตามศะ”

อธิบาย- คือ(1)ในราศีจักร-ลัคนาราศีเมษ มีดาวอาทิตย์สถิตราศีพฤษภเกาะนวางศ์สิงห์(นวางศ์ลูกที่ 8) ซึ่งราศีพฤษภเป็นเรือนที่ 2 ของลัคน์เมษ จึงได้ชื่อว่า "วิตตามศะ" (2)ราศีมิถุน (3)ราศีกรกฏ(4)ราศีสิงห์ (5)ราศีตุลย์ (6)ราศีพิจิก(7)ราศีธนูและ(8)ราศีกุมภ์  เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งของดาวอาทิตย์ในนวางศ์จักรจะเป็นตำแหน่งเรือนของตนเอง(เกษตร) ส่วนในลัคนาราศีกรกฏ ดาวอาทิตย์ในเรือนที่ 2(ราศีสิงห์) จะได้ตำแหน่งวรโคตรนวางศ์ ซึ่งตำแหน่งพิเศษของดาวอาทิตย์ที่เรียกว่า “วิตตามศะ” นี้จะแสดงผลพิเศษในเรื่องการเงินของเจ้าชาตาในลัคนาต่างๆ ซึ่งหากมีดาวอาทิตย์สถิตย์ตามกฏเกณฑ์ข้างต้น

    • “ดาวจันทร์สถิตย์ใน “มกรามศะ” (นวางศ์มังกร) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 7 ได้ชื่อว่า “ภรรยามศะ หรือ เกณฑรามศะ” อธิบาย-ตามหลักวิธีการตามข้อแรก
    • “ดาวอังคารสถิตย์ใน “มิถุนามศะ” (นวางศ์มิถุน) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 12 ได้ชื่อว่า “วยายามศะ
    • “ดาวพุธสถิตย์ใน “วฤศจิกามศะ” (นวางศ์พิจิก) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 5 ได้ชื่อว่า “ปุตรามศะ หรือ”โกณามศะ” (โกณา หรือ ตรีโกณ)
    • “ดาวพฤหัสสถิตย์ใน “มิถุนามศะ” (นวางศ์มิถุน) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 12 ได้ชื่อว่า “วยายามศะ"
    • “ดาวศุกร์สถิตย์ใน “เมษามศะ” (นวางศ์เมษ) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 10 ได้ชื่อว่า “กรรมามศะ”  หรือ เกณฑรามศะ”
    • “ดาวเสาร์สถิตย์ใน “เมษามศะ” (นวางศ์เมษ) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 10 ได้ชื่อว่า “กรรมามศะ”  หรือ เกณฑรามศะ”
    • “ดาวราหูสถิตย์ใน “มิถุนามศะ” (นวางศ์มิถุน) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 12 ได้ชื่อว่า “วยายามศะ
    • “ดาวเกตุ(สากล)สถิตย์ใน “ธนูศะ” (นวางศ์มิถุน) ซึ่งตรงกับเรือนที่ 6 ได้ชื่อว่า “ษัษฐมศะ

เรื่องการจัดแบ่งกลุ่มโดยใช้ชื่อเรียกพิเศษตามข้างต้นนี้ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับการวินิจฉัยและการตัดสินในเรื่อง”ราชาโยค”ต่างๆและรวมถึงความมั่งคั่งของทรัพย์สินในแต่ละดวงชาตา ซึ่งถ้าหากมีดาวเคราะห์หลายๆดวงสถิตใน ภาคยามศะ(เรือนที่9)  กรรมามศะ (เรือนที่ 10) ลัคนามศะ(ลัคนา) หรือ สุขามศะ(เรือนที่ 10) จะแสดงถึงความเป็นผู้นำ มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งในชีวิตของเจ้าชาตา และในทำนองกลับกันหากดวงชาตามีดาวเคราะห์หลายดวงสถิตใน ษัษฐมศะ(เรือนที่ 6)นิธนะมศะ(เรือนที่ 8) และวยายะมศะ(เรือนที่ 12) ก็จะแสดงถึงความทุกข์ยากขัดสนและความลำบากต่างๆของเจ้าชะตา

หลักการของ ภวะ-สุจกะ-นวางศะ นี้ถือเป็นหลักสำคัญในพิจารณาดวงชาตาทุกดวงในคัมภีร์ธรุวะนาฑิ และใช้บ้างในคัมภีร์เทวะ เกลาลัม จากโศลกที่ 3109-3186 ในเรื่องของ “พฤษภา-ลัคนา-วิตตามศะ” ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักจากคัมภีร์โหราศาสตร์มาตรฐานทั่วไป หรือมีบ้างแต่ก็ไม่ได้รับการอธิบายในรายละเอียดมากนัก

ข.นวางศะ-ตุลย-ราศี

โศลกจากคัมภีร์ เทวะ เกลาลัม  ได้ให้รายละเอียดเป็นพิเศษเกี่ยวกับอิทธิพลของดาวเสาร์-ดาวพฤหัสที่สถิตย์ในราศีต่างๆในราศีจักรโดยมีผลเท่ากับสถิตย์ในราศีต่างๆในนวางศ์จักร โดยมีการให้อรรรถาธิบายในเรื่องนี้มากถึง 600 โศลกจากทั้งหมด 9152 โศลก ซึ่งต้องระลึกไว้เสมอว่าในแต่ละลูกนวางศ์ที่มีความกว้าง เพียง 3 องศา 20 ลิปดา ได้เป็นตัวแทนในการแทนค่าของราศีจักรซึ่งมีความกว้าง 30 องศา

 

 

(1)อิทธิพลจากการโคจรของดาวเสาร์

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่ 8 (จากลัคน์) หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือน(ที่8)นั้น ดาวเสาร์จะทำลายผลดีแห่งภวะ(เรือน)นั้น ”      (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 3151-3152)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ –ตามดวงชาตาตัวอย่าง ลัคนาสถิตราศีกันย์ ราศีเมษเป็นเรือนที่ 8 มีดาวอังคารเป็นเจ้าเรือนที่ 8 ซึ่งดาวอังคารสถิตย์ในนวางศ์ราศีกรกฏ (เรือนลาภะจากลัคน์) ดังนั้นราศีกรกฏ จึงเป็น นวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่ 8 (จากลัคน์) ซึ่งถ้าหากดาวเสาร์โคจรมายังราศีกรกฏ ก็จะทำลายผลดีของเรือนลาภะของชาตานั้น

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนลัคน์ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนลัคน์ จะส่งผลร้ายต่อมารดา ลุง และมารดา ย่าหรือยายจะเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ”            (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4909)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ –ในเรื่องนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากโศลกอื่นๆว่า บิดาของเจ้าชาตาจะเศร้าโศกเสียใจ จากการจากไปของพี่น้อง การสูญเสียเพื่อนรัก และความกลัวจากศัตรู หรือได้รับบาดเจ็บจากอาวุธ สูญเสียพี่น้องร่วมมารดา เป็นต้น

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่2 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น จะส่งให้ภรรยาของเจ้าชาตาเสียชีวิต”       (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4357-58)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มเติมคือ ทำลายความสุขในชีวิตสมรส ,การขัดขวางความเจริญก้าวหน้า ,ครอบครัวฝ่ายภรรยาต้องพบกับเรื่องเลวร้าย การสูญเสีย ความตาย,ภรรยาสูญเสียการงานและอาชีพ ,ภรรยาเป็นโรคอ้วนมากเกินไปจนส่งผลให้กลายเป็นคนไร้ความสามารถ,ภรรยาต้องเผชิญกับความวิตกกังวล เครียด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากคัมภีร์นี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องผลของเรือนที่ 3 (สโหทาระ สถาน)โดยตรง แต่จะกล่าวถึงเรือนที่ 3 ในฐานะที่เป็นเรือนที่ 8 ของเรือนที่ 8 โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับผลของเรือนที่ 8 เช่น การรักษาโรค หนี้สิน และทรัพย์สิน ความทุกข์ การได้รับมรดก อุบัติเหตุ และความอ้วน เป็นต้น

“บิดาของเจ้าชาตาจะเจ็บป่วย หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่4 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น และหากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีที่ถูกโยคโดยเจ้าเรือนที่ 4 จะแสดงผลร้ายรุนแรงแก่บิดาของเจ้าชาตา”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4363-64)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มเติมคือ  มารดาจะเศร้าโศกเสียใจ หรือ บิดาเศร้าโศกจากการสูญเสียภรรยา ,ความหายนะจะเกิดกับพี่น้องของบิดา ,บิดาเจ็บป่วย ,บิดาเสียชีวิต

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่5 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น  จะส่งผลร้ายแก่บุตรหลานของพี่ชายหรือน้องชายของเจ้าชาตา และผลร้ายนี้จะแสดงในดาวเคราะห์เจ้ามหาทศา ทำการเสวยอายุลำดับที่ 5 ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 3246-47)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มเติมคือ  การเสียชีวิตของคนในครอบครัวฝ่ายภรรยา,ความตายของบุตรของเจ้าชาตา ,ทำลายทรัพย์สินของครอบครัวฝ่ายบิดา ,ความเจ็บป่วยของเพื่อนสนิท,ความเจ็บป่วยและความตายของแม่ยาย และพี่น้องของเจ้าชาตา

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่6 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   บิดาของเจ้าชาตาจะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานและความปวดร้าวใจเพราะเพื่อนฝูงเป็นเหตุ  ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 3246-47)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มเติม เจ้าชาตาจะประกับความทุกข์ยาก ต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย ,ความตายของพี่น้อง ,สูญเสียตำแหน่งหน้าที่ ,ความกลัวอย่างรุนแรง

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่7 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 7 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะเป็นอันตรายแก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายมรดาของเจ้าชาตา ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4252)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – โดยจะแสดงผลในมหาทศาของดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 ,การใช้จ่ายเงินจำนวนมากที่ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ก่อน ,การตายของลุงและป้าของเจ้าชาตา

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่8 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 8 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะเป็นอันตรายแก่เจ้าชาตาที่เป็นเพศชาย ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 1772-73)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – โดยเจ้าชาตาจะเจ็บป่วย ,กังวลเกี่ยวกับบิดาหรือญาติผู้ใหญ่,ความเกรงกลัวความตายที่จะมาก่อนเวลาอันควร,เจ้าชาตาจะเสียชีวิต,อุบัติเหตุ,เจ้าชาตาจะอ่อนแรงผอมแห้ง,สูญเสียทรัพย์สิน,ครอบครัวเกิดความวิบัติ,ทุกข์กังวลเกี่ยวกับลูกๆ,การตายของเพื่อสนิท,เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล,กลัวภัยจากศัตรูหรือคู่พิพาท

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่9 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 8 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะเป็นอันตรายแก่ลูกหลานของพี่น้องสาวของแม่(ป้า-น้า) ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4235-36)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – โดยเจ้าชาตาจะเกิดวิวาท ,เป็นโรคตาและช่องคอ,สูญเสียทรัพย์สิน,ความเจ็บปวดรวดร้าวใจ

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่10 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 10 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะเป็นอันตรายแก่พ่อตาหรือคนในครอบครัวของพ่อตาของเจ้าชาตา ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 1663)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – เพิ่มเติมจากโศลกอื่นๆ โดยพี่น้องของเจ้าชาตาจะเกิดความทุกข์ใจจากการเจ็บป่วยของลูกๆ ,การตายของพ่อตา หรือพี่ชาย-น้องสาวเจ้าชาตาจะเจ็บป่วย

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่10 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 11 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะทำให้ครอบครัวทั้งของมารดาและของเจ้าชาตาเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4336-37)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – เพิ่มเติมจากโศลกอื่นๆ โดยพี่น้องของมารดาเจ้าชาตาจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ,ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชาตาจะตกอยู่ในอันตราย,มารดาจะประสบกับความตายที่รุนแรง,ละทิ้งที่อยู่อาศัย,พิพาทเรื่องที่ดินที่เจ้าชาตาถือครอง

“ หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งสถิตย์โดยเจ้าเรือนที่12 หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว หรือตรงกับราศีที่ถูกโยคของเจ้าเรือนที่ 11 และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   จะทำให้บุตรหลานของเจ้าชาตาเกิดความวิบัติ ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4358-59)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ – เพิ่มเติมจากโศลกอื่นๆ โดยปู่ของเจ้าชาตาจะประสบอันตราย ,ล้มเหลวในการสอบ,ความเจ็บป่วยของพี่สาวของสามีหรือพี่ชายของภรรยา,สูญเสียทรัพย์สิน,ความเศร้าโศกที่สูญเสียบุตรหลาน,เกิดศัตรูจากอาชีพ,ลุงฝ่ายบิดาจะประสบภัย

 

 

(2)อิทธิพลจากการโคจรของดาวพฤหัส

“ให้หาราศีและนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าภวะ(เรือน)ที่ประสงค์(จะพิจารณา)สถิต และเมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีหรือราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้นสถิต ดาวพฤหัสจะทำความสมปรารถนาในผลดีแห่งภวะ(เรือน)นั้นๆ ”      (คัมภีร์ผลาทีปิกา อัธยายะที่ 16 โศลกที่ 12)

“เมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนลัคนาสถิต หรือตรีโกณกับราศีดังกล่าวดาวพฤหัสจะทำให้มารดาของเจ้าชาตาให้กำเนิดน้อง(ชาย) ”    (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 728)

“เมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนลัคนาสถิต หรือตรีโกณกับราศีดังกล่าวและตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น   ดาวพฤหัสจะทำให้เจ้าชาตาได้บุตรชาย ในทศาลำดับที่ 3 ”(คัมภีร์ภฤคุ นาฑิ โศลกที่ 540)

“จะเกิดความมั่งคั่งด้านทรัพย์สิน เมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนที่ 2 หรือที่ 11 สถิต หรือตรีโกณกับราศีดังกล่าวและตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์เจ้าเรือนนั้น    ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 2518)

“และเมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนที่ 5 สถิต หรือตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวพฤหัส(ปุตรการกะ)สถิต(ในดวงเดิม) และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ข้างต้นนั้น จะทำให้เจ้าชาตาได้บุตรชาย” ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 5670-71)

“เมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนที่ 7 สถิต หรือนวางศ์ที่ดาวศุกร์สถิตย์ (ทาระการกะ)หรือตรีโกณกับราศีดังกล่าว   ดาวพฤหัสจะทำให้เจ้าชาตาได้แต่งงาน(ทาระ ลาภมะ) ”(คัมภีร์อัมศะ นาฑิ โศลกที่ 149)

“จะเกิดความมั่งคั่งด้านทรัพย์สิน ความสุข การได้ตำแหน่งหน้าที่ เมื่อดาวพฤหัสโคจรไปยังราศีที่ตรงกันกับนวางศ์ที่ดาวเคราะห์เจ้าเรือนที่ 11 หรือที่ 9 สถิต   ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 2517)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ –ส่วนในโศลกอื่นๆก็ไม่ได้กล่าวถึงอิทธิพลของดาวพฤหัสโคจรจนครบ 12 ราศี ทั้งในคัมภีร์ที่นำมาแสดงหรือแม้แต่ในที่อื่นๆก็ไม่ได้แสดงไว้ จึงนำมากล่าวเพียงเท่านี้

(3)ผลจากดาวเคราะห์ที่สถิตย์ในนวางศ์

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวอาทิตย์หรือเจ้าเรือนที่ 9 สถิตย์อยู่ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ที่กล่าวนั้น ดาวเสาร์จะทำให้บิดาของเจ้าชาตาถึงแก่ความตาย ”     (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4171)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวจันทร์สถิตย์อยู่ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ที่กล่าวนั้น ดาวเสาร์จะทำให้บิดาของเจ้าชาตาเจ็บป่วย ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 4433-44)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวพุธหรือเจ้าเรือนที่ 6 สถิตย์อยู่ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ที่กล่าวนั้น ดาวเสาร์จะทำให้เพื่อนรักของเจ้าชาตาประสบเคราะห์ร้าย ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 5230-31)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวศุกร์สถิตย์อยู่ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ที่กล่าวนั้น ดาวเสาร์จะทำให้ภรรยาของเจ้าชาตาเจ็บป่วย และครอบครัวฝ่ายภรรยาจะประสบเคราะห์ร้าย ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 3233)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ –ตามคัมภีร์อ้างอิงดังกล่าวข้างต้น ไม่มีโศลกใดที่กล่าวถึงดาวเคราะห์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น อังคาร พฤหัส เสาร์ (ในดวงเดิม) จึงนำมากล่าวแต่เพียงเท่านี้

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีราหูสถิตย์อยู่ หรือทำมุมตรีโกณไปยังเรือนดังกล่าว และตรงกับกับองศาของดาวเคราะห์ที่กล่าวนั้น ดาวเสาร์จะทำลายพี่น้องของเจ้าชาตา ในทศาลำดับที่ 5  ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 2362)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีเกตุสถิตย์อยู่  ดาวเสาร์จะทำให้เกิดโรคภัย เกี่ยวกับการขับถ่าย การเจ็บปวด และฟื้นตัวได้ช้า ”(คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 602)

อธิบายโศลกจากคัมภีร์ –ตามคัมภีร์เทวะ เกลาลัมที่นำมาอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น ถือว่าได้ให้ความกระจ่างชัดเกี่ยวกับ การสัมพันธ์ของราศีจักรกับนวาศ์จักรได้ดีกว่าคัมภีร์อื่นๆ ซึ่งผู้ศึกษาสามารถนำกฏเกณฑ์นี้ไปใช้ได้กับดวงชาตาทั่วไป โดยการนำไปประยุกต์ใช้จะต้องมีเทคนิคอยู่ 3ประการดังนี้

 ก.     ต้องพิจารณาการโคจรของดาวเสาร์ ที่โคจรไปยังราศีที่ตรงกับนวางศ์ของเจ้าเรือนทั้ง 12 เรือนนั้นสถิต

 ข.     ต้องพิจารณาการโคจรของดาวพฤหัส ที่โคจรไปยังราศีที่ตรงกับนวางศ์ของเจ้าเรือนทั้ง 12 เรือนนั้นสถิต

 ค.     พิจารณาการโคจรของดาวเสาร์-พฤหัส ที่โคจรไปยังราศีที่ตรงกับนวางศ์ของดาวเคราะห์อื่นๆสถิต(เช่น อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ ราหู และเกตุ)

ซึ่งการพิจารณาทั้งหมดดังที่กล่าวมา จะต้องพิจารณาจากดวงนวางศ์จักรเป็นหลักเท่านั้น มิใช่จากราศีจักร ซึ่งถ้าหากใครได้ฝึกฝนตามทฤษฎีข้างต้นจนชำนาญแล้ว ผู้นั้นก็จะประสบความสำเร็จในด้านการพยากรณ์อย่างแน่นอน

ความสำคัญของ “จันทร นวางศ ราศี”

อ้างอิงโศลกจากคัมภีร์ ปรัศน มารคะ (प्रश्न-मार्ग) บรรพที่ 1 อัธยายะที่ 8 โศลกที่ 56-61

“หาก จันทรา นวางศะ ราศี (ราศีของดาวจันทร์ที่เสวยในนวางศ์ในดวงชาตาเดิม) มีดาวเคราะห์ที่ดีสถิตร่วม ผลดีก็จะเกิดในทศาของดาวเคราะห์นั้น  หรือหากราศีนั้นมีโทษร้ายในทางอื่น ผลร้ายนั้นก็จะถูกละทิ้งไป   ”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 56)

“หากดาวพฤหัส สถิตย์ใน จันทรา นวางศะ ราศี เจ้าชาตาจะได้บุตรชาย แต่หากดาวพฤหัสเป็นนิจ  จะเกิดทะเลาะวิวาทกับพวกวรรณะพราหมณ์   หรือหากดาวศุกร์ สถิตย์ใน จันทรา นวางศะ ราศี จะได้ความสุขจากสตรี และหากเป็นดาวพุธ เจ้าชาตาจะชนะคดีความ”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 57)

“ จันทร์เพ็ญเป็นตัวแทนแห่งความงามทั้งหลาย ดาวอาทิตย์เป็นตัวแทนแสดงความพิโรธของผู้ปกครองหรือพระผู้เป็นเจ้า ดาวอังคารแสดงถึงการต่อสู้ และการฟ้องร้องคดีความเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ดาวเสาร์แสดงผลของการสูญเสียผลผลิตในที่ดิน ปศุสัตว์จะเจ็บป่วย และข้าทาสจะทุกข์ทรมาน”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 58-59)

“ ราหูเป็นเหตุให้ได้รับภัยของยาพิษ อสรพิษ ได้รับความลำบากจะข้าทาสบริวารหรือผู้ใต้บังคับบัญชา และเจ็บป่วยด้วยโรคปวดศีรษะ ,เกตุเป็นเหตุให้ได้รับภัยจากภูตผีปิศาจ และคุลิกา จะได้รับภัยจากอภิจาระ (คุณไสย์)”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 60)

“ ดาวพุธ(เสีย)เป็นเหตุให้พ่ายแพ้คดีความ และจันทร์(อ่อนแอ) เป็นเหตุแห่งความวิตกกังวลของจิตใจ”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 61)

จากโศลกข้างต้นเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับ “จันทร นวางศ ราศี” ของดวงชาตาทั่วไป ซึ่งจะทำให้การพิจารณาดวงชาตามีความรัดกุมและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

หาก จันทร นวางศ ราศี มีดาวเคราะห์อยู่เคียงข้างมีผลดังนี้

1.หากดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ 2 จากจันทร นวางศ ราศี จะส่งผลให้เป็น สุนัพพะโยค

2.หากดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ 12 จากจันทร นวางศ ราศี จะส่งผลให้เป็น อานัพพะโยค

3.หากดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ 2 และ 12 ของ จันทร นวางศ ราศี จะส่งผลให้เป็น ทระทราโยค ”(คัมภีร์ปรัศน มารคะ โศลกที่ 61)

ซึ่งถ้าหาก จันทร นวางศ ราศี ดังกล่าวข้างต้น ไม่มีดาวเคราะห์เคียงข้างแม้ข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะกลายเป็นร้ายที่เรียกว่า “เกม ทรุมโยค”

**เกมทรุมโยค

สัมพันธภาพ – ถ้าในเรือนข้างหนึ่งข้างใดของจันทร์ไม่มีดาวเคราะห์สถิต – เป็นเกมทรุมโชค (เกมะทะรุม – หนามต้นไม้)

ผล – เข้าชะตาเป็นคนสกปรก เศร้าโศก ไม่มีความเป็นธรรม ยากจน ไม่มีอิสระ โกง  และหลอกลวงข้อสังเกต – บางท่านว่าถ้ามีดาวเคราะห์อยู่ในเรือนจตุรเกณฑร์จากลัคน์หรือจากจันทร์,  หรือถ้ามีดาวเคราะห์ร่วมกับจันทร์ – ไม่เป็นเกมทรุมโชค,  และบางท่านว่าถ้ามีดาวเคราะห์ในเรือนจตุรเกณฑร์ในนวางศ์จักรก็ใช้ได้  แต่ความเห็นประการหลังนี้จะถือเอาเป็นที่แน่นอนไม่ได้  วราหมิหิราบรรยายไว้ว่า  ถ้าเจ้าชะตาที่เกิดในราชตระกูลตกอยู่ใต้อำนาจความเลวร้ายของโชคนี้  พยากรณ์เรื่องของโชคร้ายได้มากกว่าเจ้าชะตาที่เกิดในตระกูลสามัญ  ผลของความเศร้าโศกจะได้รับทั้งทางกายและทางใจ  คำว่าต่ำ, ทราม, เลว ที่ใช้ในคัมภีร์โบราณและในตำรานี้  เป็นคำที่อ้างถึงการกระทำที่เกี่ยวแก่ทางศาสนา ศีลธรรมและสังคม  ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอาย

ส่วนในราศีจักร ที่ปรากฏในคัมภีร์อื่นๆ โดยมีหลักพิจารณาคล้ายกันดังนี้  คือ”ถ้าดาวเคราะห์อื่นเว้นดาวอาทิตย์อยู่ในเรือนที่ 2 ของจันทร์เรียกว่า สุนัพพะโยค ถ้าอยู่ในเรือนที่ 12 ของจันทร์เรียกว่า  อานัพพะโยค โยคถ้าอยู่ในเรือนที่ 2 และที่ 12 ของจันทร์ เรียกว่า  ทระทราโยค” โยคทั้ง 3 นี้เป็นโยคดี  โยคหนึ่งใน 2 โยคนี้ให้ผลดีแก่เจ้าชะตา เช่น เรื่องฐานะ เป็นต้น

 

 

ผลของการโคจรของดาวเสาร์ใน “จันทร นวางศ ราศี”

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีใดซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวจันทร์สถิตย์อยู่(จันทรนวางศราศี) หรือราศีของจันทร์(ชนมจันทร)  จะส่งผลให้เจ้าชาตาเกิดวิตกจริต(โรควิตกกังวล)เกี่ยวกับปัญหาในครอบครัว”    (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 3124)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีที่ 7 จากราศีซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวจันทร์สถิตย์อยู่(จันทรนวางศราศี)ในมหาทศาราหูและอนุทศาอังคาร เจ้าชาตาจะเจ็บป่วย”  (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 2385)

“หากดาวเสาร์โคจรไปยังราศีที่ 8 จากราศีซึ่งตรงกับนวางศ์ราศีซึ่งมีดาวจันทร์สถิตย์อยู่(จันทรนวางศราศี)ในมหาทศาราหู  เจ้าชาตาจะเกิดเคราะห์หนัก ความสำเร็จต่างๆของเจ้าชาตาจะถูกทำลาย” (คัมภีร์เทวะ เกลาลัม โศลกที่ 2044)

การโคจรของดาวเสาร์

“หากดาวเสาร์โคจรโดยมีองศาตรงกับเจ้าเรือนใดใด ผลร้ายบางอย่างจะเกิดกับเจ้าชาตา โดยมีเงื่อนไขว่า

(1)โดยเจ้าเรือน(ราศี)นั้นมีดาวจันทร์สถิตย์อยู่ (2)โดยเจ้าเรือนนั้นเป็นเจ้าราศีของ “จันทร นวางศ ราศี” หรือ(3) เจ้าราศีนั้นได้รับโยคจากดาวจันทร์”

ทั้งหมดนี้เป็นการพิจารณาในขั้นลึกของดวงนวางศ์จักรที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับราศีจักร และจากหลักการที่นำมาแสดงนี้จะสามารถอำนวยประโยชน์อย่างยิ่งในทางการศึกษาดวงนวางศ์จักรให้กับผู้ที่สนใจ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ........

 *****************************************