นอกจากพระชลยุทธโยธินชาวเดนมาร์กแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมี พระนิเทศชลธี หรือ กัปตันลอฟตัส ชาวอังกฤษอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถในเรื่องการหาเวลา เห็นได้จากการที่ท่านได้
ประดิษฐ์นาฬิกาแดดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ซึ่งปัจจุบันยังตั้งอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ดังได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ ๒
สำหรับการยิงปืนบอกเวลาเที่ยงหรือที่เรียกว่ายิงปืนเที่ยงนั้น เกิดขึ้นในเวลาต่อมาครั้งแรกมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรตัวอย่างที่อังกฤษยิงปืนสัญญาณที่เมืองสิงค์โปร์ เพื่อให้ประชาชนและชาวเรือต่าง ๆ ตั้งนาฬิกา จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการยิงปืนที่กรุงเทพ ฯ บ้าง ครั้งแรกโปรดเกล้า ฯ ให้ทหารเรือยิงปืนเที่ยงที่ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิฐ) ก่อน และยิงเฉพาะในวันเสาร์เท่านั้น โดยมีพระชลยุทธโยธิน เจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวง เป็นผู้ควบคุมกำหนดเวลา
ยิง ครั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จัดตั้งทหารปืนใหญ่ขึ้นในทหารล้อมวัง จึงขอรับหน้าที่ยิงปืนเที่ยงมาให้ทหารปืนใหญ่ล้อมวังที่ป้อมทัศนนิกซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมหาราชวัง และเปลี่ยนมาเป็นยิงปืนเมื่อเวลาเที่ยงทุกวัน ดังประกาศยิงปืน จากราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙ จุลศักราช ๑๒๔๙ ดังต่อไปนี้
ประกาศยิงปืน
วัน ๓ เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด ยังเป็นนพศก ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)
ด้วยพระชลยุทธโยธิน เจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวง รับพระบรมราชโองการ
ใส่เกล้า ฯ สั่งว่าแต่ก่อนได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยิงปืนเที่ยงในวันเสาร์ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะต้องการตั้งนาฬิกาให้ตรงกับเวลามัธยม (คือมินไตน์) กรุงเทพ ฯ เสมอทุกวันเสาร์มาแต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่ลำบากอยู่ทุกวันนี้การค้าขายเจริญมากขึ้น เรือที่เข้าออกมีขึ้นเป็นอันมากแลมีความปรารถนาเวลามัธยมกรุงเทพ ฯ อยู่ด้วยกันทุกลำ เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริ โดยความที่ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรที่ไปมาค้าขายในกรุงเทพ ฯ เพื่อจะได้ประโยชน์ที่จะตั้งนาฬิกาได้ตรงเวลามัธยมกรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ยิงปืนเวลาเที่ยงทุก ๆ วัน เมื่อผู้ใดได้ยินเสียงปืนแล้ว ต้องเข้าใจว่าเป็นเวลาเที่ยงตามเวลามัธยม (มินไตน์) กรุงเทพ ฯ ที่หอออบเซอร์เวตอรีหลวง ซึ่งตั้งอยู่ แลตติจูด ๑๓๔๕๓๘๘ เหนือ ลองติจูด ประมาณ ๑๐๐๒๘๔๕ ตะวันออก ของเมืองกรีนิช กำหนดจะได้ยิงปืนใหญ่ที่ป้อมทัศนนิกทีละด้าน ตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง แต่ ณ วัน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีชวด ยังเป็นนพศกตรงเวลาเที่ยงเสมอไปทุกๆ วัน อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งสงสัยตกใจว่าเกิดเพลิงหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ถ้าพ้นเวลาเที่ยงแล้ว หรือก่อนเที่ยงจึงควรถือเอาว่ามีเหตุได้ ถ้าเกิดเพลิงขึ้นในเวลาเที่ยงหรือใกล้เที่ยงจะยิงปืนเป็นสองนัดจึงให้ถือเอาว่ามีเหตุได้
(จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙ จุลศักราช ๑๒๔๙)
ต่อมาภายหลัง ได้กลับมอบหน้าที่ให้ทหารเรือเป็นผู้ยิงปืนเที่ยงอีก และเป็นผู้รักษาเวลาด้วย กรมทหารเรือได้จัดให้มีการยิงปืนเที่ยงที่เรือพระที่นั่งจักรีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วได้มอบให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือจัดการยิงปืนเที่ยงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ โดยให้นักเรียนนายเรือเป็นผู้ยิง ภายหลังปรากฏว่าไม่สะดวกเพราะนักเรียนนายเรือไม่ได้อยู่กรุงเทพ ฯ ตลอดเวลา ต้องออกไปฝึกภาคทะเลบ่อยๆ จึงมอบหน้าที่การยิงปืนเที่ยงให้เป็นหน้าที่ของกรมเรือกล ชั้น ๔ เป็นผู้ยิงปืนเที่ยงทุกวัน ที่สนามหญ้าท่าราชวรดิฐ
สำหรับการรักษาเวลาที่ได้มอบให้ทหารเรือเป็นผู้รักษานั้น หลังจากพระชลยุทธโยธินได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวงท่านแรกแล้ว ยังหาหลักฐานไม่พบว่าท่านผู้ใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือทำหน้าที่ควบคุมการวัดดาราศาสตร์หาเวลามาตรฐานต่อมา แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาคือ
- ใน พ.ศ.๒๔๓๗ ทางราชการได้ย้าย น.ต.ริเชลิว (Louis du Plessis de Richelieu) น้องชายของพระชลยุทธโยธิน ซึ่งย้ายไปปฏิบัติราชการจนเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแผนที่ กลับมารับราชการทางกรมทหารเรืออีก มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานแผนที่ทะเล (ได้เลื่อนยศเป็นนาวาโท- ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลสินธวาณัตก์)
- พ.ศ.๒๔๓๙ ยกฐานะสำนักงานแผนที่ทะล เป็น กองแผนที่ทะเล ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ
- พ.ศ.๒๔๔๖ ทางราชการได้จัดส่วนราชการใหม่ให้กองแผนที่ทะเลไปขึ้นตรงต่อกรมยุทธศึกษาทหารเรือ มีหน้าที่สำรวจแผนที่ทะเล ตรวจสอบ และรักษาเวลามาตรฐานสำหรับใช้ในราชนาวี
จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น สันนิษฐานว่า พระชลยุทธโยธิน (ต่อมาเป็นพระยาชลยุทธโยธิน
- รองผู้บัญชาการทหารเรือ) คงจะมอบหมายงานรักษาเวลาให้สำนักงานแผนที่ทะเลซึ่งมี น.ต.ริเชลิว ผู้เป็นน้องชายและเป็นผู้มีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ดีอยู่แล้วเป็นหัวหน้าสำนักงาน เมื่อสำนักงานแผนที่ทะเลได้รับการยกฐานะเป็นกองแผนที่ทะเล งานรักษาเวลามาตรฐานจึงได้ตกทอดมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองแผนที่ทะเลด้วย และเมื่อย้ายกองแผนที่ทะเลมาสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทางราชการจึงได้มอบหน้าที่การยิงปืนเที่ยงให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยมีนักเรียนนายเรือ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ
กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นผู้ทำการยิง
การยิงปืนเที่ยงมาเลิกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เพราะมีไฟฟ้าและวิทยุใช้แล้ว การเทียบเวลาโรง
ไฟฟ้าจะทำไฟกระพริบเป็นสัญญาณให้เทียบนาฬิกาเมื่อเวลาสองทุ่ม สำหรับวิทยุก็บอกสัญญาณให้เทียบนาฬิกาในเวลาเดียวกันเช่นกัน
ในช่วงเวลาเหล่านี้มีประกาศพระราชกฤษฎีกา และประกาศของทางราชการเกี่ยวกับเรื่องเวลาหลายฉบับด้วยกัน เช่นในสมัยก่อน พ.ศ.๒๔๖๐ การขึ้นวันใหม่เริ่มต้นวันเมื่อย่ำรุ่ง (คือ ๐๖๐๐ นาฬิกา) จนใน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ให้ใช้การขึ้นวันใหม่เช่นเดียวกับชาวยุโรป คือ
เริ่มต้นวัน เมื่อ 12 ชั่วโมง ก่อนเที่ยงวัน (เที่ยงคืน) และสิ้นวันเมื่อ 12 ชั่วโมง ภายหลังเที่ยงวัน และก่อน พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยได้ใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๓ วินาที่ จึงใน พ.ศ. ๒๔๖๒ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง เปลี่ยนเป็นให้ใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนิช
7 ชั่วโมง ตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นต้นไป