Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ตอนที่ 6

เพลง – ดนตรี  และการละเล่นพื้นบ้านของชาวสุรินทร์

หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536


เพลง – ดนตรี  และการละเล่นพื้นบ้านของชาวสุรินทร์  มีแบบอย่างของตนเองโดยเฉพาะที่น่าสนใจมาก  หากศึกษาอย่างลึกซึ้งจะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าชาวสุรินทร์เคยมีอารยธรรมสูงส่งมาก่อนเป็นพันปี

1. เพลง นอกจากแสดงอัจฉริยะ  เจ้าบทเจ้ากลอนสด   เพื่อเกี้ยวพาราสีกัน  รวมทั้งการใช้ภาษาเขมรชั้นสูงเป็นบทวรรณคดีแบบในราชสำนักโต้ตอบกันด้วยกลอนแล้ว  สาระในเนื้อเพลงเป็นสิ่งสำคัญ แสดงอัจฉริยะโดดเด่นกว่าใครในภูมิภาคนี้  กล่าวคือ  การแบ่งประเภทของเพลงให้สอดคล้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ  เช่น  พิธีแต่งงาน  การแต่งงานของชาวสุรินทร์จะมีเพลงประกอบตามขั้นตอนของพิธีกรรม  เช่น  ขั้นตอนการผูกแขน  การเซ่นผี  การรับเจ้าสาวลงจากบ้าน  ซึ่งสาระเพลงจะพรรณาขั้นตอนของแต่ละพิธีกรรม  และปลูกฝังค่านิยมการดำรงชีวิตแก่ชนรุ่นหลัง

การร้องเพลงนอรแกว  (เจรียงนอรแกว)  เป็นกลอนสดโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง  ที่แสดงการเกี้ยวพาราสีเป็นสาระ  โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์เดือนห้า  ซึ่งเป็นเดือนหยุดงานของชาวสุรินทร์  ในกลางคืนดึกสงัดจะร้องเพลงนอรแกวโต้ตอบกันให้ผู้เฒ่าหรือคนแก่ดู  นอกจากนี้  เพลงตกเบ็ด (เจรียงชันตู๊ด)  ก็มีสาระเพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ  สะท้อนถึงความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตน  เพราะผู้ชายมักมีหน้าที่ไปหาปลา  เพลงดังกล่าวจึงเริ่มต้นจากการที่หนุ่ม ๆ รวมกลุ่มกันใช้ผลหมากรากไม้ผูกเชือก  มีคันเบ็ดไปล่อสาว ๆ

หน้า 143


ความมีอารยธรรมสูงส่งของชาวสุรินทร์  โดยเฉพาะการแสดงอัจฉริยะออกมาในเพลงนั้น  มีการสืบทอดและสืบสานกันมาหลายชั่วอายุคน  ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่  พิธีกรรม “มะม๊วด”  คือการเข้าทรงเพื่อรักษาโรค  หรือรักษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ป่วย  โดยใช้เสียงเพลงขับกล่อม  อาจจับได้ว่าเป็นทำนองที่กฎเกณฑ์อยู่ในขอบข่ายของดนตรีพื้นเมือง (Folk Music) ซึ่งเป็นดนตรีและเพลงของผู้มีอารยธรรมแล้ว  ซึ่งมีผู้กล่าวว่า  หากเทียบการรักษาผู้ป่วยด้วยเสียงเพลงของชนเผ่าอินเดียแดง  จัดอยู่ในข่ายของ  Savago  หรือ  Primitive  Music  ซึ่งมิได้ต่างจากเพลงของชาวสุรินทร์

อย่างไรก็ตาม  ในพิธีกรรมมะม๊วด  จะมีการรำเรียกว่า “เรือมมะม๊วด”  ตามสาระของทำนองเพลง  6 อย่างดังนี้

ขั้นตอนที่ 1   ครูมะม๊วดจะไหว้ครู  ก็บรรเลงเพลงในทำนอง   ซแร๊ยซเติย์

ขั้นตอนที่ 2  ระยะของการเข้าทรงร่าง   ใช้ทำนองและจังหวะเพลงชื่อว่า  “เพลียง”  บรรเลง

ขั้นตอนที่ 3  เข้าร่างทรงเรียบร้อยแล้ว  ก็มีการร่ายรำตามลีลาที่ถนัดของแม่ครูมะม๊วด  ก็ใช้เพลงบันแซร  บรรเลง

ขั้นตอนที่ 4  แม่ครูมะม๊วด  หรือร่างทรงจะต้องปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากผู้ป่วยโดยใช้ดาบฟันสิ่งชั่วร้ายซึ่งรวมอยู่  ณ  จุดที่เรียกว่า เป  ก็ใช้ทำนองเพลง กาปเป

ขั้นตอนที่ 5  เป็นการรำปลอบขวัญ  ใช้ทำนองและจังหวะเบ็ดเตล็ดประกอบท่ารำ  ใช้ทำนองเพลงมรุบโดง  อันซองซแงญนป ฯลฯ  และ

ขั้นตอนสุดท้าย   เป็นการเรียกขวัญ  ผูกแขนและเสี่ยงทาย  ก็ใช้เพลงรำมองก็วลจองไดตำแรย ทม็วนพลุ  ตระเทาะทม็วนแพล และจบด้วยจังหวะซาปดาน  ก็เป็นอันเลิกลากัน  จบการเล่น

หน้า 145

2. ดนตรี ความมีอารยธรรมสูงของมนุษย์อาจพิสูจน์ได้ด้วยดนตรี  ชาวสุรินทร์มีดนตรีที่หลากหลาย เช่น กันตรึม มโหรีพื้นบ้าน ปี่พาทย์ และที่สำคัญและน่าสนใจที่สุด คือ วงตุ้มโมง กลองเพล ตีร่วมกับฆ้องหุ่ย ในการประกอบพิธีส่งวิญญาณผู้ตาย ( งานศพในระยะเริ่มแรก ) เรียกวงดนตรีนี้ว่า ตุ้มโมง ในขณะเดียวกันผู้ตีกลองเพลนี้ สามารถร้องพระมาลัยได้ด้วย การร้องนี้ก็เพื่อให้เทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ได้ยินและรับเอาวิญญาณผู้ตายไป

หน้า 146

“ ตุ้มโมง ”   เป็นดนตรีที่ใช้ในงานศพของชาวสุรินทร์  เป็นดนตรีเก่าแก่ดั้งเดิม  ถือเป็นอารยธรรมอันเก่าแก่ของมนุษย์ชาติที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาบริเวณภาคอีสานตอนใต้  ก่อนที่ขอมจะรุ่งเรืองและมีอำนาจเหนือบริเวณมณฑลอันเป็นที่ตั้งของเมืองสุรินทร์ปัจจุบัน

วงดนตรีตุ้มโมงสำหรับบรรเลงประโคมศพมีชื่อเพลงหลายสิบเพลง  เพราะต้องเล่นแบบมาราธอน  เพลงดนตรีที่มีความหมายและประทับใจของผู้ฟัง  คือเพลงสวายจุมเวือดเป็นเพลงโหมโรงและใช้บูชาครู แปลว่าต้นมะม่วงเต็มวัด  อีกเพลงคือแสรกยุม หมายถึงการร้องคร่ำครวญ ซึ่งใช้เฉพาะในงานศพ การวิเคราะห์ชื่อเพลงที่มิใช่คำในภาษาถิ่น เช่น เพลงจันตรี และฮวงจามปา น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนพื้นเมืองเดิมแถบนี้เคยร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์จาม ( อาณาจักรจามปา ) ร่วมสมัยกับฟูนันที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อน

จากการศึกษาค้นคว้าในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทยและในหลายประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยแล้ว  ไม่ปรากฏว่ามีท้องถิ่นใดในประเทศไทยหรือประเทศใดรอบๆ ประเทศไทยใช้วงดนตรีประเภทเดียวกับวงตุ้มโมง  ในงานศพเหมือนที่มีในเมืองสุรินทร์ตามแบบที่ฝ่ายตะวันตกเรียกว่า Ethnomusicology มีสิ่งน่าสนใจดังนี้  ปี่เล็กๆ เรียกว่า ไน มีเสียงไพเราะทำนองเศร้า เป่าด้วยจังหวะช้า ( เสียงปี่จะดังตลอดเวลา เกิดจากการระบายลมด้วยกระพุ้งแก้มของผู้เป่า ) อินเดียและตุรกีเรียกปี่ประเภทนี้ว่า เซไน  ฆ้องราว 9 ใบ  ใช้ตีบอกเสียงจังหวะตกแบบฆ้องราวในวงพิณพาทย์ดึกดำบรรพ์ของไทย  ซึ่งการตีบอกจังหวะตกอย่างนี้คล้ายกับการตีฆ้องราวของอินโดนีเซีย  เรียกภาษาชวาว่า กันเพลอง  ฆ้องหุ่ย 1 ใบ  เป็นเครื่องดนตรีนำคู่กับกลองเพลขนาดใหญ่ ซึ่งขอยืมมาจากวัดโดยต้องใช้เกวียนขนมาอีก 1 ใบ  หากบ้านใดกำลังมีคนป่วยหนักคาดว่าจะไม่รอด บรรดาญาติพี่น้องต่างก็กระวีกระวาดไปวัดเพื่อขอยืมฆ้องหุ่ย  และกลองเพลมาจัดเตรียมไว้ เมื่อผู้ป่วยสิ้นใจก็จะตีฆ้องหุ่ยทันที  การตีฆ้องหุ่ยเพื่อส่งวิญญาณผู้ตาย  พร้อมกับเป็นการส่งข่าวเพื่อนบ้าน

หน้า 147

และบัดนั้นเสียงร้องห่มร้องไห้ระทมทุกข์ก็ดังขึ้นคละเคล้ากับเสียงฆ้องเป็นเสียงที่วิเวกวังเวงอย่างที่สุด  การตีฆ้อง  ในระยะแรกที่คนป่วยขาดใจไม่ได้ตีถี่แบบทำขวัญนาค  โดยทั่วไปจะตีเว้นระยะยาวนาน   ระหว่างที่ศพอยู่ในบ้าน  ญาติพี่น้องกำลังวุ่นอยู่กับการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดนี้  วงดนตรีจะบรรเลงประโคมศพ คือ วงตุ้มโมง  ซึ่งมีเสียงร้องของผู้ตีกลองพร้อมๆ กันไปด้วย

หน้า 148

กลองดัง.....ตุ้ม.....อีกสักพักก็เสียง.....โหม่ง.....ของฆ้องหุ่ยจะตามมา  มีข้อห้ามว่า  บรรดานักดนตรีทั้งหมดสามารถหยุดพักได้  ยกเว้นผู้ตีกลองเพลและฆ้องหุ่ยเท่านั้นห้ามหยุด  ซึ่งพ้องกับการตีกลองมหรทึกของไทยจ้วง  มณฑลกวางสี  ซึ่งตีกลองยาวนานลักษณะมาราธอน  เพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไม่ให้ขาดสาย และในความเชื่อคล้ายกันว่า เสียงฆ้อง ( สำริด ) หรือฆ้องหุ่ยนี้ช่วยไล่ผีที่เกะกะไปจากเส้นทางด้วย นับเป็นวงดนตรีเก่าแก่ดึกดำบรรพ์  ที่น่าสนใจคือความหมายและหน้าที่ของกลองเพลและฆ้องหุ่ยยังคงทำให้แลย้อนหลังไปถึงอดีตที่ห่างไกลนับพันปี

อย่างไรก็ตาม  ความรุ่งเรืองในอดีตก่อนสมัยขอมรุ่งเรืองของคนถิ่นสุรินทร์นี้  น่าจะเป็นความจริง เพราะชาวสุรินทร์เป็นที่รวมของสังคีตศิลป์ เช่น เจรียง การร้องตรุษ เพลงนอรแกว เพลงกันตรึม เพลงตกเบ็ด และปร๊อบกาย ฯลฯ  นาฏศิลป์ ได้แก่เรือมอันเร ( รำสาก )  ระบำรำกรับ ( จะตะล็อก ) ฯลฯ  และดุริยางค์ศิลป์  เช่น การเป่าใบไม้ การเป่าขนสัตว์ และที่สำคัญคือพิณน้ำเต้าสายเดียวของเมืองสุรินทร์ที่มีวิธีการผลิตเสียง Overtones Harmonics  หรือ  Jaw Harys  และโหวด  เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์อย่างเดียวกันกับที่มีในกรีกโบราณที่เรียกว่า ( Pan Pipe  )  ซึ่งเด็กเลี้ยงควายชาวสุรินทร์ ประดิษฐ์เองและเป่าเป็นเพลงเล่นกันทั่วไป

นั่นคือชาวสุรินทร์เคยมีอารยธรรมอันสูงส่งมาก่อน  การถอดความจากสาระในเพลงตรุษ ( ที่ชาวสุรินทร์เล่นในยามสงกรานต์เดือนห้านั้น )  กล่าวถึงท้าวพรหมทัตและมเหสีผู้มีสิริโฉมงดงาม  เป็นต้น  รวมทั้งมโนทัศน์ของการเล่นตรุษ (ตรษ) เน้นการอวยพร  การรวมพวกสามัคคี  มีรูปแบบการละเล่นสำหรับความสนุกสนานและพักผ่อนหย่อนใจช่วงเดือนหยุดงานอย่างมีความหมาย  กล่าวคือ  เริ่มศักราชใหม่จะตีฆ้องไล่บอกข่าวส่งวิญญาณไปสู่สวรรค์  มีการหยุดทำงาน 3-7 วัน (เรียกว่า  วันตอม)  มีการรำตรุษเพื่ออวยพรให้เจริญรุ่งเรืองกันถ้วนหน้า  หัวค่ำจะเล่นสะบ้าใช้สำหรับเด็ก  ตึกค่อนก็โลดอันเร (เต้นสาก) สำหรับหนุ่มสาว  และค่อนสว่างก็เล่นเพลงนอรแกวสำหรับคนแก่  เหล่านี้ถือเป็นความอัจฉริยะของการจัดกิจกรรมเหมาะสมกับวัย  และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น

ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยของเพลงดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านสุรินทร์มีดังนี้

เพลงพื้นบ้านกันตรึม

กันตรึม เป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่นำเอาจังหวะตีโทน  โจ๊ะคะครึม-ครึม  มาเป็นชื่อดนตรี  เรียกว่า “กันตรึม”  ซึ่งหมายถึง โทนนั่นเอง  บทร้องกันตรึมจะใช้บทร้องเป็นภาษาเขมร  การเล่นกันตรึมนิยมเล่นในงานมงคลต่าง ๆ เช่น  งานแต่งงาน  งานโกนจุก  บวชนาค  หรืองานเทศกาลประจำปี

หน้า 150

เครื่องดนตรี   ประกอบด้วย  สก็วล (กลองโทน) 1 คู่  ปี่อ้อ  1 เลา  ฉิ่ง 1 คู่  กรับ  1 คู่  ซออู้  1 คัน

หน้า 151

ผู้เล่นดนตรี  ในวงกันตรึมจะมีประมาณ 6-8 คน  ผู้ร้องจะเป็นชายหญิงอาจจะมี 1-2 คู่  หรือชาย 1 คน  หญิง 2  คน  โดยทั่วไปนิยมชาย 2 หญิง  2

การแต่งกาย   ทั้งนักดนตรี และนักร้องชาย หญิง  ไม่มีแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ตายตัว  จะแต่งกายตามความสะดวกสบายทันสมัย  และถูกใจผู้ชม  เช่น  หญิงจะนุ่งผ้าถุงไหมพื้นเมือง  สวมเสื้อแขนกระบอก  ห่มสไบเฉียงบ่ามามัดรวมไว้ด้านข้างระดับเอวชายนุ่งผ้าโสร่ง  หรือโจงกระเบน  สวมเสื้อสีขาวแขนยาว  หรือเสื้อคอกลมแขนสั้น  มีผ้าไหมคาดเอว  และคล้องไหล่ทิ้งชายผ้าไปด้านหลัง

บทเพลงที่ใช้ประกอบวงกันตรึม  บทเพลงกันตรึมไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราวมักจะคิดคำกลอนให้เหมาะกับงานที่เล่น  หรือใช้บทร้องเก่า ๆ ที่จำกันมา บทเพลงและทำนองเพลงกันตรึมมีหลายทำนองหลายจังหวะ  ซึ่งมีมากจนบางแห่งทำนองเพลงไม่มีใครสามารถจำได้  เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

บทเพลงกันตรึมแบ่งออกเป็น 4  ประเภท

1.บทเพลงชั้นสูง  หรือเพลงครู  เป็นบทที่ถือว่ามีความไพเราะสูงศักดิ์ทำนองเพลงโหยหวน  แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์เช่นเพลงสวายจุมเวี้อด  รำเป็อย  จองได  เพลงชแร็ยสะเดิง ฯลฯ

2. บทเพลงสำหรับขบวนแห่  มีทำนองสง่าครึกครื้นสนุกสนาน  มีการฟ้อนรำประกอบการขับร้อง  มีหลายทำนอง  เช่น  รำพาย  ชมโปงคร็อบคุมฯลฯ

3. บทเพลงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เป็นบทเพลงที่มีทำนองรวดเร็ว  เร่งเร้าให้ได้รับความสนุกสนาน  ใช้เป็นบทขับร้องในโอกาสทั่ว ๆ ไป  เช่น เกี้ยวพาราสี  สั่งสอน  สู่ขวัญ  รำพึงรำพัน ฯลฯ  ทำนองมีหลายทำนอง  เช่น   อมตูก  กันเตรย  โมเวยงูดตึก  กโน้ปติงตอง  มลปโดง  ฯลฯ

4. บทเพลงประยุกต์  เป็นบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลงลูกทุ่งประยุกต์  เป็นทำนองเพลงกันตรึม  เช่น  ดิสโก้กันตรึม  สัญญาประยุกต์ ฯลฯ

วิธีเล่นกันตรึม  ก่อนเล่นกันตรึม  จะต้องมีพิธีไหว้ครู  เพื่อเป็นสิริมงคลทั้งผู้ดูและผู้เล่น  เมื่อไหว้ครูเสร็จจะเริ่มบรรเลงเพลงเป็นการโหมโรง  เพื่อปลุกใจให้ผู้ดูตื่นเต้น  และผู้แสดงได้เตรียมตัว  จากนั้นจะเริ่มแสดงโดยเริ่มบทไหว้ครู  วิธีการร้องจะต้องโต้ตอบกันระหว่าง  ชาย – หญิง  มีการรำประกอบการร้อง  ไม่มีลูกคู่รับ

หน้า 152

เจรียง

เจรียง   หรือ จำเรียง หมายถึงการขับร้องหรือการออกเสียงเป็นทำนองเสนาะ  โดยใช้กลอนสดเป็นส่วนใหญ่  ขับร้องเป็นเรื่องราว

การเจรียงถ้าประกอบเสียงปี่จะเรียกจะเจรียงจรวง  ถ้าเจรียงประกอบเสียงซอเรียกเจรียงตรัว   ถ้าเจรียงมีเสียงแคนประกอบเรียกเจรียงเบริน  ถ้าเจรียงมีการร้องรับว่า “แกวเอย  เอ๊ยนรแกว”  ประกอบเสียงตบมือเรียกเจรียงนอรแกว  เป็นต้น  การเจรียงแต่ละประเภทจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป  ขึ้นอยู่กับประเภทของการเจรียง  เช่น

เจรียงนอรแกว

เจรียงนอรแกว เป็นการเล่นกลอนโต้ตอบกันระหว่าง ชาย-หญิง  แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลง แม่เพลงร้องนำ  มีลูกคู่ร้องตาม  ต่อจากนั้นชายหญิงแต่ละฝ่ายจึงร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ คำร้องส่วนใหญ่เป็นคำสุภาพ

วิธีเล่นนอรแกว  ผู้เล่นจะเข้าแถวหันหน้าเข้าหากัน    ระหว่างชาย-หญิง  เมื่อเริ่มเล่นลูกคู่จะร้องก่อนหนึ่งหรือสองเที่ยวว่า “แกวเอย  เอ๊ยนอรแกว แกวขันเอย”  เป็นลูกคู่ร้องจบ  พ่อเพลง  และแม่เพลง  ก็ขึ้นต้นบทกลอน  เมื่อร้องจบลูกคู่จะตอบรับอีกเที่ยวหนึ่ง  อีกฝ่ายหนึ่งก็ร้องโต้ตอบสลับกันไป

การแต่งกาย ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าไหมพื้นบ้าน  สวมเสื้อแขนยาวหรือแขนสั้นตามที่มี  มีผ้าสไบพาดคล้องไหล่ทิ้งชายมาด้านหน้า  ฝ่ายชายเดิมนุ่งโสร่ง  สวมเสื้อแขนสั้น  หรือแขนยาว  มีผ้าขาวม้าคาดเอว

เจรียงเบริน

เป็นการร้องโต้ตอบระหว่าง  ชาย – หญิง  เป็นทำนอง  “ลำ”  โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบเจรียง  เป็นคำภาษาเขมร  แปลว่า “ร้อง”  เบรินเป็นชื่อการเจรียงโต้ตอบซึ่งมีคำร้องเป็นภาษาเขมร  เข้าใจว่าวิวัฒนาการมาจาการเล่นไปยอังโกง   ซึ่งมีลักษณะการเล่นคล้ายกับทำนองการเป่าปี่ไปยอังโกง  จะมีทำนองคล้ายกับเสียงแคนที่เป่าประกอบการเล่นเจรียงเบริน  ลักษณะการเล่นเจรียงเบรินคล้าย ๆ หมอลำกลอนของชาวไทยลาว

การเล่นเจรียงเบริน  จะมีบทร้องแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ  คือบทร้องสั้นที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงในแต่ละครั้ง  ซึ่งมีความยาวไม่เกิน 6 วรรค  แล้วเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งร้องโต้ตอบเพื่อแก้กลอนกัน  ส่วนบทร้องยาวจะเป็นบทร้องที่มีความหมายยาวหลายบท  ในการร้องโต้ตอบแต่ละครั้ง   ไม่จำกัดความยาว  ผู้เล่นประกอบด้วยนักเจรียงฝ่ายชาย  1  คน หญิง 1 คน  และหมอแคน  1 คน  เนื้อร้องทุกบทจะนำมาจากคัมภีร์ในทางพุทธศาสนา  ในคัมภีร์จะปรากฏเรื่องราวที่เป็นคำสอนต่าง ๆ ความรู้เกี่ยวกับกำเนินมนุษย์  งานประเพณีโกนจุก  บวชนาค  งานกฐิน  งานแต่งงาน และงานศพ  ตลอดจนงานเทศกาลประจำปีต่าง ๆ ฉะนั้นเจรียงเบริน  จึงเล่นได้ทุกโอกาสทั้งงานมงคลสมรสและงานอวมงคล

การแต่งกาย  โดยฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าถุงพื้นบ้านสุรินทร์  สวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว  มีสไบพาดชายนุ่งโสร่งมีผ้าคาดเอว  สวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวตามที่หาได้และเห็นว่าสวยงามที่สุด


อุปกรณ์ในพิธีไหว้ครู  ฝ่ายเจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมหาไว้  ประกอบด้วยกรวยดอกไม้ 5  กรวย  ธูป 5  ดอก  เทียน 1 คู่  หมาก-พลู  5 คำ  เหล้าขาว 1 ขวด  ผ้าขาวยาว 5 ศอก  เงินกำนัล   22  บาท  เครื่องรางของขลังที่มีติดตัวมา  นำมาใส่ในพานดอกไม้เพื่ออธิฐานของคุ้มครองให้มีโชคร้องรำไม่ผิดพลาด

วิธีการเล่นเจรียงเบริน  ก่อนเริ่มเล่น  จะมีการไหว้ครู  เมื่อไหว้ครูเสร็จหมอแคนจะเป่าแคนนำก่อน  แม่เพลงเจรียงเบรินจะฟ้อนประกอบเสียงแคนแล้วเริ่มโอ่  โดยเอามือป้องหู  (เป็นการฟังเสียงร้องกับเสียงแคนว่าเข้ากันหรือไม่)  แล้วเริ่มเจรียงด้วยบทไหว้ครู  ปฏิสันฐานกับผู้ฟังและเจรียงเป็นการบอกกล่าวถึงความสำคัญของงานนั้น ๆ   ว่ามีการบำเพ็ญกุศล  มีอานิสงส์อย่างไร  มีการยกนิทานอุทาหรณ์ประกอบการเจรียง  โดยเจรียงเป็นเชิงกระทู้ถาม-ตอบ  ในทำนอง  ปุจฉา  วิสัชชนา  หลังจากนั้นจึงเจรียงทั่ว ๆ ไป


เรือมอันเร (ลูดอันเร)

เรือม  แปลว่า “รำ”  ลูด หรือโลด  แปลว่า  “กระโดด”  หรือ “เต้น”  อันเร   แปลว่า “สาก”  ฉะนั้น  เรือมอันเร  หรือ  ลูดอันเร  จึงแปลว่า “รำสาก”  หรือ  “เต้นสาก”

การเล่นเรือมอันเร  จะเล่นกันในวันหยุดสงกรานต์  ซึ่งเรียกว่า “วันตอม”  ชาวสุรินทร์ถือว่า วันขึ้น 1 ค่ำ  เดือนห้า  เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ  ชาวสุรินทร์จะพากันหยุดงาน 3  วัน  ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 3 ค่ำ  เดือนห้า  เพื่อพักผ่อน  และไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองที่เขาสวาย  พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ  จะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไป  รุ่งขึ้น  วันขึ้น 15 ค่ำ  มีการทำบุญตักบาตร  และจากวันแรม 1 ค่ำเป็นต้นไป  ตามประเพณีให้หยุดงานอีก 7 วันเพื่อพักผ่อนในระหว่างหยุดประจำปีในช่วงนี้  ชาวบ้านจะเล่นเรือมหรือลูดอันเร  ที่ลานบ้านหรือลานวัด

หน้า 154

เครื่องดนตรี  ที่ใช้ประกอบเรือมอันเร  มีสก็วล (กลองโทน)  1 คู่  ปี่ซลัย (ปี่ใน) 1 เลา  ซออู้เสียงกลาง 1 คัน  ฉิ่ง กรับ  ฉาบ  อย่างละ 1 คู่  และมีอุปกรณ์ประกอบการเล่นเรือมอันเร  คือ  สาก 2 อัน  ยาวประมาณ  2 – 3 เมตร  ทำจากไม้เนื้อแข็ง  เช่น  ไม่พยุงหรือไม่ประดู่  มีไม้หมอนวางรองหัวท้ายสาก  ความยาว  1.50 เมตร  สูงประมาณ  3-4 oนิ้ว

การแต่งกาย  แต่เดิมไม่พิถีพิถัน  แต่งกายตามสบาย  หากแต่งตัวให้สวยงามจะแต่งตามประเพณีแต่โบราณ   คือ ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น  ผ้าขาวม้าคาดเอวและคล้องไหล่  หญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่า “ซัมป็วตโฮล”  สวมเสื้อแขนกระบอก  มีสไบพาดไหล่มามัดรวบไว้ด้านข้าง  สวมเครื่องประดับดอกไม้ทัดหู  ใช้ผู้รำไม่จำกัดจำนวน  ทำนองและจังหวะในการรำ  ในสมัยก่อนมีเพียง 3 จังหวะ  คือ  จังหวะ  จืงมูย  จังหวะ มลปโดง  และจังหวะจืงปีร์   ต่อมามีการพัฒนาท่ารำเพิ่มขึ้น  รวมเป็น  5 จังหวะดังนี้

  1. 1. จังหวะไหว้ครู  หรือเกริ่นครู
  2. 2. จังหวะกัจปกา
  3. 3. จังหวะจืงมูย
  4. 4. จังหวะมลปโดง
  5. 5. จังหวะจืงปีร์

ถ้ารำในสมัยก่อน  ไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผนแน่นอน  เพราะเป็นการรำเต้นกันอย่างสนุกสนานในยามพักผ่อน  ส่วนมากผู้ที่อยู่ในวงรำกระทบสากจะเป็นหญิงล้วน  ส่วนหนุ่ม ๆ จะมาเป็นกลุ่มยืนชมสาวที่กำลังรำอยู่  หากชอบคนไหนก็จะเข้าไปรำด้วย  ดังนั้น  ท่ารำของหญิงจึงเป็นท่ารำปกป้องของสงวน  คอยป้องกันไม่ให้หนุ่ม ๆ มาถูกเนื้อต้องตัว  เมื่อสาวรำเข้าสาก  หนุ่มก็รำตามเข้าสากด้วย  การเรือมอันเร จึงเป็นการละเล่นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวสมัยก่อน

ปัจจุบันเรือมอันเร  แต่ละหมู่บ้านแตกต่างกันไปบ้าง  แต่ได้มีการพัฒนาไปสู่แบบแผน  และเนื่องจากมีการส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณีคล้องช้างประจำปี   การเล่นเรือมอันเร  จึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในงาน  เพราะมีการนำเรือมอันเรมาแสดงในงานช้างทุกปี  และยังใช้เป็นชุดการแสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอีกด้วย

หน้า 155


เรือมอายัย

เรือมอายัย  เป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์อีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีมานานแล้ว  คือ  การเรือมอายัย  เป็นการร้องโต้กลอนเป็นการเกี้ยวพาราสี  ระหว่างหนุ่มสาวนิยมเล่นกันในงานเทศกาลต่าง ๆ

การเล่นเรือมอายัย

การแต่งกายเรือมอายัย แต่งตามสบายไม่มีแบบแผนแน่นอน  ถ้าแต่งตามประเพณีพื้นบ้าน  จะแต่งกายเหมือนเรือมอันเร  คือนุ่งผ้าถุงพื้นเมือง  สวมเสื้อแขนกระบอกมีผ้าสไบคล้องคอ  ทิ้งชายผ้ามาด้านหน้า  ส่วนชายจะนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นมีผ้าไหมคาดเอว  ผู้แสดงเรือมอายัยประกอบด้วย  ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  ร้องโต้ตอบกันอาจจะมี 4-5 คู่  หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับสถานที่แสดง

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบเรือมอายัย  มีกลอง  (สก๊วล) 1 คู่  ปี่อ้อ  1 เลา  ซอด้วง  1 คัน  ฉิ่ง  ฉาบ  กรับ ทำนองและจังหวะที่นำมาใช้ประกอบเรือมอายัย  เป็นทำนอง  เร่งเร้า  สนุกสนาน  เรียกว่า  “อายัยลำแบ”

โอกาสที่ใช้แสดงเรือมอายัย  แสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ ที่เป็นงานรื่นเริงสนุกสนาน

ท่ารำเรือมอายัย  ไม่มีแบบแผนตายตัว  เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี  และขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้รำ  ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบและแบมือ  เลยเรียกว่า  อายัยลำแบในท่าฟ้อนเกี้ยว  ท่ารำของฝ่ายหญิง  จะเป็นท่าที่คอยปัดหรือท่าปกป้อง  ระวังการถูกเนื้อต้องตัวของฝ่ายชาย  ในการตีบทรำจะตีบทตามเนื้อหาของเพลง  ซึ่งสามารถสื่อความหมายให้ผู้ชมทราบว่า  ท่ารำเหล่านั้นหมายถึงอะไร

หน้า 156

วิธีการแสดง ผู้รำจะรำไหว้ครูพร้อมกัน  หลังจากนั้นจึงเป็นการออกมาโต้กลอนระหว่างชาย-หญิงเป็นคู่ ๆ และมีลูกคู่ร้องรับ  เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องจบแต่ละวรรค  และมีดนตรีบรรเลงรับ  ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวกัน  ลูกคู่ทั้งหลายจะคอยสนับสนุนให้กำลังใจฝ่ายของตน  เมื่อดนตรีจบจะเปลี่ยนคู่ใหม่ออกมาร้องโต้กลอนกันใหม่ในบทและท่ารำที่ตนเองถนัด  รูปแบบการแสดงจะปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทุกคู่  เมื่อจบสุดท้ายจะมีบทลา  แล้วผู้รำจะรำเข้าไปข้างใน

วงมโหรีพื้นบ้าน

วงมโหรีพื้นบ้าน  คือ การนำเอาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายและเครื่องดนตรีประเภทปี่พาทย์บางชิ้นมาประสมกัน  โดยมีซอเป็นเครื่องดนตรีหลักใช้บรรเลงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน  งานขึ้นบ้านใหม่  เป็นต้น   ซึ่งมีอยู่แทบทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์  อันแสดงว่าเป็นท้องถิ่นมีอารยธรรมและยิ่งใหญ่ในอดีต  เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในวงมโหรีพื้นบ้านสุรินทร์ประกอบด้วย  ซอกลางลักษณะเหมือนซออู้  แต่เสียงสูงกว่าซออู้เล็กน้อย  หรือเรียกว่า  ซออู้เสียงกลาง  ปี่ใน  (ซลัย) ซออู้  ซอด้วง  กลองสองหน้า  ฉิ่ง  ฉาบ

เพลงที่ใช้ประกอบในวงมโหรี  จะมีเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง  ประเภทเพลงขับร้องจะมีบทร้องโดยไม่มีท่ารำประกอบ  เช่น  บทเพลงกันตบ  เนื้อร้องจะเป็นบทสอนหญิง  บทเพลงเขมรเป่าใบไม้  บทเพลงก็อทครู ฯลฯ  ส่วนบทเพลงที่มีท่ารำประกอบ  เช่น  เพลงอมตูก (พายเรือ)  เพลงมลปโดง (ร่มมะพร้าว)   เพลงอายัยโบราณ  เพลงซองซาร (หมายถึงที่รัก)  บทเพลงดังกล่าวจะมีการฟ้อนรำประกอบ  โดยเฉพาะอายัยโบราณ  และเพลงซองซาร  ในการร้องจะเป็นการร้องโต้ตอบระหว่างหญิง-ชาย  เป็นการเกี้ยวพาราสีกัน  เนื้อร้องจะเป็นภาษาเขมร  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน  และวงมโหรีพื้นบ้าน  ยังมีบทบาทต่อชาวบ้านในด้านต่าง ๆ เช่น  เป็นเครื่องนันทนาการของสังคมชาวบ้าน  เป็นสื่อประสานสัมพันธ์ทางสังคม  ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสมาพบปะกัน  เกิดความใกล้ชิด  สามัคคีกลมเกลียว  นำไปสู่เอกลักษณ์และการรวมกลุ่ม  ส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่น  พัฒนาความสัมพันธ์ของประชาชนและพัฒนาประเทศ.



-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------