Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ตอนที่  3

การทอผ้าไหม

หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536

มรดกทางวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์โบราณ   อย่างหนึ่งที่ทิ้งไว้ให้แก่ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรในปัจจุบันคือ ศิลปะในการทอผ้าไหม  เพราะถึงแม้ว่า  ผ้าไหมจะมีการทอใช้ในท้องที่หลายแห่งของประเทศไทยก็ตาม  แต่รูปแบบของศิลปะ  ลวดลาย  และวิธีการทอผ้าในท้องที่ดังกล่าวนั้น  ก็ไม่เหมือนที่มีอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์

การเตรียมเส้นไหม

ชาวสุรินทร์สมัยก่อน  เวลาอพยพครอบครัวไปอยู่หมู่บ้านอื่น  สัมภาระที่ต้องขนกันมาก  ดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือทอผ้า  เพราะดูเหมือนว่าการบรรทุกเครื่องมือทอผ้านั้น เกวียนเล่มหนึ่งแทบจะขนไม่หมด  เพราะเครื่องมือเหล่านั้นมีมาก

หน้า 35

.ในการเตรียมเส้นไหมก่อนที่จะเข้ากี่ทอผ้า  ก็เช่นเดียวกัน  ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีแม่กับลูกสาว  2 คน  ช่วยกันเตรียมเส้นไหมเพื่อทอผ้าไหมมัดหมี่  เขาจะต้องใช้เวลาในการเตรียมเส้นไหม  เป็นเวลาถึง  3 เดือนทีเดียว  นั่นก็หมายความว่า  เขาจะต้องใช้เวลาหลังการเก็บเกี่ยวทั้งฤดูกาล  เพียงเพื่อทอผ้าไหมให้ได้เพียง 1 กี่เท่านั้น (ถ้าเป็นผ้านุ่ม จะได้ประมาณ 12 ขีด  15  ผืน ต่อหนึ่งกี่)

ก.  การเตรียมเส้นยืน  เส้นไหมที่ใช้ทอนั้นมี 2 ชนิด  คือ เส้นยืนและเส้นพุ่ง  สำหรับเส้นยืนจะมีความยาวประมาณ 25 เมตรเศษ   ทั้งนี้แล้วแต่จะต้องการผ้าไหมกี่ผืน  ภายหลังจากสาวเป็นเส้นไหมแล้ว  สิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำอย่างพิถีพิถันก็คือ

  1. 1. การตีเกลียว เส้นไหมที่ไม่ได้ตีเกลียวจะใช้ทอไม่ได้
  2. 2. การควบเส้น โดยมากมักจะควบอย่างน้อย 2 เส้น  เพื่อให้ผ้าไหมหนาพอสมควร
  3. 3. การฟอก เพื่อให้เส้นไหมนิ่ม ทำให้ทนทานในการใช้สอย
  4. 4. การย้อมสี ตามความต้องการของผู้ทอว่าจะต้องการพื้นสีอะไร
  5. 5. การเข้ากี่ การเตรียมเส้นยืน  ตามที่กล่าวมานี้  ถ้าหากพิจารณาดูตามนี้  รู้สึกว่าจะไม่มากนักแต่ขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้นยุ่งยากและยาวมากทีเดียว (ดังภาพ)

หน้า 36

ข.  การเตรียมเส้นพุ่ง ตามปกติผ้าไหมมัดหมี่ มักจะมีการมัดเพียงเส้นพุ่งเท่านั้น  ยกเว้นผ้าอัมปรม  ซึ่งมีการมัดเส้นยืนด้วย  วิธีการขั้นต้นเช่นเดียวกันกับการเตรียมเส้นยืนข้อ 1 – 3 แต่หลังจากนั้นก็มีการมัดหมี่ตามลวดลายที่ต้องการก่อนที่จะเข้ากระสวย  เพื่อทอเป็นผ้า (ดังภาพ)

หน้า 37

การทอผ้าไหนในท้องที่จังหวัดสุรินทร์นั้น  มีความแตกต่างจากการทอผ้าไหมในจังหวัดอื่นหลายประการ  แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้  เพราะประการแรก  จังหวัดสุรินทร์มีการทอผ้าไหมทุกแบบ  ที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น

  1. 1. การทอผ้าพื้น ซึ่งมีการทอในจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่ง  แต่เพราะชาวสุรินทร์เห็นว่า  ผ้าไหมนั้นเป็นของสูง  ดังนั้น  การที่จะทอผ้าพื้นธรรมดาก็ดูเหมือนจะไม่มีค่าเพียงพอในการที่จะเก็บรักษาหรือสวมใส่  ดังนั้น  ถ้าหากจะทอผ้าพื้น  ก็จะต้องทอให้เป็นประเภทที่แสดงออกทางด้านศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ  การทอผ้าไหมพื้นของชาวสุรินทร์  ซึ่งต้องทอด้วยเส้นไหมพุ่ง 2 เส้น  ต่างสีตีเกลียวกัน  เมื่อทอออกมาแล้วจะทำให้ผ้ามีสีสวยงามกว่าปกติ  โดยเรียกชื่อว่า  ผ้ากระนิว (คนไทยเรียกว่า  ผ้าหางกระรอก)  ซึ่งคนไทยสมัยก่อนนิยมใส่จูงกระเบน  บางทีก็เรียกว่า ผ้าม่วง นั่นเอง

หน้า 38

2.    ผ้าลายตาราง เนื่องจากชาวสุรินทร์นิยมใส่ผ้าไหมในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง  โดยเฉพาะผู้ชายนั้นจะมีผ้าโสร่งสำหรับนุ่ง  ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าตาราง เช่นเดียวกับผ้าขาวม้า (สไบไหม) ซึ่งนิยมใช้คาดเอว  ส่วนสตรีนั้นจะทอผ้าตารางเล็ก ๆ คือผ้าสระมอ  ผ้าสาคู  อันลูนเสียม (ลายไทย)

หน้า 39

3.  ผ้ายกดอก ผ้าไหมซึ่งเป็นที่นิยมทอใช้สำหรับสตรีชาวสุรินทร์  ไม่ว่าจะเป็นสำหรับตัดเสื้อ หรือทำผ้าสไบเฉียงก็คือผ้ายกดอก ซึ่งอย่างน้อยจะต้องใช้ 2 สีขึ้นไป  ผ้ายกดอกที่มีการทอในจังหวัดสุรินทร์  เท่าที่พบมีอยู่ 3  แบบคือ

(1) ผ้าฉนูดเลิก เป็นผ้ายกธรรมดา  ซึ่งอาจจะทอด้วยสีขาวหรือดำอย่างเดียวก็ได้  หรืออาจจะทอ 2 สีก็ได้ ลักษณะการทอผ้ายกดอกชนิดนี้  มีเครื่องมือการทอเช่นเดียวกับผ้ายกเมืองนคร (นครศรีธรรมราช)  หรือผ้ายกเชียงใหม่  หรือผ้ายกร้อยเอ็ด  จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ผ้ายกเหล่านั้นมักจะใช้ดิ้นเงิน  หรือดิ้นทองเป็นเส้นพุ่งเพื่อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้นเท่านั้น

(2) ผ้าละเบิก เป็นผ้ายกที่ใช้เส้นพุ่งกับเส้นยืนคนละสี  เมื่อทอออกมาแล้ว  จะทำให้มองดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

(3) ผ้าดอกพิกุล เป็นผ้ายกอีกแบบหนึ่งที่ใช้ 2 สีเช่นเดียวกัน  แต่การยกดอกแตกต่างกันเท่านั้น  วิธีการทอผ้ายกดอกนั้น  สิ่งที่ต้องเน้นมากที่สุดก็คือ  จำนวนตะกอ  ถ้าหากดอกเล็กจะใช้ตะกอน้อย  แต่ถ้าหากดอกใหญ่  จะใช้ตะกอมากขึ้น   ตะกอที่ใช้ทอผ้ายก  จะมีตั้งแต่ 4-12 ตะกอทีเดียว

หน้า 40

  1. 4. ผ้าจก หลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า  ชาวสุรินทร์นั้นนอกจากทอผ้าไหมแบบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว  ยังสามารถทอผ้าจกเช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไปได้ด้วย

หลักฐานที่แสดงนั้นก็คือ  ผ้าปะโบร์  คือผ้าไหมมัดหมี่โฮล  สมัยโบราณนั้นเนื่องจากฟืมทอผ้ามักจะสั้น  เมื่อทอเสร็จแล้ว  ผ้าที่นุ่งมักจะสั้นเกินไป  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทอผ้าชิ้นเล็ก ๆ เพื่อต่อที่ชายด้านล่าง  ผ้าที่ชาวสุรินทร์เรียกปะโบร์ ก็คือผ้าสิ้นตีนจก  ที่ชาวหาดเสี้ยวอุทัยธานี  สุพรรณบุรีทอกันนั่นเอง

การทอผ้าจก เนื่องจากต้องการลายผ้าใหญ่  ต้องใช้ตะกอมาก  คือตั้งแต่ 8 ตะกอขึ้นไปซึ่งลำบาก  ผู้ทอจึงใช้วิธีการจกดีกว่า

หน้า 41

5. ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่  เป็นศิลปะการทอผ้าชนิดหนึ่ง  ซึ่งใช้วิธีการมัดแล้วย้อมสี (Tie  and dye)  วิธีการมัดและย้อมสีเพื่อให้สามารถได้รูปร่างหรือลายผ้าที่ต้องการนั้น  จึงนับว่าเป็นศิลปะที่มีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง  ศิลปะการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่ดูเหมือนจะมีเฉพาะประเทศในแถบเอเซียเท่านั้น  ส่วนทางยุโรป  อเมริกา  ดูเหมือนจะไม่มี  สำหรับลายผ้ามัดหมี่ที่เห็นอยู่โดยทั่วไปนั้น  จะมีลายที่มีลักษณะเป็นรูปเรขาคณิต  คือเป็นมุมฉาก  หรือตัดตรง  ลายที่เห็นกันตามปกติจะได้แก่   ลายหมี่ขอ  หมี่ข้อ  หมี่คั่น  หมี่โคม  หมี่กง  หมี่บักจับ  ซึ่งมักจะพบเห็นได้ในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทบทุกจังหวัด  ส่วนจังหวัดอื่นในภาคกลาง  ก็จะพบแถวจังหวัดสุพรรณบุรี   ราชบุรี  อุทัยธานี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  ซึ่งส่วนมากท้องที่เหล่านั้นมีชาวอีสานอพยพไปอยู่แทบทั้งนั้น

ประการที่สอง  ลายผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์  นอกจากมีลายธรรมดาที่มีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว  ยังมีลายที่แปลกและไม่เหมือนจังหวัดใดเลยอีกมากมาย  จากการศึกษาลายผ้าไหมมัดหมี่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ปรากฏว่า  สามารถกำหนดแม่ลายหลักไว้ได้หมด  แต่จังหวัดสุรินทร์นั้น  ถึงแม้ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาหลายปี  ก็ไม่สามารถกำหนดแม่ลายหลักได้  นั่นคือลายต้นไม้  ลายรูปนก  ลายรูปสัตว์  ลายกนก  และลายอื่น ๆ  ลายหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้เรียกว่า  แม่ลาย

แม่ลายมัดหมี่

ลายที่ใช้ในการทอผ้ามัดหมี่  ในภาคอีสานและภาคกลางมีจำนวนมากมาย  แต่จากการสำรวจและศึกษาลายต่าง ๆ เหล่านี้  สามารถจะจัดกลุ่มและคัดเลือกออกมาเป็นแม่ลายพื้นฐานได้ 7 ลายได้แก่

หน้า 42

แม่ลายมัดหมี่ 7  ลาย

  1. 1. หมี่ข้อ
  2. 2. หมี่โคม
  3. 3. หมี่บักจับ
  4. 4. หมี่กงน้อย
  5. 5. หมี่ดอกแก้ว
  6. 6. หมี่ขอ
  7. 7. หมี่ใบไผ่

หน้า 43

ก. ผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดต่าง ๆ อาทิเช่น

หน้า 47

ข.  ผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์ สำหรับจังหวัดสุรินทร์นั้น  นอกจากมีการทอผ้าไหมมัดหมี่คล้าย ๆ กับที่เห็นในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว  ยังมีลายที่มีความแตกต่างไปอีกมากมายหลายชนิด (จากการศึกษาลายผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทย  ซึ่งมีอยู่ประมาณ 800 ลาย  ปรากฏว่ามีอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า 500 ลาย)

ผ้าอัมปรม  ตามปกติผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทย  จะเป็นการมัดเฉพาะเส้นพุ่ง  ส่วนประเทศที่มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งเส้นยืนนั้น  มีอยู่เพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ  แกรชิงของจีน  ปโตลาของอินเดียตอนเหนือ  บาหลีของอินโดนีเซีย  และญี่ปุ่น  แต่ในจังหวัดสุรินทร์มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน  คือผ้าอัมปรมนี้เอง   ทำให้เชื่อว่าศิลปะการทอผ้าไหมมัดหมี่ชนิดแรกที่เกิดขึ้น  น่าจะเป็นผ้าอัมปรมนี้เอง  มีลักษณะเป็นจุดประขาว  สีเปลือกมังคุด  (เหมือนดาวที่ทอแสงระยิบระยับในเดือนมืด)  ดูคล้ายกับผ้าตารางธรรมดาเท่านั้น  จึงน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อม ๆ กับการแผ่ขยายทางศาสนาฮินดู  เมื่อสมัย 2000 ปีมาแล้ว

ก. ผ้ามัดหมี่ลายธรรมดา  มีลายหมี่โคม  หมี่คั่น  หมี่ข้อ  ซึ่งจะพบที่บ้านจารพัต  อ.ศรีขรภูมิ  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์  อ.เมือง บ้านสวาย  บ้านนาแห้ว  ต.สวาย  อ.เมือง  สุรินทร์

ข. ผ้ามัดหมี่ลายกนก  เช่นลายพุ่มข้าวบิณฑ์  ลายสับปะรด  ลายก้านแย่งประจำยาม  ลายพนมเปญฯลฯ  จะพบมากที่บ้านสวาย  ต.สวาย  อ.เมือง  สุรินทร์

ค. ผ้ามัดหมี่ลายต้นไม้   ลายรูปสัตว์  และลายผสมอื่น ๆ  พบมากที่บ้านสวาย  ต.สวาย  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์  บ้านจันรม  ต.ตาอ๊อง  อ.เมือง  สุรินทร์

ง. ผ้าปูม  เป็นผ้ามัดหมี่ลวดลายสวยงามมาก  ในสมัยที่เขมรขึ้นต่อประเทศไทย เขมรต้องส่งผ้าทอชนิดนี้ให้เป็นเครื่องราชบรรณาการ  และขุนนางไทยนำไปใช้นุ่งแสดงฐานันดรศักดิ์  ผ้าปูมนี้ยาวประมาณ 4 เมตร  หรือ 2 เท่าของผ้านุ่งธรรมดา   ลายโบราณเหล่านี้สามารถทอได้ในบ้านสวาย  บ้านนาแห้ว  ต.สวาย  บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์

จ. ผ้าโฮล  นับเป็นผ้าที่ชาวสุรินทร์ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง  และเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่สุรินทร์โดยแท้  ที่ที่อื่นซึ่งมิใช่ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรไม่สามารถเลียนแบบได้  อีกประการหนึ่ง  ผ้าโฮลเป็นผ้าชนิดเดียว  ที่ชาวสุรินทร์ยังนิยมย้อมสีธรรมชาติมาโดยตลอดเวลา  ในการเรียนทอผ้าโฮลนั้นยากกว่ามาก  ในแต่ละหมู่บ้านที่มีการทอผ้ามัดหมี่จำนวนมาก  แต่ที่ทอผ้าโฮลได้มีไม่มากนัก   ดังนั้น  ผ้าโฮลจึงเป็นเอกลักษณ์ชิ้นหนึ่งของชาวสุรินทร์

หน้า 105

ชนิดผ้าไหม

ผ้าไหมสุรินทร์ มีการแบ่งชนิดตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1.  ผ้านุ่ง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผ้านุ่งผู้ชายและผ้านุ่งสตรี ผ้านุ่งผู้ชายนั้นตามปกติผู้ชายสมก่อนจะนุ่งโสร่งไม่ว่าจะเป็นเวลาอยู่บ้านหรือออกนอกบ้าน ลักษณะผ้าโสร่งจะเป็นผ้าตารางตามที่เห็นในภาพ สำหรับสตรีแบ่งผ้านุ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผ้านุ่งสำหรับอยู่บ้าน ซึ่งปกติจะนุ่งผ้าไหมชนิดที่เรียกว่า ผ้าสระมอ ผ้าสาคู หรืออันลูนเสียม (ลายไทย) ซึ่งผ้าทั้ง 3 อย่างนี้เป็นผ้าไหมที่ทอเป็นผ้าพื้นธรรมดาเพียงแต่สลับสีระหว่างเส้นพุ่งกับเส้นยืนเท่านั้น ตามปกติผ้าสระมอ จะมีสีเขียวขี้ม้า สลับสีขาว ผ้าสาคู จะมีสีแดง เขียว น้ำเงินสลับกัน  ผ้าอันลูนเสียมจะเป็นสีแดง เทา ส้ม ขาวสลับกัน สำหรับออกนอกบ้าน เช่น ไปทำธุรกิจในเมือง หรือทำบุญประเพณีต่างๆ สตรีชาวสุรินทร์จะนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ชนิดที่มีลายสวยงาม และลายที่นิยมกันมากที่สุด คือผ้ามัดหมี่โฮลสีธรรมชาติ อันเป็นผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์โดยเฉพาะ

หน้า 107

2. ผ้าสไบ ซึ่งคนไทยเรียกว่า  ผ้าขาวม้านั่นเอง  ความจริงผ้าสไบไหมนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ  สไบของผู้ชาย  ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าลายตาราง  บางทีก็มียกดอกที่ชายผ้า  ดังภาพที่เห็นข้างต้น  แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ยกชาย  ส่วนสตรีชาวสุรินทร์ใช้ผ้าสไบไหมที่ทอแบบผ้ายกดอก(ฉนูดเลิก)  สีที่นิยมมี 2 สี  คือสีขาว กับสีดำ  ชาวสุรินทร์ทั้งหญิงชายนิยมใส่ผ้าสไบไปในงานต่าง ๆ ตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการไปวัดในวันพระ

หน้า108

3. ผ้าปูมเขมร ผ้าปูมนี้เป็นผ้านุ่งชนิดหนึ่ง  ซึ่งขุนนางไทยสมัยก่อนนิยมใช้  นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วยังเป็นการแสดงออกถึงฐานันดรศักดิ์ของตนเองอีกด้วย   ผ้าปูมเขมรมีขนาดเดียวกันกับผ้าม่วงไทย  คือกว้าง 1 เมตร  ยาว  3.60 – 4.00 เมตร  ( 2 เท่าของผ้านุ่งธรรมดา)  สำหรับลายผ้ามัดหมี่ที่เป็นผ้าปูมนั้นมีความแตกต่างกับผ้าไหมมัดหมี่ธรรมดาตรงที่ชายผ้า  ซึ่งมีความยาวประมาณ  15-20 เซนติเมตร  จะเป็นพื้นแดงและทำเป็นริ้วที่ชายผ้า  คนไทยเรียกว่า  ผ้าสมปักริ้ว

4. ผ้าพันคอ ปัจจุบันชาวสุรินทร์ได้พัฒนาชนิดผ้าไหมตามความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดหนึ่งก็คือ  ผ้าพันคอสตรี  จะเป็นลักษณะกว้าง  ยาว ประมาณ 0.50 x 1.20 เมตร โดยทอเป็นผ้ามัดหมี่ลายคล้ายผ้าปูม  โดยมีริ้วที่ชายซึ่งเป็นที่นิยมของสตรีในเมืองสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง  การทอผ้าไหมชนิดนี้เพื่อเพิ่มความงามอันวิจิตรยิ่งขึ้น  จึงมักจะนิยมทอเป็นผ้ายกดอกและมัดหมี่ในผืนเดียวกัน

5.ผ้าคลุมเตียงหรือแขวนผนัง ผ้าอีกชนิดหนึ่ง  มีลักษณะคล้ายผ้าพันคอทุกอย่าง  เพียงแต่ขนาดทีใหญ่กว่า และใช้เส้นไหมที่ใหญ่กว่าเท่านั้น  คือขนาดกว้างคูณยาว เท่ากับ 1.10 x 2.30 เมตร  ผ้าชนิดนี้ชาวต่างประเทศนิยมซื้อไปแขวนประดับฝาหลังโต๊ะทำงาน  จึงเรียกผ้านี้อีกชื่อหนึ่งว่า  Hanging  ส่วนเส้นไหมที่ใช้ทอนั้น  สำหรับผ้าไหมตั้งแต่ 1 – 4 นั้นจะใช้เส้นไหมน้อย  หรือไหมกลาง  (ไหม 1 หรือไหม 2 ) แต่ถ้าหากต้องการหนาขึ้น  ก็จะใช้วิธีควบให้มีมากเส้นขึ้นกว่านั้น  แต่ผ้าไหมชนิดที่ 5 นั้น  เป็นผ้าที่ต้องการความหนามาก  ดังนั้นจึงใช้เส้นไหม 3 หรือไหมหัว  ซึ่งมีเส้นใหญ่แล้วควบ 4-6 เส้น จึงทำให้เห็นว่า  เมื่อทอเสร็จแล้ว  ผ้าชนิดนี้หนามากเป็นพิเศษ  จนกระทั่งบางคนมองแล้วนึกว่าไม่ใช่ผ้าไหม

หน้า 109

ท้องที่ซึ่งมีการทอผ้าไหม  ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันนี้  พอจะแยกเป็นตำบลได้ดังนี้

  1. 1. ตำบลสวาย  ตำบลนาบัว  อำเภอเมือง  เฉพาะผ้ามัดหมี่แบบต่าง ๆ
  2. 2. ตำบลเขวาสินรินทร์  ตำบลตากูก  ตำบลปราสาททอง   อำเภอเมือง  โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่โฮล
  3. 3. ตำบลตาอ๊อง  อำเภอเมือง  โดยเฉพาะบ้านจันรม
  4. 4. บ้านจารพัตร์  ตำบลจารพัตร์  อำเภอศรีขรภูมิ

การย้อมสีธรรมชาติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์                สำหรับการย้อมสีธรรมชาติ  ผ้าที่ชาวบ้านนิยมย้อมสีธรรมชาติกันทั้งจังหวัดก็คือ  ผ้ามัดหมี่โฮล  ส่วนหมู่บ้านที่นิยมย้อมสีธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดหมี่ชนิดใด  คือบ้านนาแห้ว  ตำบลสวาย  อำเภอเมือง   ในการย้อมสีธรรมชาตินี้  ไม่สามารถต้มได้  เพราะสีจะไม่ติดผ้าไหม  วิธีการย้อมก็คือ  ใช้อ่างดินจำนวนหลายใบ  ซึ่งผสมสีต่าง ๆเอาไว้กลางแดด  เมื่อแดดร้อนได้ระดับ  ซึ่งผู้ย้อมสามารถรู้ได้ด้วยความชำนาญ  เขาก็จะย้อมเส้นไหมได้  แต่ถ้าหากแดดไม่มี  จะไม่สามารถย้อมได้  เราจึงเรียกวิธีการย้อมผ้าไหมนี้ว่า  การย้อมผ้าไหมสีธรรมชาติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

สำหรับต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาตินั้น  มีมากมายนับร้อยชนิด  บางชนิดให้สีจากเปลือก  ราก  ใบ  ดอก  แก่น  หรือผล  ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของไม้อีกด้วย  แต่เท่าที่ประมวลได้มีดังนี้

สีแดง  จาก รากยอป่า  มะไฟ  เปลือกที่หุ้มเมล็ดคำแสด  แก่นฝาง  เปลือกสมอ  ไม้เหมือด  เม็ดสะตี  ใบสัก  เปลือกสะเดา  เปลือกของรากยอบ้าน  ดอกมะลิวัลย์  แก่นมะกล่ำต้น  แก่นประดู่  เปลือกส้มเสี้ยว  เนื้อหุ้มเมล็ดพุดซ้อน  ครั่ง

หน้า 110

สีเหลือง  จาก  หัวขมิ้นชัน  ขมิ้นอ้อย  แก่นไม้พุด  ดอกกรรณิการ์  รากฝาง  ใบมะขาม  ผลดิบมะตูม  ใบหรือเปลือกมะขามป้อม เปลือกของผลมังคุด  แก่นของรากยอบ้าน  ดอกผกากรอง  เปลือกมะพูด(ปะโหด)    แก่นเข (แกแล)  ใบเสนียด  แก่นแค  แก่นฝรั่ง  แก่นสุพรรณิการ์  แก่นต้นปีบ  หัวไพร  ต้นมหากาฬ  ใบขี้เหล็ก  แก่นขนุน  ลูกมะคาย  ต้นสะตือ  ใบเทียนกิ่ง

สีน้ำตาล   จาก  เปลือกไม้โกงกาง  เปลือกสีเสียด  เปลือกพยอม  เปลือกของผลทับทิม  เปลือกคาง  เปลือกโปงขาว  เปลือกสนทะเล  เปลือกแสมดำ  เปลือกนนทรี  เปลือกฝาดแดง  เปลือกมะหาด  เปลือกเคี่ยม  เปลือกติ้วขน  เปลือกและผลอาราง  เปลือกและผลตะโก  แก่นคูณ  แก่นทองหลาง

สีน้ำเงิน  จาก  ดอกอัญชัน  ลูกหว้า  ดอกกระเจี๊ยบแดง  ดอกเข็ม  รากพิลังกาสา  ต้นและใบคราม  เถา  และใบเถาคัน  แก่นลำดวน

สีเขียว   จาก  ใบหูกวาง  เปลือกเอกา  เปลือกต้นมะริดต้น  เปลือกสมอ  เปลือกกระหูด  ใบเลี่ยน  เปลือกสมอพิเภก  ใบตะขบ  เปลือกเพกา

สีดำ  จาก  ผลสมอพิเภก  ผลมะเกลืออ่อน  ใบกระเม็ง  ผลมะกอกเลื่อม (มะเกิ้ม) เปลือกรกฟ้า (ครี้) ผลตับเต่า (มะเมียง) ผลคณฑา  ผลมะยมป่า  เปลือกมะขามเทศ

สำหรับวิธีการทำสี  ก็ใช้วิธีการง่าย ๆ ถ้าเป็นแก่นไม้  รากไม้  เปลือกไม้  ก็สับให้เป็นเศษเล็ก ๆ เสียก่อน  แต่ถ้าเป็นผล  ดอก  ใบ  ก็ใช้วิธีการคล้ายคลึงกัน  หลังจากนั้นก็นำไปต้ม  จนเคี่ยว  สีจากต้นไม้หลายชนิดสามารถเก็บไว้ในรูปผงได้  ส่วนวิธีการย้อมสีนั้น  ความจริงน่าจะเป็นเรื่องไม่ยากนัก  แต่ตามความเป็นจริงแล้วนับว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากทีเดียว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการย้อมผ้าไหม  เพราะถ้าหาก วิธีการไม่ถูกต้อง  อุณหภูมิไม่เหมาะสม  ก็ไม่สามารถย้อมติดได้  นี่คือปัญหาหนึ่ง   ที่ทำให้คนมานิยมย้อมสีเคมีกันมากในปัจจุบัน  เพราะย้อมง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม  ถ้าหากท่านผู้ใดสนใจที่จะศึกษาเรื่องการย้อมสีไหมจากเปลือกไม้อย่างจริงจัง  ก็ควรจะหาโอกาสไปศึกษาด้วยตนเอง  ที่บ้านนาแห้ว  ตำบลสวาย  อำเภอเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์

(หมายเหตุ – การย้อมผ้าไหมสีธรรมชาติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์   ที่บ้านนาแห้วแห่งจังหวัดสุรินทร์  มีมาตั้งแต่ชั่วอายุคน ต่อชั่วอายุคนสืบ ๆ กันมา  จะเป็นเวลา 1,000 ปี  หรือ 100 ปี  ยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันได้  และยังเป็นวิทยาศาสตร์แรกคลอดระดับชาวบ้าน  ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง  และโรคผิวหนังบางชนิดได้  ถ้าท่านไปท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์  หรือไปท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา  ผ่านจังหวัดสุรินทร์  ควรจะแวะดูมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณที่ยังดำรงอยู่นี้)

การทอผ้าไหม 3