Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

NIMITHAM SHAKUNAM Shastra

คำว่า นิมิตศาสตร์ (निमित शास्त्र) หรือ ศกุนะศาสตร์ (शकुन शास्त्र) หมายถึง “ลางบอกเหตุ” ซึ่งมีทั้งลางดี ลางร้าย ซึ่งศาสตร์ความเชื่อเรื่อง”ลางบอกเหตุ”นี้มีมาแต่สมัยโบราณนานนับพันๆปีแล้ว และปรากฏมีอยู่ทุกสังคม ทุกวัฒนธรรมทั่วโลก แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ 

“ลางบอกเหตุ”เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นการทำนายอนาคต ซึ่งมักหมายถึงการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคำว่า 'ลาง' มักจะไม่มีการอ้างอิงหรือมีทฤษฎีใดใดมารองรับ และในแต่ละวัฒนธรรมก็มีความเชื่อในเรื่องแตกต่างกัน ดังนั้นอาจเป็น 'ลางดี' หรือ 'ลางไม่ดี' ก็ได้ คำนี้มักใช้ในความหมายที่คาดเดาได้ยาก เช่นเดียวกับคำว่า 'ลางสังหรณ์' ซึ่งบางคนเชื่อว่าศาสตร์นี้คือไสยศาสตร์ประเภทหนึ่ง

ลางบอกเหตุอาจถือว่าดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการตีความ “ลาง”แบบเดียวกันอาจตีความต่างกันไปตามแต่ละคนหรือแต่ละวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นความเชื่อเรื่องเคล็ดลางต่างๆ ซึ่งมีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน และ ต่างวัฒนธรรมก็ต่างความเชื่อ และจะจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้

แต่โหราศาสตร์ภารตะหรือโหราศาสตร์พระเวท ศาสตร์นี้ถูกจัดเป็นแขนงหนึ่งของวิชาโหราศาสตร์ เรียกว่า นิมิตศาสตร์ หรือ ศกุนะศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วย ลางบอกเหตุ ประเภทต่างๆ และมีทฤษฎีทางโหราศาสตร์มารองรับ ประกอบกับการเฝ้าสังเกตุปรากฏการณ์ของ”ลาง”ประเภทต่างๆมานับพันๆปี จึงได้ถูกประมวลเอาไว้ในโหราศาสตร์พระเวท

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในโหราศาสตร์พระเวทก่อน โหราศาสตร์พระเวทนั้นถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก คือ: 1. โหรา 2. สิทธานตะ 3. สัมหิตา

1. โหรา  ถูกแบ่งออกเป็น 4 สาขา ดังนี้

1.1 ดวงชะตา คือศาสตร์ ที่ว่าด้วยการพยากรณ์ดวงชะตา ซึ่งเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว

1.2 ปรัศนศาสตร์ หรือ กาลชะตา คือใช้เวลาในขณะที่มีคนถาม แล้วนำเวลานั้นมาคำนวณแล้วก็พยากรณ์

1.3 มุหูรตะ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการคำนวณฤกษ์ยามมงคลต่างๆ ทั้งคำนวณช่วงเวลาดี-ร้ายในแต่ละวันที่เรียกว่า ปฏิทิน“ปัญจางคะ” และบอกว่าช่วงเวลาไหนควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร

1.4 นิมิตศาสตร์ หรือ ศกุนะศาสตร์ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการพยากรณ์ ลางบอกเหตุต่างๆ ทั้งลางดี ลางร้าย หรือ การแก้เคล็ด การถือเคล็ด ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้นศาสตร์ความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ ที่มีคัมภีร์ของโหราศาสตร์พระเวทอ้างอิง จึ่งมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น การเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาก็จะเป็นลางบอกเหตุของการเกิดและการตายของมนุษย์ที่ค่อนข้างชัดเจน และมีหลักทฤษฎีทางโหราศาสตร์มารองรับ

2. สิทธานตะ คือโหราคณิตศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ภาคคำนวณ และมีกระบวนการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน รวมถึงการคำนวณตำแหน่งของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์และการโคจรและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. สัมหิตา คือโหราศาสตร์ว่าด้วย ดวงเมือง ดวงโลก และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝน สภาพอากาศ และดาวหาง นักโหราศาสตร์สามารถทำนายความแรงและผลของเหตุการณ์ดังกล่าวได้โดยใช้หลักทฤษฎีของวิชาสัมหิตานี้

 

นิมิตศาสตร์ หรือ ศกุนะศาสตร์ ได้จำแนก"ลาง"เป็น 8 ประเภทดังนี้

1) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร หมู่บ้าน ชนบท 2) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับป่า 3) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น พวกสัตว์น้ำ  4) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นดิน เช่น ภูเขา ต้นไม้ สัตว์ แมลง นก ฯลฯ 5) ท้องฟ้า เช่น ดวงดาวต่าง  6) สัตว์ที่หากินตอนกลางวัน 7) สัตว์ที่หากินตอนกลางคืน 8) สัตว์ที่หากินทั้งกลางวัน – กลางคืน


ตัวอย่าง”ลางดี” สำหรับการเดินทาง จากนิมิตศาสตร์

เนื้อสด สุรา ไฟลุกโชน ดอกไม้สีขาว เนยใส ไม้จันทน์ อักษะตะธรรม  (ข้าวเปลือก ข้าวสาร และดอกไม้ สำหรับบูชาพระเจ้า) นมข้น แพลนเทน (เป็นผลไม้ตระกูลกล้วยชนิดหนึ่ง) พราหมณ์สองคน ช้าง โสเภณี น้ำผึ้ง พระราชา น้ำตาลอ้อย วัวกระทิง และเปลือกมะพร้าว ฯลฯ หากพบเห็นสิ่งเหล่านี้ก่อนเดินทางจะถือเป็น “ลางดี” จะมีโชคและประสบความสำเร็จในการเดินทาง


ตัวอย่าง”ลางร้าย” สำหรับการเดินทาง จากนิมิตศาสตร์

ขี้เถ้า, ฟืน, น้ำมัน, ลา, ไม้กวาด, มูรัม (ตะแกรงสำหรับร่อนเม็ดข้าวฟ่าง), ดาร์ภา (หญ้ากุศะหรือหญ้าคา สำหรับใช้ในพิธีบูชาของชาวฮินดู), เกลือ, แม่หม้าย, ผู้ป่วย, งู, เหล็ก, แมว, ดอกไม้ที่ใช้ในงานศพ, คนพิการ, เมล็ดงา, คนเรียกจากด้านหลังขณะเรากำลังจะเริ่มเดินทาง ฯลฯ หากพบเห็นสิ่งเหล่านี้ก่อนเดินทางจะถือเป็น “ลางร้าย” จะอับโชคและมีอุปสรรคในการเดินทาง

เมื่อเห็นลางร้ายคัมภีร์ระบุว่าบุคคลนั้นควรหยุดการเดินทางและกลับไปที่จุดเริ่มต้น เมื่อถึงจุดเริ่มต้น ผู้เดินทางควรท่องบทสวด"ปราณายามะ มันตรา" (प्राणायाम मंत्र) 11 จบ แล้วจึงเริ่มการเดินทางอีกครั้ง หากเห็นลางร้ายอีกครั้งระหว่างการเดินทาง ผู้เดินทางควรกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้งและท่องปราณายามะ มันตราอีก 16 จบ แล้วเริ่มการเดินทางใหม่อีกครั้ง และหากมีการพบลางร้ายอีกเป็นครั้งที่สามในคัมภีร์ระบุว่าการเดินทางควรถูกยกเลิก

บทสวดปราณายามะ มันตรา" (प्राणायाम मंत्र)

ॐ भूः भुवः ॐ स्वः ॐ महः, ॐ जनः ॐ तपः ॐ सत्यम्।

  โอม ภูห์ ภุวะห์ โอม สวะห์ โอม มะหะห์, โอม ชะนะห์ โอม ตะปะห์ โอม สัตยัมฯ

ॐ तत्सवितुर्वरेण्यं भर्गो देवस्य धीमहि धियो यो नः प्रचोदयात्। 

  โอม ตัตสะวิตุรวะเรณยัม ภรรโค เทวัสยะ ธีมะหิ ธิโย โย นะห์ ประโจทะยาตฯ

ॐ आपोज्योतीरसोऽमृतं, ब्रह्म भूर्भुवः स्वः ॐ।

  โอม อาโปชโยตีระโสมฤตัม, พรหมะ ภูรภุวะห์ สวะห์ โอมฯ

**บทสวดปราณายามะ มันตรา" (प्राणायाम मंत्र) 11 จบ https://youtu.be/gz9lr9hoZkY

 

ในนิมิตหรือ"ลางบอกเหตุ"มีแง่มุมต่างๆ มากมายที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อตีความความหมาย ซึ่งความรุนแรงของลางบอกเหตุจะมีมากน้อยจะต้องพิจารณาจากตําแหน่งของมันที่สัมพันธ์กับผู้สังเกต เช่น

1.ทิศทางที่สัมพันธ์กับผู้สังเกต เช่น ซ้าย ขวา หน้าหลัง ทิศเหนือ ใต้ ออก ตก

2.เวลาที่สังเกต เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืน

3.ความเร็วของลางบอกเหตุ เช่น เห็นแมวกระโจนตัดหน้าอย่างรวดเร็ว

4.เสียงที่ได้ยินของลางบอกเหตุ เช่น เสียงดัง เบา ไพเราะเสนาะหู เสียงเพลง เสียงคนทะเลาะกัน เสียงปืน เสียงระเบิด ฯลฯ

5.สถานที่ที่มีลางบอกเหตุ เช่น โล่งแจ้ง อับทึบ ตลาด ชนบท ในเมือง วัด วิหาร ป่าช้า ฯลฯ

แล้วจึงนำข้อมูลทั้งหมดนำมาประมวลผล หากเป็น”ลางดี” มีระดับความแรงสูง ก็จะยิ่งโชคดี หากเป็น”ลางร้าย”มีระดับความแรงสูง ก็จะยิ่งโชคร้ายมากขึ้น

 

*************************************************************