คำนำ
เมื่อนักศึกษาได้รู้หลักโหราศาสตร์ภารตะขั้นต้นจากโหราวิทยาเล่ม 2 แล้ว ประสงค์ความรู้ต่อไปในรายละเอียดของดาวเคราะห์และเรือนชะตา เพื่อหวังผลที่ถูกต้องในการพยากรณ์ จำต้องปฏิบัติงานคำนวณตามวิธีคณิตศาสตร์ ข้อความในหนังสือเล่มนี้แนะนำถึงสิ่งสำคัญที่เป็นหลักของโหราศาสตร์ภาคคำนวณ ซึ่งมีสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาโหราศาสตร์ที่ปรารถนาผลพยากรณ์ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีตำรากำลังดาวเคราะห์และเรือนชะตา (โหราวิทยาเล่ม 4) ซึ่งเป็นตำราคู่กับตำรานี้ การได้ศึกษาจากตำรา 2 เล่มนี้ จะให้นักศึกษาเข้าใจวิธีโหราศาสตร์ได้ไม่ยากนัก และสามารถให้นักศึกษาเตรียมพร้อมที่จะพยากรณ์ได้ ในตำราเล่มนี้ได้พยายามรวบรวมแต่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษาในขั้นนี้.
การขาดการศึกษาแม้แต่หลักขั้นต้นของโหราศาสตร์ เป็นของแน่นอนที่จะนำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ ในมูลฐานแห่งการพิสูจน์ของวิธีวินิจฉัยดวงชะตา แต่ทว่าถ้าหลงยึดถือแต่ในวิธีคำนวณอย่างเดียวก็จะเป็นภัยให้หย่อนความสามารถในการวินิจฉัยและนำประเด็นต่าง ๆ เข้าเปรียบเทียบ ฉะนั้นความรู้ทางโหราคณิตศาสตร์เพียงปานกลาง จะเป็นสิ่งมีค่ามากสำหรับการผูกดวงชะและตีความหมายดวงชะตา.
ข้อความแนะนำในหนังสือเล่มนี้ ให้ประโยชน์แก่ท่านที่เริ่มศึกษาและทั้งท่านที่มีความรู้อยู่แล้ว.
ข้อความในหนังสือนี้อาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ถ้าท่านผู้รู้ได้พบเห็นและกรุณาแนะนำเพื่อประโยชน์ให้นักศึกษาได้ความรู้สมบูรณ์ในวิทยานี้ ข้าพเจ้าขอรับไว้ด้วยความจริงใจและขอขอบคุณอย่างสูงล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้.
วิธีคำนวณในตำราเล่มนี้และในโหราวิทยาเล่ม 4 เป็นวิธีทำเลขอย่างสามัญมีบวก, ลบ, คูณ, หาร มีพิเศษอยู่ที่ทศนิยมซึ่งทำได้ง่ายกว่าเศษส่วน ท่านที่สนใจถ้า
มีผู้รูปแนะนำให้ก็จะเข้าใจได้โดยง่าย เรื่องสับสนยุ่งยากในตำราเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่วิธีทำเลข แต่อยู่ที่การดำเนินงานซับซ้อนตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหลักวิชา เพราะเรื่องนี้เชื่อมโยงกับหลายชั้นหลายเชิง วิธีที่จะได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งควรอ่านทบทวนทีละบททีละข้อตามลำดับจนเข้าใจดี ในการอ้างอิงเชื่องโยงกัน และจึงฝึกทำไปตามวิธีที่กล่าวไว้ทีละขั้น เมื่อจำกฎต่าง ๆ และเข้าใจดีแล้วก็จะเห็นได้ว่าไม่ยากนัก.
ศัพท์ที่ใช้ในโหราศาสตร์ภารตะโดยมากเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อแปลงอักษรไทยได้พยายามรักษาพยัญชนะ, สะกด, การันต์, ครบถ้วนตามรูปเดิมในสันสกฤต ซึ่งได้จาก “สันสกฤต – ไทย – อังกฤษ อภิธาน” ของ ร.อ. หลวงบวรบรรณารักษ์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469 เกือบทั้งหมด.
อนึ่งศัพท์สันสกฤตโดยมากคำหนึ่งมีความหมายตั้งหลายอย่าง บางคำเกือบ 20 อย่าง และหนังสือเล่มนี้เป็นตำราเป็นต้องพยายามรักษาศัพท์ไว้ตามรูปเดิมของสันสกฤตเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถผันแปรเป็นอักษรไทยให้ออกเสียงตามถนัดโดยให้ความหมายคงเดิมได้ทุกคำ
รัตน์
บางคลองแค
ราชบุรี