กฐิน เป็น "ผ้าพิเศษ"
กฐิน เป็น “ผ้าพิเศษ” ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง “พุทธานุญาต” เฉพาะ “กฐินกาล” ในปีหนึ่งมีเขตกฐินเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ตามศัพท์ กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดจีวร ในทางพระวินัย ใช้เป็นชื่อเรียก “สังฆกรรม” อย่างหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง พุทธานุญาตให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษา เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีของภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน [อันตรวาสก (สบง) อุตตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ] ที่บังเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้มีคุณสมบัติสมควรแก่การรับผ้ากฐินผืนนั้น พระภิกษุผู้รับผ้ากฐินควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ คือ
(๑) รู้จักบุพพกรณ์(บุพพกิจ) ๗ ประการ คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุกัปปะผ้า ๑
(๒) รู้จักถอนไตรจีวร
(๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
(๔) รู้จักกรานกฐิน
(๕) รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
(๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
(๗) รู้จักการเดาะกฐิน
(๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
เป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติ อันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ