Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

เรื่องมงคลสูตร

๙   สิงหาคม   ๒๕๒๔



ได้แสดงเรื่องการสวดมนต์  ได้และได้กล่าวถึงความเป็นมาของพุทธศาสนา  โดยทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  และได้มีการประชุมกันทำสังคายนาชำระพระธรรมวินัย  ก็โดยประชุมพระภิกษุผู้ที่ทรงจำได้มาสอบทานกัน และเมื่อตกลงกันว่าถูกต้องก็สวดขึ้นพร้อมๆ กันเป็นการทำความทรงจำร่วมกัน  และวิธีนี้ก็ปรากฏว่าได้ใช้มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว  โดยคณะภิกษุผู้ที่ทรงจำพระสูตรพระวินัยมาติกาอันใดอันหนึ่งตรงกันก็สนทนาสอบทานกัน  และก็ปรากฏว่าได้มีการทรงจำ และพระเถระบางรูปก็ได้สวดถวายพระพุทธเจ้าทรงสดับก็มี  และต่อมาก็ได้มีการสวดทำวัตรสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยในเวลาเช้า ในเวลาเย็นหรือค่ำ และได้มีการสวดพระสูตรเป็นต้นที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อจากทำวัตรในเวลาเย็นหรือค่ำโดยมาก ก็เท่ากับว่าเป็นการสอบทานความจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้สืบต่อไปด้วย  และเท่ากับว่าเป็นการได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงสั่งสอนในเมื่อยังทรงมีพระชนม์อยู่ด้วย  และก็ได้มีฝ่ายคฤหัสถ์ต้องการฟังพระสวดพระสูตรเป็นต้นที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ได้มาฟังพระสวดในวัดหรือในที่ๆ พระสงฆ์พำนักอยู่  และก็ได้นิมนต์พระไปสวดให้ฟังในบ้าน  จึงได้มีธรรมเนียมการนิมนต์พระไปสวดมนต์ในบ้าน  ปรากฏเรื่องราวเป็นหลักฐานตั้งแต่ในสมัยที่พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในประเทศลังกาหรือศรีลังกาในปัจจุบัน  พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประเทศได้อาราธนาพระไปสวดมนต์  และก็โปรดให้พระรวบรวมบทสวดมนต์  นิมนต์ไปสวดเพื่อบำเพ็ญกุศลในงานบำเพ็ญกุศลต่างๆ  ที่มักเรียกว่างานมงคลตลอดจนถึงในงานศพ  และบทสวดสำหรับงานบำเพ็ญกุศลต่างๆ ที่ต้องการความสุขความเจริญอันเรียกว่ามงคล  ก็ได้มีบทสวดที่ตั้งเป็นแบบไว้ตั้งแต่ในลังกานั้น  และที่ประเทศไทยเราก็ได้รับมาปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งชาวพุทธในประเทศไทยย่อมจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นอันมาก  ก็คือบทสวดมนต์ที่เรียกกันว่า  เจ็ดตำนาน  สิบสองตำนาน

บทสวดมนต์ที่เรียกว่าเจ็ดตำนานนั้น  ถ้าเรียกตามภาษาจากลังกาก็เรียกว่าสัตตปริตร  สัตต  ก็แปลว่าเจ็ด  ปริตร  ก็แปลว่าพระปริตร  คือพระปริตร  ๗  บท   คำว่าปริตรที่แปลว่าพระปริตรนี้   เป็นการแปลทับศัพท์ซึ่งภาษไทยนำมาใช้ดังนี้เรียกว่าสวดพระปริตร   และคำว่าปริตรนี้แปลว่าป้องกัน  นำเอาคำนี้มาใช้ก็ด้วยต้องการให้มีความหมายว่า  บทสวดมนต์ที่สวดนี้เป็นเครื่องป้องกันคือสวดเพื่อป้องกัน  ป้องกันอะไรก็สุดแต่จะตีความหมาย  ถ้าตีความหมายในทางธรรมปฏิบัติ  ก็เป็นเครื่องป้องกันจิตใจ  คือเป็นเครื่องระงับนิวรณ์  กิเลสที่ครอบงำจิตใจ  ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย   เพราะเมื่อตั้งใจฟังสวดมนต์หรือว่าตั้งใจสวดเองก็จะทำให้จิตใจมีความสงบจากกิเลสที่บังเกิดที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจทั้งหลาย  ทำจิตใจให้มีความสงบ  และน้อมนำจิตใจให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  และให้เข้าถึงพระธรรม  เมื่อมีความเข้าใจในบทที่สวดนั้นก็จะทำให้เข้าใจพระธรรมที่ฟังหรือที่สวด ทำให้เข้าถึงพระธรรมมากยิ่งขึ้น  สำหรับผู้ที่มีความเชื่อถือที่เกี่ยวแก่ต้องการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ภายนอก  ก็มุ่งที่จะให้เป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ภายนอกตามความเชื่อถือ  เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า  สำหรับคนทั่วไปนั้นยังละสังโยชน์ทั้ง ๑๐  ไม่ได้  ก็จำเป็นที่จะต้องมีความยึดถือในศีล  และวัตร  เพราะฉะนั้น  ยึดถือศีลและวัตรในพุทธศาสนา  หรือยึดถือคุณในพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์สำหรับเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายภายนอก  ก็ยังดีกว่าไปยึดถือศีลและวัตรนอกพระพุทธศาสนา    ถ้าเป็นศีลและวัตรในทางที่ผิดก็ยิ่งจะนำให้ไปผิดมากขึ้น  เพราะฉะนั้น  เมื่อยังต้องยึด  ให้มายึดในพุทธศาสนาก็ยังดีกว่า  ในเมื่อจิตใจเข้าถึงธรรมสูงขึ้นก็จะละไปเองสำหรับในขั้นหยาบ ๆ   ก้าวขึ้นสู่ขั้นละเอียด  เพราะฉะนั้น  การเข้าถึงพุทธศาสนา  การเข้าถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  จึงเป็นไปตามขั้นตอน  ฉะนั้น  คำว่าปริตร  ที่แปลว่าเป็นเครื่องป้องกันนี้  ป้องกันอะไร  ก็อธิบายได้ตามขั้นตอนดังกล่าว  ก็เพื่อเป็นเครื่องป้องกัน   ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า  พระปริตร  และสัตตปริตรก็คือปริตร  ๗  บท  ซึ่งไทยเรามาเรียกว่า  เจ็ดตำนาน  ก็โดยพระปริตรแต่ละบทนั้น  มีตำนานที่แสดงถึงเรื่องราวเกิดขึ้นของบทสวดมนต์นั้นแต่ละบท  พระปริตรบทหนึ่ง

ๆ  ก็มีตำนานที่แสดงถึงเรื่องเกิดขึ้น  อันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนข้อนั้น ๆ  เพราะฉะนั้น  พระปริตรบทหนึ่ง  ก็เป็นตำนานหนึ่ง  จึงเรียกว่าเจ็ดตำนาน

บทสวดเจ็ดตำนานนี้  ใช้สวดกันมากในงานที่นิมนต์พระไปสวดที่ถือกันว่าเป็นงานมงคล หรือต้องการมงคลทั่ว ๆ ไป  พระปริตรที่หนึ่ง  หรือว่าตำนานที่หนึ่งก็คือตำนานแห่งมงคลสูตร  หรือพระปริตรคือมงคลสูตร  มงคลสูตรก็คือพระสูตรอันได้แก่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านร้อยกรองเอาไว้  โดยที่นับถือเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องมงคล  จึงเรียกว่ามงคลสูตร  โดยที่มีเรื่องแสดงเป็นตำนานหรือเป็นประวัติว่า   ได้มีหมู่เทพหรือมนุษย์พากันคิดถึงว่าอะไรเป็นมงคล  บางพวกก็ถือทิฎฐมงคล  คือถือว่าสิ่งที่เห็นด้วยตาเป็นรูปต่าง ๆ รูปที่เห็นด้วยตานี้  ถ้าเป็นรูปเช่นนั้นๆ ก็เป็นมงคล  จำพวกนี้เรียกว่าทิฎฐมงคล ก็แสดงยืนยันว่า  ทิฎฐะ  คือว่ารูปที่ตาเห็นซึ่งเป็นรูปอย่างนั้น ๆ ก็เป็นมงคล  การเห็นรูปเช่นนั้น ๆ เป็นมงคล  อีกจำพวกหนึ่งก็แสดงเสียงที่ได้ยินว่าถ้าเป็นเสียงอย่างนั้น ๆ  เป็นมงคล  ก็เรียกว่าสุตมงคล  บางพวกก็ยึดถือกลิ่นที่จมูกได้ทราบ  รสที่ลิ้นได้ทราบ  โผฎฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้องทางกาย  ที่กายได้ทราบว่า  เมื่อเป็นกลิ่นเช่นนั้น ๆ เป็นรสเช่นนั้น ๆ เป็นสิ่งที่กายถูกต้องเช่นนั้น ๆ เป็นมงคล  นี้เรียกว่ามุตมงคล  โดยมาก็ทุ่มเถียงกันอยู่ในระหว่างผู้ที่ถือมงคลเหล่านี้  ใครเชื่อถืออย่างไรก็ยืนยันตามความเชื่อถือของตน  ก็เป็นอันว่าไม่ยุติลง  เทพดาตนหนึ่งจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะเมื่อประทับอยู่ที่พระเชตวันใกล้กรุงสาวัตถีเมื่อเวลายามหนึ่งล่วงไปแล้วก็ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและก็กราบทูลถามว่า  เทพและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก  ได้พากันคิดถึงมงคลทั้งหลาย  จึงขอให้พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกมงคลอันอุดมแก่เทพและมนุษย์ทั้งหลายผู้ปราถนาความสวัสดีดั่งนี้  พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสแสดงมงคลตอบปัญหาของเทวดา  ดังที่ได้สวดกันว่า อเสวนา จ พาลา นํ เป็นต้น   รวมเป็นพระคาถาที่แสดงมงคล ๑๐  คาถา  และเป็นคาถาที่ตรัสสรุปอีกคาถาหนึ่งก็เป็น  ๑๑  คาถา  ชื่อว่าเป็นมงคลสูตร  พระสูตรที่แสดงมงคลพระสูตรนี้ เป็นพระสูตรหลักสำคัญพระสูตรหนึ่งอันแสดงถึงมงคลทางพุทธศาสนา  และแสดงถึงหลักพุทธศาสนาที่มุ่งสอนอย่างไร

คำว่ามงคลนี้  ท่านแสดงศัพท์ไว้ว่า  เหตุที่ให้บรรลุถึงความเจริญ  อันความเจริญรวมทั้งความสวัสดีต่าง ๆ  ความเกษมสุขต่าง ๆ  เข้าด้วย  ย่อมเป็นที่มุ่งมาดปรารถนาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายร่วมกันทั่วไป  เพราะต่างก็ต้องการความเกษมสวัสดีความสุขความเจริญอยู่ด้วยกันทั้งนั้น  และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงพากันแสวงหาสิ่งที่จะเป็นเหตุนำให้บังเกิดความเกษมสวัสดี  ความสุขความเจริญดังกล่าว  และเมื่อมีความเชื่อถือว่าสิ่งอันใดจะนำให้บังเกิดผลที่ต้องการนั้น ๆ ก็ยึดถือว่าสิ่งอันนั้นเป็นมงคล  และโดยมากก็มักจะไปยึดถือในสิ่งภายนอก  เป็นรูปต่าง ๆที่ตาเห็นบ้าง  เป็นเสียงต่าง ๆ ที่หูได้ยินบ้าง  เป็นกลิ่น เป็นรส  เป็นสิ่งถูกต้องทางกายต่าง ๆ บ้าง  ว่าต้องเป็นรูปเช่นนั้น  เป็นเสียงเช่นนั้น  เป็นกลิ่นเป็นรสเป็นสิ่งที่ถูกต้องเช่นนั้นจึงจะเป็นมงคล  ฉะนั้น  ก็จำเป็นจะต้องเห็นรูปเช่นนั้น  ต้องได้ยินเสียงเช่นนั้น  ต้องได้กลิ่นได้รสได้ถูกต้องสิ่งเช่นนั้น ๆ  จึงจะเป็นเหตุให้เกิดมงคล  คือความเกษมสวัสดีความสุขความเจริญต่าง ๆ  ก็มักจะไปยึดถือกันในมงคลภายนอก  แต่ในพุทธศาสนาแสดงมงคลภายใน  คือความประพฤติปฏิบัตินี้เอง  ของแต่ละบุคคล  เมื่อเป็นความประพฤติปฏิบัติที่ดีที่ชอบที่ถูกต้องอันเกี่ยวแก่ผู้อื่นบ้างเกี่ยวแก่ตนเองบ้าง  เกี่ยวแก่ผู้อื่นก็ได้แก่เป็นการเกี่ยวแก่สังคม  ที่เกี่ยวแก่ตนเองก็คือว่าเกี่ยวแก่ความประพฤติปฏิบัติของตนเอง  อันเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องดีชอบทั้งที่เกี่ยวแก่ผู้อื่นทั้งที่เกี่ยวแก่ตนเอง  ดังนี้จึงจะเป็นมงคล  คือเหตุที่จะทำให้บรรลุถึงความเจริญ  เป็นมงคลส่วนเหตุ  และเมื่อปฏิบัติในมงคลส่วนเหตุดั่งนี้  จึงจะบรรลุถึงมงคลที่เป็นผลมีความสุขความเจริญ  ความเกษมสวัสดีต่าง ๆ  ตามที่ต้องการ  และในข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงชี้ไว้ชัดเจนว่า  ปฏิบัติอย่างไรบ้าง  ทำอย่างไรบ้างจึงจะเป็นมงคล  และก็เป็นมงคลอันอุดมคือสูงสุด

ในคาถาที่หนึ่งได้ตรัสไว้ว่า

อเสวนา  จ พาลานํ การไม่เสพคือคบหาคนพาลทั้งหลาย   ๑

ปณฺฑิตานญฺ  จ เสวนา การเสพคือคบหาบัณฑิตทั้งหลาย   ๑

ปูชา  จ  ปูชนียานํ การบูชาบุคคลผู้ควรบูชาทั้งหลาย ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สามข้อนี้เป็นมงคลอันอุดมคือสูงสุด


เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงเรื่องการเสวนา และการบูชาไว้เป็นอันดับแรก  อันแสดงว่าการเสวนากับการบูชานั้นเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกคนผู้มุ่งมงคลอันอุดมควรจะต้องไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย  ควรจะเสวนาคบหาบัณฑิต  ควรจะบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลายเท่านั้น  อธิบายโดยสังเขปว่า   คนพาลทั้งหลายนั้นก็คือคนประพฤติชั่ว  ประพฤติผิดทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ได้ชื่อว่าเป็นพาล  ที่แปลตามศัพท์ว่าผู้ตัดประโยชน์ทั้ง ๒  คือตัดประโยชน์ปัจจุบัน  ตัดประโยชน์ภายหน้า  หรือว่าผู้ที่โง่เขลาโดยที่ถือว่า  ผู้ที่ประพฤติชั่วทางกายทางวาจาทางใจนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนเขลาไม่ฉลาด  เพราะว่าความประพฤติชั่วนั้นเป็นเหตุให้บังเกิดความทุกข์วิบัติต่าง ๆ เป็นบาปเป็นอกุศล  เป็นโทษทั้งปัจจุบันทั้งภายหน้า  ไม่เป็นประโยชน์  เพราะฉะนั้น  ผู้ที่ประพฤติเช่นนั้นจึงไม่ชื่อว่าเป็นคนฉลาด  แต่ชื่อว่าเป็นคนเขลา  เป็นคนอ่อนปัญญา  ทรามปัญญามีความเห็นผิด  แม้จะร่ำเรียนมาเท่าใดก็ตาม  จะมีตระกูลสูงต่ำอย่างไรก็ตาม  จะมั่งมียากจนอย่างไรก็ตาม  เมื่อประพฤติชั่วทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนพาลทั้งนั้น  ชื่อว่าเป็นคนเขลาทั้งนั้น  ชื่อว่าเป็นคนปฏิบัติตัดประโยชน์ปัจจุบันด้วยประโยชน์ภายหน้าด้วยทั้งนั้น  ผู้ที่มุ่งมงคลอันอุดมจึงไม่ควรคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย  ตลอดจนถึงไม่ควรจะคบให้เป็นครูบาอาจารย์เป็นต้น  จึงได้ตรัสให้ไม่เสวนาคือไม่ให้ส้องเสพคบหากับคนพาลเป็นอันดับที่หนึ่ง

จากนั้นก็ตรัสสอนให้เสวนาส้องเสพคบหากับบัณฑิตทั้งหลาย  บัณฑิตนั้นตรงกันข้าม  ตามศัพท์ก็แปลว่าผู้มุ่งประโยชน์กิจด้วยปัญญา  หมายถึงคนที่มีความประพฤติดีทางกายทางวาจาทางใจ  คนที่ประพฤติดีทางกายทางวาจาทางใจนี้  ได้ชื่อว่าบัณฑิต  ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา  เพราะสามารถถือเอาประโยชน์ปัจจุบัน  ประโยชน์ภายหน้าไว้ได้  และได้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญา  เป็นคนใช้ปัญญา  ทำอะไรด้วยปัญญา  ฉะนั้น  ให้เข้าใจไว้ในขั้นนี้อีกอย่างหนึ่งว่า  จะชื่อว่าเป็นบัณฑิตนั้นตัดสินด้วยผลคือเมื่อทำอะไรให้เกิดผลเป็นประโยชน์ปัจจุบัน  เป็นประโยชน์ภายหน้าได้  ถือเอาประโยชน์ปัจจุบันประโยชน์ภายหน้าไว้ได้  ก็ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต  ชื่อว่าเป็นบัณฑิตนั้นจึงตัดสินด้วยผลคือที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน  ประโยชน์ภายหน้า  และจะบรรลุประโยชน์ปัจจะบันประโยชน์ภายหน้าได้ก็จะต้องมีปัญญาด้วย  จะต้องมีความประพฤติดีถูกต้องด้วย  คือประพฤติดีทางกายทางวาจาทางใจ  และถูกต้องเหมาะสมต่อประโยชน์ที่จะพึงได้ในปัจจุบันและในภายหน้า  จึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต  ก็ให้ส้องเสพสมาคมคบหากับบัณฑิต  ตลอดจนคบหาบัณฑิตเป็นครูบาอาจารย์

มาถึงข้อที่  ๓  บูชาผู้ที่ควรบูชา   คือผู้ที่ควรบูชาไหว้กราบสักการะต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาก็เช่น  พระพุทธเจ้า  พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า  ท่านผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  และในทางครอบครัวก็เช่นมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ผู้ประสาทวิทยาทางโรงเรียน  ทางประเทศชาติก็คือองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม   และผู้ที่ตั้งอยู่ในคุณงามความดีทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้ที่ควรบูชา  รวมจนถึงผู้ที่ตนจะพึงนิยมชมชอบ  นำให้เชื่อถือปฏิบัติเอาอย่างอีกด้วย  ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นข้อสำคัญ  เพราะถ้าไปนิยมคนผิด  ไปบูชาคนผิด  ไปยกย่องคนผิด  ไปนับถือคนผิด  ก็จะทำให้เกิดโทษ  เพราะการบูชายกย่องเคารพนับถือนั้นย่อมนำให้เกิดความเชื่อถือ  คือปฏิบัติตามที่ผู้นั้น ๆ สั่งสอนแนะนำอีกด้วย  หรืออย่างน้อยก็เอาเป็นตัวอย่างในอันที่จะปฏิบัติตาม  เพราะฉะนั้น  ถ้าไปบูชาคนผิด  นิยมคนผิดแล้วก็จะเกิดโทษมาก  แต่ถ้าบูชาคนดีนิยมคนดี  อันเป็นบุคคลที่ควรบูชาเคารพนับถือยกย่องก็ให้คุณ  เพราะฉะนั้น  การบูชาผู้ควรบูชา  จึงเป็นมงคลอันสูงสุด  เป็นข้อที่ ๓

อีกอันหนึ่งท่านสอนให้น้อมเข้ามาในตัวเอง  คือว่าให้ดูตัวเองว่าเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต  และทำตัวเองให้เป็นบัณฑิต  เมื่อตัวเองเป็นบัณฑิตก็ชื่อว่าคบตัวเองที่เป็นบัณฑิต  และก็ดูตัวเองว่าได้ประกอบด้วยคุณงามความดีต่าง ๆ ควรแก่สรรเสริญ  ควรแก่เคารพบูชาหรือไม่  ถึงแม้ว่าจะยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับการเคารพบูชาของใครมากนัก  ก็เอาแต่เพียงว่า  คนสรรเสริญหรือควรติ  ควรนิยมหรือไม่ควรนิยม  ถ้าหากว่าตัวเองนั้นทำตัวไม่ควรนิยม  ทำตัวควรติ  ก็อย่ามาหลงนับถือตัวเอง  ต้องหมิ่นตัวเองว่า  ตัวเองนั้นยังไม่ดี ต้องตั้งใจละส่วนที่ยังไม่ดีนั้น  ปฏิบัติตัวเองให้ดีขึ้น  ให้น่านิยมให้น่าสรรเสริญขึ้น  เพื่อที่จะได้นับถือตัวเองได้  อันนี้สำคัญ  อย่ามัวไปนับถืออย่างอื่นเท่านั้น  ต้องดูตัวเองว่านับถือตัวเองได้ไหม  ถ้าหากว่านับถือตัวเองไม่ได้แล้วใครจะมานับถือได้ ต้องให้ตัวเองนับถือตัวเองได้ด้วย  ก็โดยที่ปฏิบัติละความเป็นพาลในตัวเองลงไป  ปฏิบัติตัวเองให้เป็นบัณฑิต  คือเป็นคนดีมีปัญญาขึ้นมา  ท่านสอนอย่างนี้อีกด้วย  เมื่อเป็นดั่งนี้  ก็เป็นเหตุให้บรรลุถึงมงคลอันอุดมคือสูงสุด

เพราะฉะนั้น  คาถาทีแรกนี้จึงเป็นคาถาสำคัญมาก  แม้เพียงคาถาเดียวก็นำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นมงคล  เป็นเหตุให้บรรลุถึงความเจริญอย่างสูงสุดได้เป็นอย่างดี

วันนี้ยุติเท่านี้