Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

c4917f3792cdeae736b

 

“คุลิกา”เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญอันดับหนึ่งในการพิจารณาดวงชาตา ซึ่งโหรชาวอินเดียใช้กันมานานหลายพันปีแล้ว ซึ่งพระเสาร์(พระสนิเทพ) มีบุตรชายสองคนคือ “มันถิ”และ "คุลิกา"  ซึ่ง “มันถิ-คุลิกา”  เป็นดาวอุปเคราะห์หรือฉายาเคราะห์ไม่มีตัวตนและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเหมือนกับราหูและเกตุ  และโหรภารตะ ฮินดูถือกันว่าคุลิกาเป็นดาวปาปเคราะห์อันดับที่หนึ่งในดวงชาตา และสำคัญยิ่งกว่าดาวปาปเคราะห์ตามธรรมชาติทั้งหมด ณ ที่นี้จึงจะกล่าวถึงคุลิกาก่อน ซึ่งคุลิกา มีการใช้ใน 2 ลักษณะ คือ

(1) คุลิกา ในฐานะ”ยาม” หรือ “กาละเวลา” หรือช่วงเวลาในแต่ละวันเพื่อการกำหนดฤกษ์ยาม(มุหูรตะ) ซึ่งจะให้ผลดี-ร้ายขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของกิจการที่ทำ

(2) คุลิกา ในฐานะ”อุปเคราะห์” หรือดาวเคราะห์ฉายาดวงหนึ่งในจักราศี ซึ่งมีผลร้ายต่อดวงชาตาตามตำแหน่งราศีและเรือนที่คุลิกาสถิตอยู่

ความหมายของ คุลิกา (อุปเคราะห์)

คุลิกา แปลตรงตัวว่า โง่ เฉื่อย เชื่องช้า เฉไฉ เถลไถล  โหราศาสตร์ฮินดูในยุคโบราณถือว่า คุลิกา เป็นดาวปาปเคราะห์แห่งปาปเคราะห์ และมันสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างช้าลง เฉื่อยลง และอ่อนแอ

คุลิกา จะให้ผลดีในเรือนอุปปัจจัย หรือเรือนที่ 3 ที่ 6 และที่ 11 ส่วนคุลิกาในเรือนที่ 10 คุลิกาจะให้ผลเป็นความเคร่งครัด และยึดมั่นในศาสนา นอกจากนี้คุลิกายังให้ผลดีสำหรับเรือนที่มีดาวพุธหรือเสาร์เป็นเจ้าเรือน ซึ่งดาวเคราะห์ทั้งสองนี้เป็นดาวเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับ เวลา และการเคลื่อนไหว

โดยทั่วไปแล้วคุลิกา ถือเป็นปาปเคราะห์ส่งผลร้ายหรือสร้างความเสียหายให้กับเรือนต่างๆในดวงชาตา และสำหรับเรือนกรรมะหรือเรือนที่ 10 คุลิกาจะทำให้หน้าที่การงานของเจ้าชาตาต้องประสบกับความล่าช้าในการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น แต่คุลิกาจะไม่ทำลายผลของเรือนที่ 10 (กรรมะ)นี้แต่อย่างใด

คุลิกา เป็นดาวประเภทฉายาเคราะห์หรืออุปเคราะห์เหมือนกันกับราหูและเกตุ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาวฮินดูเชื่อว่าคนเราจะมองเห็น “ดาวคุลิกา” ในแบบแจ่มชัดและสุกสกาวสว่างไสวนั้น ก็ต้องใช้ตาที่สามที่อยู่บริเวณระหว่างคิ้วทั้งสองมองเท่านั้น

ซึ่งดวงตาที่สาม ในจุดนี้ในโยคะศาสตร์จะเรียกว่า จักรอาชณะ (Ajna Chakra) หรือจักระตาที่สาม  เป็นพลังงานของประสาทสัมผัสพิเศษ ที่นอกเหนือจากการรับรู้ปกติ  (extra-sensory perception: ESP) หากจักระนี้เปิดขึ้น  บุคคลนั้นจะมีฤทธิ์ทางใจ  ได้แก่  การรู้วาระจิต  การรู้อดีตชาติ  ชาติอนาคต  รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า  สามารถใช้พลังจิตโน้มน้าวใจคนผ่านการมองด้วยตา (Drishti) ซึ่งในบุคคลทั่วไปนั้นจักระนี้ยังปิดเกือบจะสนิท  จึงรับรู้ได้เฉพาะความจริงจากประสาทสัมผัสพื้นฐานเท่านั้น  และจะปฏิเสธความรู้พิเศษที่กล่าวถึงในข้างต้น

ความหมายของ คุลิกา (กาละเวลา)

ปรากฏในคัมภีร์มุหูรตะ หรือคัมภีร์ว่าด้วยฤกษ์ยามมงคล ยามคุลิกาล นั้นมีความสำคัญมากสำหรับการเลือกช่วงเวลาที่ทำการมงคลในแต่ละวัน ท่านให้ความหมายของคุลิกาเอาไว้ว่าเป็นเสมือนกับ”การเบ่งบานของดอกไม้แห่งกาลเวลา” นั่นหมายความว่า คุลิกา อาจจะย่อเวลานั้นๆให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วก็ได้ หรือทำให้เวลานั้นหมุนเวียนกลับมาได้อีกครั้งก็ได้ ดังนั้นการเลือกเฟ้นฤกษ์ยามมงคล โหราจารย์ชาวฮินดูมักจะใช้เวลาของ คุลิกาล สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เปิดห้างร้าน เปิดกิจการใหม่ การลงทุน หมายความว่า คุลิกาจะย่อระยะเวลาให้กิจการนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ได้รับผลสำเร็จ การเจริญรุ่งเรือง หรือ สำหรับการซื้อหาของมีค่า เครื่องประดับทอง-เงิน  ซื้อรถใหม่ สร้างบ้าน เข้าอยู่บ้านใหม่ หมายความว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อีกครั้งหรือหลายครั้งในเร็ววัน ซึ่งก็เป็นสิ่งดี ซึ่งอิทธิพลของ คุลิกา ในตอนนี้จะคล้ายกับอิทธิพลของ ทวิปุษการะโยคและตรีปุษการะโยคในมุหูรตะโยค

แต่สำหรับงานมงคลสมรส คุลิกาลกาล ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะจะหมายถึง ชีวิตสมรสครั้งที่สอง จะเกิดขึ้นอีกครั้งภายในระยะเวลาไม่นาน และต้องพิจารณาสำหรับเรื่องอื่นๆอีก เช่น การเข้ารับการรักษาโรค การผ่าตัด ขึ้นโรงศาล และเคลื่อนศพ การฌาปนกิจศพ ฯลฯ เหล่านี้ คุลิกาล ก็เป็นเวลาที่ต้องห้ามอีกเช่นกัน

ตำนานของ คุลิกา

ปฏิทินโหราศาสตร์มาตรฐานของฮินดูทุกฉบับตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน  จะต้องมีการบอกช่วงเวลาของคุลิกากาลเอาไว้เสมอ ซึ่งประวัติความเป็นมาของคุลิกา มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่าในสมัย ไตรดายุค เมื่อครั้งที่ทศกัณฑ์ได้ครองกรุงลงกาอยู่นั้น ทศกัณฑ์ได้วางฤกษ์กำเนิดบุตรชายของตนคือ อินทรชิต โดยได้บัญชาให้ดาวเคราะห์ทุกดวงไปอยู่รวมกันในเรือนที่ 11 (เรือนลาภะ) ของดวงชาตาอินทรชิต ซึ่งโหราศาสตร์ฮินดูถือว่าเรือนที่ 11 เป็นเรือนที่เป็นมงคลสูงสุด

เรื่องราวของอินทรชิต ในเรื่องรามเกียรติ์ มีปรากฏดังนี้  อินทรชิต เดิมชื่อรณพักตร์ แต่สามารถรบชนะพระอินทร์ได้ ทศกัณฐ์จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น อินทรชิต แปลว่า ผู้ชนะพระอินทร์ ซึ่งอินทรชิตเคยได้รับพรจากพระพรหมว่า หากอินทรชิตหัวขาดตกถึงพื้น จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ลุกท่วมโลก ต้องนำพานแว่นฟ้าของพระองค์ไปรองรับเท่านั้น จึงจะไม่เกิดไฟบรรลัยกัลป์ ซึ่งในเวลาต่อมา พระลักษมณ์ได้เป็นผู้แผลงศรไปตัดเศียรของอินทรชิตขาด และองคตซึ่งเป็นพี่ชาย ต่างบิดาของอินทรชิตได้เป็นผู้ไปนำพานแว่นฟ้ามารองรับเศียรของอินทรชิตไว้

ในขณะที่อินทรชิตกำลังถือกำเนิดอยู่นั้นดาวเคราะห์ทุกดวงต่างก็เกรงกลัวภัยจากทศกัณฑ์ ก็พากันไปสถิตย์รวมกันอยู่เรือนที่ 11 ของดวงชาตาอินทรชิต ยกเว้นแต่ดาวเสาร์ที่ดื้อดึง กลับไปสถิตย์อยู่ในเรือนชาตาที่ 12 ของอินทรชิต ซึ่งถือว่าเป็นเรือนที่เป็นอัปมงคลมากที่สุดในดวงชาตา  เมื่อทศกัณฑ์เห็นดังนั้นก็พิโรธมาก  จึงได้ตัดขาของพระเสาร์ทั้งสองข้างออกมา จนขาทั้งสองของพระเสาร์ได้กลายเป็นคุลิกา-มันถิในเวลาต่อมา

 

การคำนวนหายามคุลิกากาล (กาละเวลา)

ในคัมภีร์พฤหัส ปะราสาระ โหราศาสตรา ได้กล่าวถึงคุลิกาเอาไว้ดังนี้  “ราศีใดที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับจุดเริ่มต้นคุลิกา(ในแต่ละวัน) ถือว่า ราศีนั้นเป็นคุลิกากาล”  ในการคำนวนคุลิกากาล(กาละเวลา)ให้ถือกฎดังนี้

  1. ให้แบ่งเวลาในช่วงกลางวันออกเป็น 8 ยามเท่าๆกัน (นับแต่ช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกในแต่ละวัน) จะได้ประมาณยามละ 1.30 ชั่วโมง
  2. ในยามแรกของทุกๆวันจะเป็นยามของดาวเคราะห์ประจำวาร ของวันนั้นๆ เช่นวันอาทิตย์ ยามแรกก็จะเป็นยามอาทิตย์(อ)  ในวันจันทร์ ยามแรกก็จะเป็นยามจันทร์(จ) ฯลฯ ส่วนยามต่อไปก็นับเรียงตามลำดับดาวเคราะห์ ตามลำดับปกติ ส่วนในยามที่ 8 จะไม่มีดาวเคราะห์ประจำ
  3. ในยามกลางคืนก็นับเช่นเดียวกันแต่ให้เริ่มนับจากดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 จากดาวเคราะห์ประจำวารนั้นๆเป็นยามที่ 1 ในเวลากลางคืน และนับไปจนครบ 7 ยาม ส่วนยามที่ 8 จะไม่มีดาวเคราะห์ประจำยาม
  4. ในยามของดาวเสาร์ในแต่ละวัน เราจะเรียกยามนั้นว่า “คุลิกากาล” โดยเราสามารถคำนวนออกมาเป็นตารางดังนี้ (ในกรณีที่พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.00น. และตกเวลา 18.00 น.เท่านั้น) แต่ช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-ตก จะไม่แน่นอนในแต่ละวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่-เวลาและฤดูกาล ดังนั้นต้องคำนวนหาช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-ตกให้แน่นอนก่อนเพื่อการแบ่งยามให้ถูกต้อง
  5. ส่วนยามของดาวเคราะห์อื่นๆจะมีชื่อเรียกดังนี้ ยามอาทิตย์-กาลละ  ยามอังคาร-มฤตยู ยามพฤหัส-ยมคัณฑกะ และ ยามพุธ-อารธะประหาร

ยาม

วันจันทร์

วันอังคาร

วันพุธ

วันพฤหัส

วันศุกร์

วันเสาร์

วันอาทิตย์

คุลิกากาล

13.30-15.00น.

12.00-13.30น.

10.30-12.00น.

09.00-10.30น.

07.30-09.00น.

06.00-07.30น.

15.00-16.30น.

การหาตำแหน่งที่สถิตย์ของคุลิกา(อุปเคราะห์) ในดวงชาตา

ตำแหน่งที่สถิตของคุลิกา(อุปเคราะห์)จะตรงกับองศาของลัคนาในจุดเริ่มต้นของยามคุลิกากาล(กาละเวลา)ในแต่ละวันตามตารางข้างต้น ซึ่ง เป็นการคำนวนเฉพาะจากเส้นแวง(ลองติจูด)เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น เจ้าชาตาเกิดในวันเสาร์เวลา 06.00 น. และพระอาทิตย์ในวันนั้นขึ้นและตกในเวลา 06.00-18.00 น.(ตามตารางด้านบน) ตำแหน่งของคุลิกาจะกุมองศาของลัคนาพอดี(เรือนที่ 1) แต่หากวันเดียวกันนี้มีอีกคนเกิดในเวลา 12.00 น. ตำแหน่งคุลิกาจะสถิตอยู่ในเรือนที่ 10 ของดวงชาตา หรือใช้วิธีที่เรียกว่า “คุลิโกธยาม” โดยแบ่งวันๆหนึ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนกลางวันเป็น 30 ฆฏิหรือ 30 มหานาที (घटि ฆฏิ  -มหานาที เท่ากับ 24นาทีปัจจุบัน) และกลางคืนเป็น 30 ฆฏิ

(1)สำหรับยามคุลิกากาล-กลางวันจะตรงกับเวลาฆฏิอันดับที่ 26,22,18,14,10,6 และ 2 หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น เรียงจากวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์

(2)สำหรับยามคุลิกากาล-กลางคืนจะตรงกับเวลาฆฏิอันดับที่  10,6,2,26,18 และ 14 หลังจากพระอาทิตย์ตก เรียงจากวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์

 

ผลของคุลิกา (อุปเคราะห์) ร่วมกับลัคนา

คุลิกา สถิตย์ร่วมลัคนา โบราณถือว่าเป็นโทษร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง; แต่ในทางปฏิบัติมันเป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวชี้วัดที่จะต้องมีความสมดุลในบริบทต่างๆของดวงชาตา  ซึ่งคุณสมบัติหนึ่งของ คุลิกา คือการชะลอพัฒนาการของร่างกายตามที่ควรจะเป็น ในความเป็นจริงในดวงชาตาของนายแพทย์ที่มีความสามารถมากหลายท่านจะมักมีคุลิกาสถิตย์ร่วมลัคนาเสมอ และประวัติในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นมักจะแสดงให้เห็นการต่อสู้ในวัยเด็ก หรือมีมีโรคร้ายบางอย่าง หรือชีวิตทีี่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก จนสิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณจนทำให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการรักษา

คุลิกา สถิตย์ร่วมลัคนา   จริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นคำสาปแช่งและไม่ควรทำให้เกิดความหวาดกลัวจนเกินควร แต่มันหมายถึง ความรู้สึก หรือข้อจำกัด และความล่าช้าที่เป็นผลพ่วงมาจากอิทธิพลของดาวเสาร์เสียมากกว่า ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เราสามารถจัดการได้ และจะเกิดความสำเร็จโดยต้องใช้ความอดทน

นอกจากนี้ คุลิกา สถิตย์ร่วมลัคนา สามารถพบเห็นได้ในดวงชาตาของนักบุญที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย

ผลของคุลิกา (อุปเคราะห์) ในมหาทศา

ผลหน่วงให้เกิดความล่าช้าของคุลิกา  จะเด่นชัดมากที่สุดในช่วงระยะเวลาเสวยอายุของดาวเคราะห์ใดที่สัมพันธ์กับคุลิกาใน มหาทศา และอันตรทศา

เจ้าชาตาจะรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่ความคาดหวังของตนถูกดึงให้เกิดความล่าช้า  และรู้สึกถึงการถูกยับยั้งหน่วงเหนี่ยวโดยอิทธิพลจากสังคมและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุลิกาว่าสถิตย์อยู่ในเรือนใดในดวงชาตา

แต่หากคุลิกาสถิตย์ในเรือนอุปปัจจัย เช่น เรือนที่ 3 ที่ 6 ที่ 10 หรือ 11 ผลจะเกิดเพียงเล็กน้อย   ส่วนการชะลอตัวจากอิทธิพลของคุลิกา สำหรับในนวางศ์จักร จะส่งผลกระทบพฤติกรรมและความสัมพันธ์ และสำหรับใน ทศางศะ จะส่งผลให้เกิดความล่าช้า ในด้าน พฤติกรรมอาชีพ  เกียรติยศและศักดิ์ศรี ของเจ้าชาตา