Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

shiva hindu god india

โศลกที่ ๔๔

  • ในระบบของทศวรรค คือการแบ่งราศีออกเป็นส่วนต่าง ๆ กันถึง ๑๐ ประเภทด้วยกัน และตำแหน่งวรรคต่าง ๆ ที่จะให้คุณวิเศษแก่เจ้าชะตาอย่างยิ่งยอดนั้น คือดารพระเคราะห์ในชะตาต้องได้ตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดคือ มูละตรีโกณ สวะเกษตร์ สวะอุจจ์ หรือวรโคตมะนวางศ์เสียก่อน แล้วในขณะเดียวกันดาวนั้นยังอยู่ในวรรคต่าง ๆ ซึ่งครองด้วยดาวนั้นเองอีกด้วย การที่พระเคราะห์ใด ๆ สถิตย์อยู่ได้ตำแหน่งดาวที่ครองวรรคต่าง ๆ เป็นดาวเดียวกันตั้งแต่สามวรรคขึ้นไป เรียกว่าได้ตำแหน่งอุตตะมะ ถือว่าพระเคราะห์ดวงนั้นเข้มแข็งและให้คุณแก่เจ้าชะตามาก เช่นตำแหน่งของอังคารอยู่ราศีเมษ ๒ องศา จะแลเห็นว่าอังคารได้ตำแหน่งมูละตรีโกณและในเวลาเดียวกัน อยู่ในตรียางค์ของอังคาร นวางศ์อังคาร และตริมศำศะของอังคารอีกด้วย เพราะฉะนั้นอังคารในตำแหน่งนี้จึงได้ตำแหน่ง อุตตะมะ ฯ

โศลกที่ ๔๕ – ๔๖

  • ในระบบของทศวรรค ดาวพระเคราะห์ที่ไดตำแหน่ง ๓ วรรคเรียกอุตตะมะ ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่ง ๔ วรรค เรียก โคปุระ ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่ง ๕ วรรค เรียก สิมหาสะนะ ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่ง ๖ วรรค เรียก ปาราวะตำศะ ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่ง ๗ หรือ ๘ วรรครวมเรียกชื่อเดียวกันว่า เทวะโลกะ ส่วนดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่งถึง ๙ เรียก ไอราวะตะ ฯ

หมายเหตุ

               ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีถ้าอยู่ราศีธนู ๑ องศา ๒๕ ลิบดา ๑ ฟิลิบดา ตำแหน่งของพฤหัสบดีจะเป็นเทวะโลกะ เพราะเป็นมูลตรีโกณ และในส่วนวรรคต่าง ๆ เป็นวรรคที่ครองด้วยพฤหัสบดีทั้งสิ้น คือ ตรียางค์ สัปดำศะ นวางศ์ ทศมำศะ ทวาทะศำศะ และกาลำศะ

 

โศลกที่ ๔๖ – ๔๘

  • ในระบบของษัทวรรค คือแบ่งแต่ละราศีออกเป็น ๖ ประเภท คือ ลัคนา โหรา ตรียางค์ นวางศ์ ทวาทะศำศะ และตริมศำศะ ในระบบนี้เองถ้าเราเพิ่ม สัปตะมำศะเข้าไปอีกประเภทหนึ่ง รวมเป็น ๗ ประเภท ก็จะเป็นระบบใหม่อีกระบบหนึ่งมีชื่อว่า สัปตะวรรค ในบางคัมภีร์ถือเคร่งมากเกี่ยวกับการแบ่งวรรคต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะถือว่าถ้าพระเคราะห์ใดในชะตาได้วรรคซ้ำกันหลาย ๆ วรรค พระเคราะห์นั้นจะให้คุณแก่เจ้าชะตามาก ฯ

โศลกที่ ๔๙

  • ชื่อของภพที่ ๑ นับจากลัคนา คือ กัลปะ แปลว่าความตั้งใจ ความเหมือนกัน อุทัยแปลว่าการที่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นขึ้นขอบฟ้าขึ้นมา อาทยะแปลว่าที่หนึ่งหรือประถม ตะนุแปลว่าองค์หรือร่างกาย ชนมะแปลว่าการเกิด วิลัคนาแปลว่าการขึ้นแห่งราศี ลัคนาแปลว่าการขึ้นแห่งราศี โหราแปลว่าการขึ้นแห่งราศี
  • ชื่อของภพที่ ๒ คือ วาคะแปลว่าการพูด อรรถแปลว่าความมั่งคั่ง ภุกติแปลว่าการบริโภคอาหาร นัยนะแปลว่านัยน์ตา สวะแปลว่าการเป็นเจ้าของการครอบครอง กุฏุมพะแปลว่าญาติสืบสกุล
  • ชื่อของภพที่ ๓ คือ ทุศจิกัยแปลว่าภพที่สาม วิกรมแปลว่าความกล้าหาญ การชนะ สะโหธะระแปลว่าน้องชายท้องเดียวกัน พี่น้องท้องเดียวกัน วีรยะแปลว่าความเพียรความอดทน โธรยะแปลว่าความยุติธรรม กรรณแปลว่าหู ฯ

โศลกที่ ๕๐

  • ชื่อของภพที่ ๗ คือ ปาตาละแปลว่าภพที่ ๔ หรือนาคพิภพ วฤททิแปลว่าความสุข ความรุ่งเรือง สมบัติ หิพุกะแปลว่าที่ ๔ กัษติแปลว่าที่ดิน มาตฤแปลว่ามารดา วิทยาแปลว่าความรู้ ยานะแปลว่าพาหนะ อำพุแปลว่าน้ำ เคหะแปลว่าบ้าน สุขะแปลว่าความสบาย พันธุแปลว่าญาติพี่น้อง จตุษฏัยแปลว่าภพที่ ๔
  • ชื่อของภพที่ ๕ คือ ธีแปลว่าความฉลาดรอบรู้ เทวะแปลว่าเทพดา ระชะแปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน ปิตนันทนะแปลว่าการมีบุตรชาย ปัญจะกะแปลว่าที่ ๕
  • ชื่อของภพที่ ๖ คือ โรคะแปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ อำศะแปลว่าการตัดการแบ่ง ศาสตระแปลว่าอาวุธต่าง ๆ ภะยะแปลว่าภัยอันตราย ษัษฐะแปลว่าที่ ๖ริปุแปลว่าข้าศึกฝ่ายตรงข้าม กัษตะแปลว่าบาดแผล

โศลกที่ ๕๑

  • ชื่อของภพที่ ๗ คือ ชามิตระแปลว่าภพที่ ๗ กามะแปลว่าความใคร่ คะมะนาแปลว่าการเที่ยวหาความสุข กะละตระสำปัดแปลว่าสมบัติของคู่ครอง ทยุนาแปลว่าภพที่ ๗ อัสตะแปลว่าดับ อัสดงคต สัปตมะแปลว่าที่ ๗
  • ชื่อของภพที่ ๘ คือ รันธระแปลว่าการต้องโทษ อายุแปลว่าชีวิต อัษฐะแปลว่าที่ ๘ ระณะแปลว่าการต่อสู้ มฤตยูแปลว่าความตาย วินาศะแปลว่าการสังหาร
  • ชื่อของภพที่ ๙ คือ ธรรมะแปลว่าความดี คุรุแปลว่าบิดา ศุภะแปลว่าความผาสุข ตะปะแปลว่าการทรมานตนเพื่อขอพรพระเจ้า นะวะแปลว่า ๙ ภัคยะแปลว่าโชคลาภ ฯ

โศลกที่ ๕๒

  • ชื่อของภพที่ ๑๐ คือ วยาปาระแปลว่าการทำงาน เมษูระณะแปลว่าภพที่ ๑๐ มัธยะแปลว่าเหนือศีรษะกลางหาว มานะแปลว่าเกียรติยศ ฌาณะแปลว่าการแสวงหาความรู้ ราชา สปะทะแปลว่าความยิ่งใหญ่ กรรมแปลว่าการกระทำ
  • ชื่อของภพที่ ๑๑ คือ เอกาทะศะแปลว่าที่ ๑๑ อุปันตยะแปลว่าภพที่ ๑๑ ภาวะแปลว่าความสุข สปะทะแปลว่าความยิ่งใหญ่ ลาภาแปลว่าลาภหรือกำไร
  • ชื่อของภพที่ ๑๒ คือ ริผะแปลว่าการเบียดเบียน วัยยะแปลว่าการใช้จ่าย ทวาทะศะแปลว่าที่ ๑๒ อันตยะภะแปลว่าภพสุดท้าย ที่สุดท้าย ฯ

โศลกที่ ๕๓ – ๕๔

  • เมษุระณะแปลว่าภพที่ ๑๐ อุทัยแปลว่าภพที่ ๑ กะละตระแปลว่าภพที่ ๗ ระสาตะละแปลว่าภพที่ ๔ ภพทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้โดยมากมีชื่อเรียกรวม ๆ กันว่า เกนทระ กัณฏะกะหรือจะตุษฎัย ภพที่ ๕ และภพที่ ๙ จากลัคนามีชื่อเรียกรวมกันว่า ตริโกณะ ตรีโกณ ภพที่ ๙ จากลัคนามีชื่อเรียกเฉพาะอีกว่า ตรี ตรีโกณะ

ภพที่   ๑ – ๔ – ๗ – ๑๐    เรียกว่า เกนทระ

ภพที่   ๒ – ๕ – ๘ – ๑๑    เรียกว่า ปะณะผะระ

ภพที่   ๓ – ๖ – ๙ – ๑๒    เรียกว่า อาโปกลิมะ

ภพที่   ๔ – ๘                     เรียกว่า จตุระสร

ทั้งนี้ท่านว่าเป็นภพต่าง ๆ ที่นับจากตำแหน่งของลัคนาทั้งสิ้น ฯ

โศลกที่ ๕๕

  • ผู้คงแก่เรียนทางโหราศาสตร์ ให้ความเห็นตรงกันว่า ภพที่ ๓ – ๖ – ๑๐ – ๑๑ จากลัคนา เป็นภพที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาให้แก่เจ้าชะตา นับว่าเป็นภพที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ และภพเหล่านี้มีชื่อพิเศษเรียกว่า อุปจัย ส่วนภพต่าง ๆ ที่เหลือคือภพ ๑ – ๒ – ๔ – ๕ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๒ นั้น เป็นภพที่ทำให้เจ้าชะตากระวนกระวายใจและดิ้นรนเดือดร้อนใจเป็นอันมาก จึงถือว่าให้โทษมากกว่าให้คุณ และบางอาจารย์เรียกว่าอปะจัย อปะจัย ในภพต่าง ๆ ที่ถือว่าทำความเดือดร้อนใจให้เจ้าชะตานั้น ถ้าภพเหล่านี้ได้รับแสงจากเจ้าเรือนของตัวเองหรือได้รับแสงจากดาวศุภเคราะห์คือ พุธ ศุกร์ หรือ พฤหัสบดีแล้ว นับว่าภพนั้นให้คุณแก่เจ้าชะตาเป็นพิเศษ ฯ

โศลกที่ ๕๖

  • ในการวัดความกว้างยาวของราศีต่าง ๆ นับตั้งแต่ราศีเมษถึงราศีกันย์ตามลำดับจะได้ดังนี้คือ ๒๐ – ๒๔ – ๒๘ – ๓๒ – ๓๖ และ ๔๐ และในราศีต่อ ๆ ไป ตั้งแต่ตุลย์ถึงมีนมีความยาวคิดกลับกันเรียงเป็นลำดับคือ ๔๐ – ๓๖ – ๓๒ – ๒๘ – ๒๔ และ ๒๐

 

หมายเหตุ

               ในการแบ่งความสั้นยาวของราศีได้เคยกล่าวไว้ในโศลกที่ ๑๓ แล้ว ท่านจะเห็นได้ว่าถ้าเอาจำนวนเลขทั้ง ๑๒ ราศีที่กล่าวในโศลกนี้รวมกันก็จะได้จำนวน ๓๖๐ พอดี เพราะฉะนั้นก็เท่ากับจำนวนองศาทั้งหมดใน ๑๒ ราศีด้วย จากอันนี้เป็นการยืนยันอีกประการหนึ่งว่าการดูความกว้างยาวของราศีต่าง ๆ นั้น คิดเอาจากภาพราศีที่มองเห็นจากที่ ๆ เขาเฝ้าดูอยู่ ฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนที่ดูจำนวนความกว้างยาวของราศีต่าง ๆ หรือจำนวนอันโตนาฑีก็อาจผิดกันไปได้

               ในการใช้มาตราเวลาของอินเดียโบราณมีคำหนึ่งซึ่งเรียกตามชื่อของเขาว่า วิฆะฎิกะ คือเมื่อเทียบเวลากับปัจจุบันแล้ว หนึ่งวิฆะฏิกะจะเท่ากับ ๒๔ วินาทีพอดี

               ในการที่โลกหมุนรอบตัว ๑ ครั้ง เรียกว่า ๑ วัน หรือ ๒๔ ชั่วโมง ราศีต่าง ๆ ในท้องฟ้าถ้าเราเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งก็จะหมุนได้ ๑ รอบ หรือ ๑๒ ราศีพอดีเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าคิดเฉลี่ยอย่างหยาบ ๆ โดยเอาหลัก ๓๖๐ องศา เท่ากับ ๒๔ ชั่วโมง ในจำนวน ๑ องศาจะได้เท่ากับ ๔ นาทีพอดี จำนวนนี้เราจะเรียกว่ามัธยมลัคนาก็ได้ คือคิดเฉลี่ยลัคนาโคจร ๔ นาที ต่อ ๑ องศา

               ในราศีเมษกำหนดความกว้างไว้ ๒๐ องศา คิดเป็นเวลาลัคนาเท่ากับ ๘๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ถ้าคิดเป็นมาตราอินเดียโบราณจะเท่ากับ ๒๐๐ วิฆะฏิกะพอดี เพราะมัธยมลัคนาใน ๑ องศาเท่ากับ ๔ นาที หรือ ๒๔๐ วินาที ซึ่งจำนวนนี้จะเท่ากับ ๑๐ วิฆะฏิกะพอดี ดังนั้น ๒๐ องศาจึงเท่ากับ ๒๐๐ วิฆะฏิกะ และถ้าเอา ๑๐ คูณทุก ๆ ราศีในโลศกนี้ก็จะได้จำนวนอันโตนาทีของราศีนั้น ๆ ทันที แต่อันโดนาทีที่ได้นี้เป็นอันโดนาทีของเฉพาะท้องถิ่นที่เขาเขียนตำรานี้ เราจะเอามาใช้โดยปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ เพราะเราทราบแล้วว่าเมื่อเปลี่ยนที่เหนือหรือใต้ เส้นศูนย์สูตรของโลกไปเพียงเล็กน้อย เราจะมองเห็นความกว้างของราศีต่าง ๆ เปลี่ยนไปด้วย อันโตนาทีของราศีต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนตามกันไปหมด

               ในโศลกที่ ๑๓ ได้กล่าวว่าราศีสั้นได้แก่ เมษ พฤษภ และกุมภ์ ซึ่งมีจำนวนองศาตามโศลกนี้คือ ๒๐ – ๒๔ และ ๒๕ ตามลำดับ ที่จริงควรจะจักราศีมีนเข้าไว้ในจำพวกราศีสั้นอีกด้วย เพราะตามโลกศกนี้บอกว่าราศีมีนกว้างเพียง ๒๐ องศาเท่านั้น สำหรับราศีอื่น ๆ เมื่อเอาสูตรของโศลกนี้ไปเทียบนับว่าใช้ได้ทุกต้องกันหมดทุกราศี ข้าพเจ้าจึงขอฝากความคิดเห็นไว้ ณ ที่นั้นด้วย ฯ