หมวด: ฮวงจุ้ยบ้าน 陽宅風水
จำนวนผู้อ่าน: 12341

 si xiang

 

คำว่า “ฮวงจุ้ย” หรือ”เฟิงสุ่ย” 風水นั้นคือทฤษฎีที่ครอบคลุมและรวบรวมศาสตร์ต่างๆของจีนโบราณ ไว้อย่างเป็นระบบเข้าด้วยกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ วิชาภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ภูมิทัศน์ นิเวศวิทยา การก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม  อีกรวมทั้งด้านจริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ เพื่อที่จะเลือกสรรทำเลที่ดีที่สุดสำหรับการอยู่อาศัย และการสร้างบ้านเมือง

คำว่า “ฮวงจุ้ย” บางทีก็เรียกว่า วิชาข่านอวี๋ 堪輿หมายถึง วิชาภูมิลักษณ์ ,วิชาถูไจ่ 圖宅หมายถึงสายน้ำและที่อยู่อาศัย 、วิชาชิงหนาง青囊หมายถึงย่ามเขียว เพราะซินแสฮวงจุ้ยสมัยก่อนมักใช้ย่ามสีเขียวเป็นสัญลักษณ์、วิชาซานสุ่ยจือซู่山水之術หมายถึงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับภูเขาและสายน้ำ

ท่านปรมาจารย์กัวผู 郭璞 (คศ 276-324) ในสมัยราชวงศ์จิ้น ได้แต่ง”คัมภีร์จ้างจิง” 《葬經》 ซึ่งว่าด้วยการฝังศพหรือคัมภีร์สุสาน(ฮวงซุ้ย)ได้กล่าวถึงคำว่า “ฮวงจุ้ย”เอาไว้ว่า : “氣乘風則散,界水則止,古人聚之使不散,行之使有止,故謂之風水。 風水之法,得水為上,藏風次之。”  “ชี่นั้นถูกพัดกระจัดกระจายไปตามสายลม,แต่น้ำนั้นถูกจำกัดขอบเขตให้หยุดอยู่กับที่,บรรพชนโบราณจึงพยายามหาวิธีการรวมรวมเอาไว้มิให้กระจัดกระจาย,ดังนั้นวิธีนี้จึงเรียกว่า”ลมกับน้ำ”หรือเฟิงสุ่ย,วิธีการใช้เฟิงสุ่ยก็คือ,การหาตำแหน่งน้ำเป็นหลัก,ส่วนการควบคุมเก็บกักลมนั้นเป็นรอง”

ธรรมชาติพื้นฐานของฮวงจุ้ยคือหยินและหยาง ความตั้งใจเดิมของปรมาจารย์กัวผู่ในการสร้างคำว่า"ฮวงจุ้ย"ก็คือการเลือกสภาพแวดล้อมและใช้การเคลื่อนไหว(หยาง)และการสงบหยุดนิ่ง(หยิน)ของมังกรมาอธิบายคำว่า”ฮวงจุ้ย” คำว่ามังกรในวิชาฮวงจุ้ยนั้นก็คือขุนเขา ซึ่งถือว่าขุนเขาเป็นที่อิงอาศัยของสภาพแวดล้อมนั้นๆให้ดำรงอยู่ได้ อีกทั้งได้อธิบายถึงความสัมพันธ์และความกลมกลืนระหว่างกันของหยินและหยาง

เมื่อมังกรทะยานสู่ฟ้าพร้อมร้องคำรามย่อมก่อให้เกิดลม ดังนั้นลมคือการเคลื่อนไหว และเมื่อมังกรหยุดนิ่งจะต้องมีร่องรอย มีสัญลักษณ์คือพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยดินทรายและสายน้ำ และน้ำแสดงถึงความสงบและหยุดนิ่ง

ความหมายของฮวงจุ้ยคือการเลือกระดับพลังความแข็งแกร่งของสถานที่ที่มังกรหยุดนิ่ง และใช้พลังนี้ในการเลือกทำเลที่อยู่อาศัยและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ทรงพลัง เพื่อใช้พลังของมังกรจากใจกลาง(龍氣)และซึมซับบรรยากาศที่อุดมสมบูรณ์จากภายนอก(堂氣)

ศิลปะแห่งการใช้ลมและน้ำมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน อีกทั้งมีหลากหลายสายวิชาและสำนักต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจึงขอให้เราใช้ทัศนคติทางวิทยาศาสตร์เพื่อขจัดความเชื่ออันงมงายทิ้งไป และให้เข้าใจว่าอภิปรัชญาฮวงจุ้ยเป็นวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่และเป็นวิทยาศาสตร์สาขาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ระบบทางทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากฮวงจุ้ยโบราณคือ "ความกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ" “天人合一” โดยมุ่งเน้นไปที่ความกลมกลืนและความลงตัวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แนวคิดทางปรัชญานี้มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์และวิถีชีวิตของผู้คนมาช้านาน ส่งผลให้วิถีแห่งฮวงจุ้ยนี้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้มนุษย์ชาติรักธรรมชาติมากขึ้น

ศิลปะแห่งวิชาฮวงจุ้ยนั้น เป็นมุมมองทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมแขนงหนึ่ง เป็นประเพณีท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย เป็นศิลปะวิชาในการแสวงหาความเป็นมงคลและหลีกเลี่ยงความอัปมงคลทั้งปวง เป็นวิชาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นอภิปรัชญาชั้นสูง(玄學)ที่สามารถปรับเปลี่ยนและส่งเสริมโชคชะตา   จากมุมมองของทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ "ฮวงจุ้ย" เป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้ง ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา  วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรม นิเวศวิทยา และดาราศาสตร์