Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

Hu Nian 2565 Thai Chinese12 นักษัตร –วันเปลี่ยนปีนักษัตร ปีขาล ตามคติจีน-ไทย ปี2565

การนับปีเกิดตามปี 12 นักษัตรมีความสับสนกันมาก ทั้งแบบจีนแบบไทย เพราะจีนกับไทยก็นับไม่เหมือนกัน ต่างกันเป็นเดือน บางคนก็นึกว่า ปีขาล 2565 เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม บางคนก็นึกว่านับจากวันตรุษจีน บางคนก็นึกว่านับจากวันสงกรานต์ แบบนี้เป็นต้น แม้ปฏิทินโหราศาสตร์เองก็มักทำให้คนสับสน ว่าตกลงแล้วปีขาลเริ่มนับเมื่อไหร่กันแน่

ปีขาล(จีน)ไม่ได้เริ่มต้นนับจากวันตรุษจีน

อ้างอิงตามคติจีนโบราณ และอ้างอิงตามหลักโหราศาสตร์จีน การเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่จะเริ่มต้นนับจาก สารทลิบชุน เป็นต้นไป (ปกติจะตรงกับวันที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี)  ไม่ว่าปีนั้นตรุษจีนจะเป็นวันไหนก็ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนปีนักษัตร

ตัวอย่าง เช่น ปี 2565 สารทลิบชุน 立春 เริ่มเข้าสู่ปีขาล วันที่ 4 ก.พ. 2565 เวลา 03:50:36 น. ดังนั้นลูกใครเกิดก่อนวันที่ 4ก.พ. 65 เวลา 03:49:36 น. ก็ยังถือว่าเป็นเกิดปีฉลู แต่หากเด็กเกิดเวลา   03:50:36 น. เป็นต้นไป ก็นับว่าเป็นคนเกิดปีขาล(ตามคติจีน) ส่วนของไทยก็ยังเป็นปีฉลูอยู่เหมือนเดิม ระบบ 24 สารทฤดูของจีนจะใช้ มุมลองติจูดอิคลิปติค (Ecliptic Longitude) แบ่งเป็น 24 ส่วน แต่ละส่วน คือ  1 สารทฤดู

สารทลี่ชุน(立春 ลิบชุน)คืออะไร

สารทลี่ชุน(立春 ลิบชุน)ถือเป็นสารทอันดับแรกของปีในระบบ 24 สารทของจีน二十四节气 (1 สารทฤดูมีระยะเวลา 15 วัน) ซึ่งคำนวณตามระบบสุริยคติ นั่นคือเมื่อดวงอาทิตย์โคจรถึงมุมลองติจูดอิคลิปติค (Ecliptic Longitude) ตรงกับองศา 315 ° ซึ่งอยู่ระหว่างวันที่ 3 ถึง 5 กุมภาพันธ์ของทุกปีในปฏิทินสากล  ช่วงเวลาตั้งแต่วันนี้จนถึงต้นฤดูร้อนเรียกว่าฤดูใบไม้ผลิ

และสารทลี่ชุน(立春 ลิบชุน)ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิที่แท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิในสมัยโบราณ และถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ของจีนมาแต่โบราณ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเปลี่ยนปีนักษัตร ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ จึงเปลี่ยนในวันนี้ ตามแบบโบราณ

24 jieQi

ระบบ 24 สารทฤดูของจีน二十四节气

จีนโบราณเป็นสังคมเกษตรกรรม การแบ่งออกเป็น 24 สารทฤดู ช่วยกำหนดฤดูกาลต่างๆ ซึ่งประเทศจีนมี 4 ฤดู และแบ่งออกเป็น 24 สารทฤดู เพื่อบ่งบอกสภาพภูมิอากาศ ฟ้าฝน และความแห้งแล้ง และเพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่าจะควรเพาะปลูกเมื่อใด เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อใด และสารทไหนควรปลูกพืชผลอะไรและไม่ควรปลูกอะไร ซึ่งใช้กันมากว่า 5000 ปีมาแล้ว

24 สารทฤดูใช้ระบบสุริยคติ และใช้มุมลองติจูดอิคลิปติค (Ecliptic Longitude)กำหนดค่าเป็นระยะทางเชิงมุม มีหน่วยเป็นองศา รวมเป็น 360 องศา จากนั้นแบ่ง 360 องศาเป็น 24 ส่วน ส่วนละ 15 องศา แต่ละส่วนก็จะมีชื่อ เรียกว่า节气  หรือ สารทฤดู

ทำไมจึงไม่ใช้วันตรุษจีนในการเปลี่ยนปีนักษัตร

อันดับแรกก็คือวันตรุษจีนนั้นใช้ระบบจันทรคติในการคำนวณ ส่วน 24 ฤดูสารทใช้ระบบสุริยะคติเพราะเกี่ยวข้องกับฤดูกาลและภูมิอากาศ

ในการคำนวณ เนื่องจากปีสุริยะคติ 1 ปีจะมี 365 วัน ถ้านับวันปีทางจันทรคติจะมีเพียง 354 วัน ซึ่งมีวันน้อยกว่าปีทางสุริยะคติถึง 11 วันต่อปี เมื่อรวม 3 ปี จะได้ 33 วัน

ทางไทยจึงได้เพิ่ม เดือนจันทรคติอีก 1 เดือน เพื่อให้ตรงกับระบบสุริยะคติและตรงกับฤดูกาลให้มากที่สุด ดังนั้นในทุกๆ 3 ปีทางจันทรคติ จะมีเดือน 8 สองหน คือจะมี 13 เดือน เรียกปีนั้นว่า ปีอธิกมาส

ส่วนจันทรคติจีนก็จะมีการทดวันเพิ่ม(อธิกมาส) เรียกว่า闰月ลุ่นเยว่ (หยุ่งหง่วย) เข้าไปอีก 1 เดือน โดยทุกๆ 19 ปี จะมีอธิกมาสหรือ闰月ลุ่นเยว่ 7 ครั้ง หรือประมาณ 2-3 ปีต่อครั้ง ซึ่งอธิกมาสของจีนมีตั้งแต่เดือน2 สองหน หรือเดือน 3,4,5,6,7,8,9,10, 11 สองหน ปีไหนจะมีเดือนไหนสองหน รวมเป็น 13 เดือนก็ขึ้นกับวิธีคำนวณ ส่วนของไทยเนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาจึงใช้แต่เดือน 8 สองหนอย่างเดียว

จะเห็นได้ว่า วันตรุษจีน (ระบบจันทรคติ) จะมีความคลาดเคลื่อนกับฤดูกาลจริง (ระบบสุริยะคติ)ปีละ 11 วัน นานวันเข้าหลายพันปี ก็เกิดความคลาดเคลื่อน ดังนั้นโบราณท่านจึงใช้ระบบสารทฤดูเป็นหลักในการเปลี่ยนปีใหม่ และเปลี่ยนปีนักษัตรไปพร้อมๆกันด้วย

----------------------------------------------------------------

วันเปลี่ยนปีนักษัตร ปีขาล ตามคติ ไทย ปี2565

อันนี้ก็สับสนกันมาก ทั้งชาวบ้านทั้งหมอดู และการเปลี่ยนปีนักษัตรแบบไทย อันนี้ก็มีหลายมติและหลายอาจารย์ดังนี้

(ก.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว จะเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้นปีใหม่สากลหรือทุกๆวันที่ 1มกราคม ของทุกปี

(ข.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกวันที่ 1เมษายน ของทุกปี

(ค.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของ โหรบางท่าน จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกๆวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี ซึ่งจะตกประมาณ ปลายเดือนมีนาคมของทุกปี

(ง.)ปฏิทินโหรหลวง ของหมวดโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง  จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกๆวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้ายของทุกปี ซึ่งจะตกประมาณ  เดือนธันวาคมของทุกปี

ส่วนการคำนวณของโหรที่ถูกต้องจะใช้ หลักตามข้อ (ค.) เพราะมาจากพระราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5และยึดตามการบันทึกของพงศาวดารของไทยมาแต่โบราณ  ซึ่งมีที่มาจากวันเปลี่ยนเป็นมหาศักราชของอินเดีย และเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งไทยเราใช้ระบบมหาศักราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมานานแล้ว

มหาศักราช หรือ เรียกว่า สังวัตสรศก SamvatsarasShaka (संवत्सर)  ภาษาไทยนิยมใช้ว่า สมพัตสร แต่จะใช้ สัมวัตสรศก ก็ได้ เป็นศักราชคำนวณจากรอบพฤหัสจักรของฮินดูโบราณ  คำว่าสังวัตสาระ นั้นเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าปี ซึ่งมีชื่อศักราชจำนวน 60 ชื่อ หรือ 60 ปี ซึ่งคำนวณจาก 5 รอบพฤหัสจักร (Jovian years) โดยใช้หมุนเวียนกันไปรอบละ 60 ปี ซึ่งคล้ายๆกับทฤษฎี 六十甲子 หลักจับกะจื้อ ของจีน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการนับปีนักษัตร(ชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ) แบบไทยนั้น ค่อนข้างจะสับสนไม่ลงรอยกัน ซึ่งเรื่องนี้คนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

***********************************************************