หมวด: โหราศาสตร์พระเวท(ภารตะ)-ความรู้พื้นฐาน
จำนวนผู้อ่าน: 10524

Avathas of Planets

หลักวินิจฉัยการให้คุณ-โทษในโหราศาสตร์ไทยนั้นก็มีหลักการวินิจฉัยคล้ายๆอย่างนี้อยู่ ท่านเรียกว่า “ดาวเคราะห์ได้ตำแหน่ง” ซึ่งโดยมากแล้วจะกล่าวถึงผลดีเป็นส่วนมาก เช่น ดาวได้ตำแหน่ง มหาจักร ราชาโชค ดาวคู่ธาตุ คู่สมพล ดาวองค์เกณฑ์ อุดมเกณฑ์ และดาวฆาฏ  แต่ในบางตำแหน่งในตำราก็บอกเหตุผลที่มาที่ไปอย่างชัดเจน  แต่บางตำแหน่งกลับไม่บอก ว่าทำไมดาวจึงได้ตำแหน่งเช่นนี้

เมื่อเราอยากจะเข้าใจเหตุผลดังกล่าวข้างต้นให้ลึกซึ้งลงไปอีก ก็จำเป็นที่จะต้องสอบย้อนไปถึงต้นตอของโหราศาสตร์ไทย นั่นก็คือโหราศาสตร์ภารตะแต่กลับไปพบกับเรื่อง “อวัสถา” นี้แทน ซึ่งหลักการนี้มีกฎเกณฑ์ และการอ้างอิงเหตุผลที่มาที่ไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนักโหราศาสตร์ทั้งหลายให้การยอมรับหลักการนี้นำไปเป็นบรรทัดฐานในการตีความในเรื่องการให้คุณให้โทษของดาวแต่ละดวงได้เป็นอย่างดี

กฎทั่วไปของโหราศาสตร์ภารตะท่านได้แบ่งดาวเคราะห์ออกเป็น ดาวศุภเคราะห์ และดาวบาปเคราะห์เพื่อแบ่งแยกประเภทนิสัยของดาว และดาวเคราะห์เหล่านี้ก็ยังให้ศุภผล(ผลดี) และบาปผล(ผลร้าย) ตามลักษณะและตำแหน่งของดาวเคราะห์มีมีกฎเกณฑ์อธิบายเอาไว้หลากหลายกฎเกณฑ์

ซึ่งสรุปความได้ว่าดาวศุภเคราะห์ก็สามารถให้บาปผล(ผลร้าย)ได้ และดาวบาปเคราะห์ก็สามารถให้ศุภผลหรือผลดีได้ ไม่ใช่ว่าพอเห็นว่าเป็นบาปเคราะห์ หรือดาวที่อยู่ในภพทุสถานะแล้วก็คิดว่าจะให้ผลร้ายเสมอไป นี่คือความเข้าใจผิดของนักศึกษาโหราศาสตร์

จากบทความที่แล้วมาผมได้เขียนถึงดาวเคราะห์คู่มิตรคู่ศัตรูไปแล้ว ที่นี้เราก็มาดูว่าผลของการเป็นคู่มิตรและคู่ศัตรูของดาวเคราะห์จะให้ผลอย่างไรบ้าง และดาวเคราะห์ที่มีตำแหน่งเช่นอุจน์ นิจ อยู่เรือนมิตร -ศัตรู ฯลฯจะให้ผลดีร้ายอย่างไร ซึ่งเราสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งดวงเดิมและดวงจร อีกทั้งการเสวยอายุและแทรกอายุในระบบวิมโษตรีทักษา จากหลัก”อวัสถาของดาวเคราะห์” ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

1.ทีปถา หรือรุ่งโรจน์ มากจากการที่ดาวเคราะห์ได้ตำแหน่งเป็นอุจน์ ในราศี หรือในนวางค์ ให้ผลดีมากในเรื่องลูกหลาน ทรัพย์สมบัติมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้ใหญ่รักใคร่เอ็นดูให้ความช่วยเหลือ มีลาภผลดี หากดาวอะไรได้ตำแหน่งอุจน์ ก็จะมีฐานะเป็น”ทีปถา” ดาวนั้นมีความหมายอย่างไรและเป็นเจ้าเรือนอะไรก็ต้องทายดีไปตามนั้น

2.สวัสถา มาจากการที่ดาวได้ตำแหน่งเกษตรในราศี ผลก็ทำให้มีชื่อเสียง มีฐานะดี มีที่ดิน มีความสุขตามความหมายของดาวเกษตรและเจ้าเรือนนั้นๆ

3.มุทิตา หมายถึงมีความสุข ความสำราญ ความพอใจ มีนิสัยดี ได้คู่ครองที่ดี ฐานะมุทิตานี้มาจาการที่ดาวได้อยู่ในเรือนมิตร โดยคำนวณจากคู่มิตร-ศัตรูที่มาจากความสัมพันธ์เฉพาะชาตา และจะต้องดูว่าเป็นมิตรใหญ่หรือมิตรเล็ก หากเป็นมิตรใหญ่ความหมายก็จะดีมากยิ่งขึ้น

4.ษาณถา หมายความว่ามีพละกำลังและความกล้าหาญ มีความสุขสมบูรณ์ มีความยินดีรื่นเริง ฐานะษาณถานี้ได้มาจากศุภผลจากษัฑวรรคหรือวรรคทั้ง 6 (อ่านเพิ่มเติมจากเรื่อง ษัฑพละ-กำลังของดาว)

5.ศักดา หมายถึงความกล้าหาญ มีชื่อเสียง มีทรัพย์สินมาก ฐานะนี้ได้มาจากการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์ที่ทำการ”พักร”หรือโคจรถอยหลัง

6.ปีทยะ หรือเบียดเบียน ผลจะทำให้ถูกกังขัง ควบคุม กดดัน การประกอบอาชญากรรม มีนิสัยชั่วร้าย ฐานะนี้ได้มาจากการที่ดาวเคราะห์สถิตอยู่ในเสี้ยวสุดท้ายของราศี ซึ่งอยู่ระหว่าง 22 องศา 31 ลิปดาไปจนสุดราศี

7.ถีนะ มาจากการที่ดาวเคราะห์สถิตอยู่ในเรือนศัตรู ผลทำให้ ร้อนใจ กลัดกลุ้มใจ เจ็บป่วย เสื่อม โทรม เลวลง

8.วิกล หรือวิกาละ มาจากการที่ดาวเคราะห์โคจรใกล้กับอาทิตย์ เป็นอัสตะหรือดับ ทำให้เกิดโรค ตกอับ เสียชื่อเสียง เสียบุตรหลาน พิการ ไม่ปกติ ไม่สมประกอบ

9.ขละ เสื่อมทราม มาจากการที่ดาวเคราะห์สถิตในราศีที่เป็นนิจ หรือในนวางศ์นิจ ทำให้ เกิดความสูญเสีย ทะเลาะวิวาท ผู้คนเกลียดชัง กำเนิดในตระกูลขั้นต่ำ

10.ปีฑา มาจากการที่ดาวเคราะห์เสริด หรือโคจรเร็วกว่าปกติ ทำให้เสียหายจากเหตุต่างๆ การถูกทรมาน นิสัยเลวทราม

อวัสถาของดาวเคราะห์อีกตำราหนึ่ง

ซึ่งมีคำอธิบายคล้ายๆกัน ซึ่งอวัสถาของตำรานี้ อธิบายว่าดาวเคราะห์จะให้ผลดี-ร้าย ก็เมื่อดาวนั้นเสวยอายุและแทรกอายุในระบบวิมโษตรีทักษา  ซึ่งมีดังนี้

1.แสงโชติช่วง ถ้าดาวเคราะห์เป็นอุจน์

2.สะดวกสบาย ถ้าอยู่ในเรือนของตัวเอง (เกษตร)

3.สุขสบาย ถ้าอยู่ในเรือนมิตรใหญ่

4.สงบเงียบ ถ้าอยู่ในเรือนมิตร (น้อย)

5.บกพร่อง ถ้าอยู่ในเรือนเป็นกลาง

6.หดหู่ใจถ้าอยู่ในเรือนศัตรู

7.ล้มเหลว ถ้าอยู่ร่วมกับบาปเคราะห์

8.ต่ำต้อย ถ้าแพ้เคราะห์ยุทธ

9.โทษะ ถ้าเป็นคราสเพราะรัสมีอาทิตย์ (อัสตะ-ดับ)