หมวด: คัมภีร์ปาริชาตชาดก
จำนวนผู้อ่าน: 1091

PlanetaryVedic

โศลกที่ ๑๕

                ผู้รู้โหราศาสตร์ทั้งหลายลงความเห็นตรงกันว่า การหาลัคนายุส อายุรทัย คือการคิดหาจากองศาของลัคนาในราศีที่ลัคนาสถิตย์ ฯ

โศลกที่ ๑๖

                การคิดหักอายุพระเคราะห์ต่างๆมีทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว ๖ ประเภทด้วยกันคือ

            ๑.กรูโรทัย หรณะ  การคิดหักเมื่อมีบาปเคราะห์กุมลัคนาในโศลกที่ ๑๑

            ๒.อัสตังคะ หรณะ การคิดหักเมื่อพระเคราะห์อยู่ใกล้อาทิตย์ในโศลกที่ ๘

            ๓.ศัตรูเกษตร์ หรณะ การคิดหักเมื่อพระเคราะห์อยู่ในเรือนคู่ศัตรูในโศลกที่ ๘

            ๔.นีจารรท หรณะ การคิดหักเมื่อพระเคราะห์เป็นนิจในโศลกที่ ๗

            ๕.ครหะโยคโต หรณะ การคิดหักเมื่อพระเคราะห์ร่วมกันหลายดวงในโศลกที่ ๑๐

             ๖.วัยยาทิ หรณะ การคิดหักโดยพระเคราะห์อยู่ในภพจากลัคนาในโศลกที่ ๙

              การคิดอายุต้องคิดจากดาวทุกๆดวง ยกเว้นราหูและเกตุ                  และต้องคิดจากลัคนาด้วย     เมื่อคิดแล้วมีการคิดหักอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย จึงจะได้ใกล้กับความจริงของอายุขัยของเจ้าชะตา ฯ

โศลกที่ ๑๗

              การคิดหักกำลังอายุของพระเคราะห์ต่างๆ ตามระบบอำศะอายุรทัยนี้คิดผิดกับระบบอื่นๆดังได้กล่าวมาแล้ว ท่านกำหนดให้อายุเต็มของคนมี ๑๒๐ ปี กับ ๕ วัน  และคิดง่ายๆโดยถือว่าดาวทุกดวงมีกำลังเท่ากันหมดคือประมาณ ๑๗ ปี ๑ เดือน ๒๒ วัน และการที่ดาวจะมีกำลังอายุเต็มตามนี้ ดาวนั้นจะต้องเป็นอุจจ์  ถ้าดาวนั้นไม่เป็นอุจจ์ก็มีการคิดหักกำลังอายุลดลงตามส่วน ฯ

โศลกที่ ๑๘

              ท่านให้พิจารณาดูว่าพระเคราะห์นั้นอยู่ในราศีใด มีองศาลิบดาเท่าใด แตกราศี องศาและลิบดาเป็นลิบดาให้หมด  สำหรับราศีคิดจากศูนย์องศาในราศีเมษเป็นจุดตั้งต้นของราศีที่หนึ่ง เมื่อแตกแล้วหารด้วย ๒๐๐ ถ้าผลลัพธ์เกิน ๑๒ ตัดออกเรื่อยไปจนกว่าจะตัดไม่ได้ จึงคิดหักเป็นปี เดือนต่อไป ฯ

หมายเหตุ

               ตามระบบนี้ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เขาวางอายุพระเคราะห์เท่ากันหมดทุกพระเคราะห์ ประมาณ ๑๗ ปี ๑ เดือน ๒๒ วัน ในจำนวนกำลังอายุเต็มนี้  ถ้าดาวได้ตำแหน่งอุจจ์ไม่ต้องคิดหักออก ถ้าดาวไม่ได้ตำแหน่งอุจจ์คิดหักออกตามโศลกนี้  โดยกำหนดไว้ว่ากำลังเต็มที่ของดาวมีกว้างเท่ากับ ๑๒ นวางค์ หรือ ๔๐ องศา    ถ้าเกินไปกว่านี้ก็นับตั้งต้นกันใหม่ โดยคิดนวางค์แรกจากนวางค์ที่ ๑ ในราศีเมษเป็นนวางค์ต้นในการนับจากนี้จะเห็นพระเคราะห์สถิตในตำแหน่งต่อไปนี้ย่อมมีกำลังเท่ากัน คือ เมษ ๕ องศา พฤษภ ๑๕ องศา เมถุน ๒๕ องศา สิงห์ ๕ องศา กันย์ ๑๕ องศา         ตุลย์ ๒๕ องศา      ธนู ๕ องศา มังกร ๑๕ องศา และกุมภ์ ๒๕ องศา

เพราะตำแหน่งต่างๆที่อ้างมานี้ ล้วนแต่อยู่ห่างกัน ๔๐ องศาหรือ ๑๒ นวางค์ พอดีด้วยกันทั้งสิ้น ฯ

โศลกที่ ๑๙

                 ในการคิดหาอายุตามระบบอำศกะอายุรทัย บางท่านให้ถือกฎดังนี้ ให้เพิ่มกำลังพระเคราะห์เป็น ๓ เท่า ถ้าพระเคราะห์นั้นได้ตำแหน่งอุจจ์หรือพระเคราะห์นั้นกำลังพักร ให้เพิ่มกำลังพระเคราะห์เป็น ๒ เท่า ถ้าพระเคราะห์นั้นอยู่ในวรโคตมนวางค์      พระเคราะห์นั้นอยู่ในนวางค์ซึ่งครองด้วยพระเคราะห์นั้นเอง  พระเคราะห์นั้นอยู่ในตรียางค์ซึ่งครองด้วยพระเคราะห์นั้นเอง และพระเคราะห์นั้นได้ตำแหน่งเกษตร์ ฯ

โศลกที่ ๒๐

                การคิดหาอายุจากลัคนาให้คิดว่าลัคนาล่วงล้ำเข้าไปในราศีใด มีจำนวนกี่นวางค์ คิดเป็นนวางค์ละหนึ่งปี เศษของนวางค์คิดเทียบเป็นเดือนและวัน  ฉะนั้นกำลังปีของลัคนาโดยปกติจะเกิน ๙ ปีไม่ได้ เพราะในหนึ่งราศีมี ๙ นวางค์เท่านั้น แต่ถ้าลัคนานั้นมีความเข้มแข็งมาก จำนวนวัน เดือน ปีที่คิดได้ต้องเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว  แต่ถ้าลัคนานั้นมีบาปเคราะห์กุมหรือให้แสงถึง ไม่ต้องคิดหักจากจำนวนที่คิดไว้เดิม ฯ

โศลกที่ ๒๑

                 ในการคิดหักและเพิ่มกำลังอายุของพระเคราะห์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  มีการคิดกันหลายประการ แต่ในที่นี้ท่านให้คิดโดยถือหลักตามนี้

                  ๑.ในเมื่อพระเคราะห์นั้นมีความเข้มแข็งหลายประการด้วยกัน เช่นเป็นปรมะอุจจ์  พักรและอยู่ในวรโคตมด้วย ท่านให้คิดเพิ่มกำลังอายุของพระเคราะห์นั้นเพียงสถานเดียวเท่านั้นและเพิ่มสถานที่มากที่สุด ไม่ใช่เพิ่มทุกๆสถาน

                  ๒.ในเวลาที่พระเคราะห์นั้นเป็นนิจและอัสตะด้วย ฯลฯ ในเวลาเดียวกัน การคิดกำลังก็คงคิดลดแต่ในสถานข้างจำนวนมากเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ใช่คิดลบหักออกทุกสถาน

                                         การหารัศมีของพระเคราะห์

โศลกที่ ๒๒

                 การคิดกำลังรัศมีของพระเคราะห์ต่างๆถ้าพระเคราะห์นั้นได้ตำแหน่งอุจจ์ มีกำลังดังนี้ อาทิตย์ ๑๐ จันทร์ ๙ อังคาร ๕ พุธ ๕ พฤหัสบดี ๗ ศุกร์ ๘ เสาร์ ๕ ฯ

หมายเหตุ

                ในการคิดเทียบความเข้มแข็งของพระเคราะห์ต่างๆและให้คะแนนเพื่อคิดเป็นคะแนนรวมตามรัศมีอายุรทัยนี้  มีหลักการคิดหลายระบบที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นระบบที่ใช้กันทั่วไป  กำลังรัศมีของดาวต่างๆที่กำหนดไว้ที่กำหนดไว้ในโศลกนี้ถือว่าเป็นกำลังรัศมีเต็มที่เมื่อดาวนั้นได้ตำแหน่งอุจจ์

                 ในเวลาที่พระเคราะห์ต่างๆได้ตำแหน่งปรมะนิจ ถือว่าไม่มีรัศมีเลยคือมีกำลังเป็นศูนย์ ถ้าพระเคราะห์ใดอยู่ระหว่างนิจและอุจจ์ คิดเพิ่มลดตามหลักบัญญัติไตรยางค์ธรรมดาเช่นอาทิตย์ ๑๐ องศา ในราศีเมษมีกำลังรัศมีเท่ากับ ๑๐ พอดี เมื่ออาทิตย์โคจรเรื่อยไปรัศมีก็จะลดน้อยลงเป็นลำดับและจะไปหมดจนเหลือศูนย์ที่ ๑๐ องศาในราศีตุลย์พอดี และเมื่อโคจรต่อไปก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งมีกำลังเต็มที่ในราศีเมษ ๑๐ องศาอีกครั้งหนึ่ง

                 การเพิ่มและลดกำลังรัศมีของดาวยังมีกฎเกณฑ์พิเศษเพิ่มเติมอีกคือถ้าพระเคราะห์นั้นอยู่ในทวาศำศะซึ่งครองด้วยพระเคราะห์นั้นเอง หรืออยู่ในทวาศำศะซึ่งตรงกับราศีอุจจ์ของพระเคราะห์นั้นหรืออยู่ในทวาศำศะที่ครองด้วยดาวคู่มิตร จำนวนรัศมีคิดได้เท่าใดต้องเอาสองคูณ

                อนึ่งถ้าพระเคราะห์นั้นกำลังพักร หรืออยู่ในเรือนเกษตร์ ท่านก็ให้เอาสองคูณผลลัพธ์เช่นกัน

                ถ้าพระเคราะห์นั้นอยู่ในทวาศำศะที่ครองด้วยดาวคู่ศัตรู หรือในทวาศำศะที่ตรงกับราศีนิจ กำลังที่ได้จะต้องลดลงหนึ่งในสิบหกส่วน

                   ถ้าพระเคราะห์ใดๆกำลังพักรอยู่ และพอจะเริ่มเดินตรงตามปกติ ในระยะนี้จะลดกำลังลงไปหนึ่งในแปด

                    นอกจากศุกร์และเสาร์ ถ้าไปร่วมกับอาทิตย์มีระยะห่างไม่เกิน ๕ องศาถือว่าดับไม่มีแสงเลย และไม่มีกำลังเลยแม้แต่นิดเดียว

                    หลักการทายเกี่ยวกับกำลังรัศมีของพระเคราะห์ต่างๆมีดังนี้

                ๑ ถึง ๕   เป็นคนไร้เกียรติ ระทมทุกข์ จิตใจต่ำช้า ชั่วร้ายเลวทราม  โชคร้าย อาภัพ ไม่เป็นตัวของตัวเอง  ยากจนข้นแค้น

                 ๖ ถึง ๑๐  เป็นตัวของตัวเอง  รักอิสระภาพ ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง พอกินพอใช้  ไม่มีเงินเก็บเป็นก้อนใหญ่  ต้องเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา

              ๑๑ ถึง ๑๕   มีสุขภาพดี นิสัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารี  ชอบความยุติธรรม รักเกียรติ  มีชื่อเสียงดี มีความรุ่งเรือง

              ๑๖ ถึง ๒๐   มั่งคั่ง มีอำนาจวาสนา เป็นที่นับถือของคนทั่วไปเป็นส่วนใหญ่  มีความผาสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต

ที่กล่าวมานี้ท่านว่าเป็นคะแนนรัศมีที่คิดจากเจ้าเรือนของลัคนา หรือเจ้าเรือนของจันทร์ สุดแล้วแต่ใครจะเข้มแข็งกว่ากัน

              เกี่ยวกับการทายอายุ ท่านให้หลักกว้างๆไว้ว่า

             ๑  ถึง ๑๔   อายุสั้น

           ๑๔ ถึง ๒๕   อายุปานกลาง

            ๒๕ ขึ้นไป    อายุยืน

โศลกที่ ๒๓

                 ในการคิดเพิ่มหรือลดเกี่ยวกับพระเคราะห์ที่เป็นอุจจ์หรือนิจนั้น ใช้คิดจากจุดปรมะอุจจ์ถึงจุดปรมะนิจเท่ากับ ๖ ราศีหรือ ๑๘๐ องศา  โดยลดน้อยลงคิดเทียบส่วนตามบัญญัติไตรยางค์จากกำลังของพระเคราะห์นั้นๆ ในทำนองเดียวกันการคิดเพิ่มจากจุดปรมะนิจถึงจุดปรมะอุจจ์ถึงพระเคราะห์ใดๆก็เทียบส่วนจากกำลังของดาวนั้นๆ ฯ

โศลกที่ ๒๔

                  ในการคิดเพิ่มกำลังดาว ถ้าดาวเป็นเกษตร์  เป็นอุจจ์อยู่ในเรือนมิตร หรือ พักร คิดเพิ่ม ๒ เท่า ถ้าดาวนั้นกำลังจะหยุดหลังจากที่พักร ต้องลดจำนวนลงหนึ่งในแปด ถ้าดาวนั้นอยู่ในเรือนของศัตรูต้องลดลงหนึ่งในสิบสอง ฯ

โศลกที่ ๒๕

                  ในการที่พระเคราะห์ใดๆอัสตะคืออยู่ใกล้อาทิตย์น้อยกว่า ๕ องศา ท่านให้ลดกำลังรัศมีของพระเคราะห์นั้นๆ ลงครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าพระเคราะห์นั้นเป็นดาวศุกร์หรือเสาร์ ท่านว่าไม่ต้องลดแม้จะอยู่ในตำแหน่งอัสตะก็ตาม ฯ

โศลกที่ ๒๖

                  ในการหาอายุตามระบบของจักราอายุรทัย ใช้นักษัตรต่างๆเป็นหลัก  โดยแบ่งนักษัตรออกเป็น ๒ พวก และมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดตายตัว ตามนวางค์ของนักษัตรต่างๆ ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในบทที่ ๑๗  ฯ