หมวด: เจาะลึกนวางศ์จักร
จำนวนผู้อ่าน: 6031

Navamsa Thype Of Navamasa 1400

ดวงนวางศ์จักร นั้นในทางโหราศาสตร์ถือว่า เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด ในดวงชาตา คำว่า นวางศ์จักรนั้นหมายถึง นว(เก้า)+อังศะ(ส่วน)  หรือ1 ใน 9 ส่วนของราศีในราศีจักร  และแต่ละส่วนหรือลูกนวางศ์นั้นมีขนาดความกว้างเพียง 3 องศา 20 ลิปดา

ในโหราศาสตร์พระเวทมักใช้ดวงนวางศ์จักรนั้น ในการทำนายเกี่ยวกับการแต่งงานของของเจ้าชาตา หรือใช้ทำนายรายละเอียดและลักษณะรูปร่างหน้าและนิสัยใจคอของคู่สมรส และรวมไปถึงความราบรื่นของชีวิตสมรส และอุปสรรคในชีวิตสมรสของเจ้าชาตา ฯลฯ 

การลำดับลูกนวางศ์

ราศีหนึ่งๆมี 9 นวางค์ ในเมื่อจักราศี มี 12 ราศี ดั้งนั้นในจักราศีจึงมี 108 ลูกนวางศ์ โดยนวางศ์ลูกที่ 1 กำหนดเริ่มจากดาวอังคาร เกษตรราศีเมษ เรียงลำดับต่อเนื่องกันไปจนสิ้นสุดที่นวางศ์ลูกที่ 108 ซึ่งก็คือดาวพฤหัส เกษตรราศีมีน

นอกจากนี้นวางศ์ลูกที่ 1 ของจรราศี ,นวางศ์ลูกที่ 5 ของสถิรราศี และนวางศ์ลูกที่ 9 ของทวิภาวะราศี ซึ่งจะมีดาวเจ้านวางศ์เป็นดาวดวงเดียวกันกับดาวเกษตรของราศีนั้นๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งให้คุณพิเศษที่เรียกว่า “วรรคอุตตมางศะ” หรือ “วรโคตรนวางศ์”

"นวางศ์จักร"มีความจำเป็นต้องนำมาพิจารณาและตรวจสอบทุกครั้งในการวิเคราะห์ดวงชาตาทุกๆดวง อ้างอิงจากคัมภีร์โหราศาสตร์พระเวท ได้กล่าวว่าหากไม่นำดวงนวางศ์มาพิจารณาร่วมแล้วนับว่าเป็นการเสี่ยงที่จะผิดพลาด

และหากไม่วิเคราะห์ตำแหน่งดาวเคราะห์ที่สถิตย์ในดวงนวางศ์จักร เพื่อพิจารณา”ภวะ”(เรือนชาตา) และ”การกะ”(ตัวแทน)ก็นับว่าเสี่ยงเช่นกัน

คัมภีร์พระเวทกล่าวว่ามนุษย์ นั้นประกอบด้วย 3 โครงสร้างหลัก คือ (1) स्थूल शरीर สถูละ ศะรีระ กายหยาบ หรือร่างกาย (2) सूक्ष्म शरीर  สูกษมะ ศะรีระ กายละเอียด หรือจิต  และ (3) कारण शरीर  การะณะ ศะรีระ กายวิญญาณ ที่เป็นแหล่งของความรับรู้ตระหนักรู้

"สถูละ ศะรีระ" (กายหยาบ) หรือรูปลักษณ์ที่ชัดเจน และเป็นตัวแทนของราศีจักร, ส่วน"สูกษมะ ศะรีระ" (กายละเอียด) เป็นตัวแทนของนวางศ์จักร และในดวงนวางศ์จักรเองก็ควรต้องมีความเข้มแข็งในทางใดทางหนึ่ง และหาก"สูกษมะ ศะรีระ" หรือ ดวงนวางศ์จักร ไม่มีกำลัง จะเป็นเหตุให้เจ้าชาตาจะต้องสูญเสียวัตถุเชิงรูปธรรม ที่เจ้าชาตาควรจะมีในพื้นดวงชาตา  นอกจากนี้กำลังของดวงชาตาโดยรวมทั้งหมดก็จะลดน้อยถอยลงเช่นกันถ้า "สูกษมะ ศะรีระ" และ "สถูละ ศะรีระ" (ราศีจักรและนวางศ์จักร)ไม่สมดุลกัน

ดาวเคราะห์ที่เป็นนิจในราศีจักร แต่กลับได้ตำแหน่งอุจน์ในนวางศ์จักร  นั้นถือว่าดาวดวงนั้นมีกำลังและให้ผลดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าดาวเคราะห์ที่เป็นอุจน์ในราศีจักร แต่กลับได้ตำแหน่งนิจในนวางศ์จักร  ดาวเคราะห์และภวะ(เรือนชาตา)ใด ๆ ควรต้องมีความเข้มแข็งในนวางศ์จักร  เพื่อให้ดาวเคราะห์และภวะ(เรือนชาตา)นั้นๆมีกำลังในการส่งผลดีให้กับเจ้าชาตา

ในราศีจักร ดาวเคราะห์ที่ให้คุณควรจะต้องสถิตย์ในราศีของตน (เป็นเกษตร) หรือราศีมูลตรีโกณ หรือได้ตำแหน่งมหาอุจน์ หรืออยู่ราศีคู่มิตรใหญ่  และไม่ควรสถิตย์อยู่ในราศีศัตรู หรือสถิตย์ในทุสถานะภพ ไม่ควรเป็นนิจ หรือได้รับโยคเกณฑ์จากดาวทุสถานะภพ ส่วนในนวางศ์จักรก็ใช้หลักพิจารณาเช่นเดียวกันกับข้างต้น

ดังนั้นเราต้องวิเคราะห์ความเข้มแข็งของดาวเคราะห์ในนวางศ์จักรให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของพื้นดวงเดิมและดวงจร และดาวเคราะห์ใดๆก็ตามที่มีความเข้มแข็งในนวางศ์จักร จะถือว่ามีกำลังเป็นสามเท่าของในราศีจักร

การจำแนกประเภทของดาวเคราะห์เจ้านวางศ์

ดาวเคราะห์เจ้านวางศ์แบ่งได้ดังนี้:

1.ดาวเคราะห์เจ้านวางศ์หรือ นวางศ์ลูกที่ 1 ที่ 4 และที่ 7 ในราศีจักร เรียกว่า "เทวะ" ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของทรัพย์สมบัติ ความเมตตา  อำนาจและความมั่งคั่ง หากลัคนาของเจ้าชาตาสถิตในนวางศ์ลูกนี้ จะเป็นคนใจบุญ เคร่งศาสนา มีทรัพย์สินและมีอำนาจ

2.ดาวเคราะห์เจ้านวางศ์หรือ นวางศ์ลูกที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ในราศีจักร เรียกว่า "นะระ"ซึ่งหมายถึงมนุษย์ หากลัคนาของเจ้าชาตาสถิตในนวางศ์ลูกนี้ จะเป็นคนที่มีจิตใจดีและมีชื่อเสียง อยู่ดีกินดีและมีความสุข

3.ดาวเคราะห์เจ้านวางศ์หรือ นวางศ์ลูกที่ 3 ที่ 6 และที่ 9 ในราศีจักร เรียกว่า "รากษส" เป็นตัวแทนของลักษณะนิสัยของยักษ์หรือปีศาจ หากลัคนาของเจ้าชาตาสถิตในนวางศ์ลูกนี้ แสดงถึงความโหดร้าย ความรุนแรง ความเห็นแก่ตัว และมีชื่อเสียงในทางลบ

มีสิ่งที่จะต้องพิจารณาที่สำคัญอยู่สองประการ ประการแรก คือ ลัคนาในราศีจักร ไม่ควรเป็นเรือนทุสถานะภพ หรือเจ้าเรือนลัคนา สถิตย์อยู่ในเรือนทุสถานะภพ คือ เรือนที่ 6, 8 หรือ 12 ในนวางศ์จักร

ถ้าหากลัคนาเป็นจรราศี ลัคนาก็ไม่ควรเกาะลูกนวางศ์ที่ 6 หรือ 8, ถ้าเป็นสถิระราศี ลัคนาก็ไม่ควรเกาะลูกนวางศ์ที่ 4 และในทวิภาวะราศี ลัคนาก็ไม่ควรเกาะลูกนวางศ์ที่ 2, ที่ 4, และที่ 8

ประการที่สอง เจ้าเรือนทุสถานะภพในราศีจักร คือ เรือนที่ 6, ที่ 8 และที่12  ไม่ควรสัมพันธ์กับ ลัคนา หรือ เจ้าเรือนลัคนาของนวางศ์จักร

เมื่อลัคนาและเจ้าเรือนลัคนาของนวางศ์จักร มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเจ้าเรือนทุสถานะภพที่ 6, 8 หรือ 12 ของนวางศ์จักร

ผลกระทบในระดับแรกจะเกิดผลร้ายใน "มหา ทศา"ของดาวเคราะห์ที่สัมพันธ์กับลัคนาและเจ้าเรือนลัคนาข้างต้น   ผลกระทบระดับที่สอง จะเกิดผลร้ายใน "อันตร ทศา" ของดาวเคราะห์เหล่านี้และผลกระทบระดับที่สามใน "ปรัตยันตะระ ทศา"