หมวด: เรื่องฤกษ์ยามที่ควรรู้
จำนวนผู้อ่าน: 1706

การให้ฤกษ์โดยระบบโหราศาสตร์ภารตะหรือโหราศาสตร์แบบโหรพราหมณ์ ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับโหราศาสตร์ไทยชั้นสูงที่ใช้กันในบุคคลชั้นสูงและการกำหนดพิธีกรรมในพระราชพิธีต่างของกษัตริย์ในสมัยโบราณ มีการคำนวณโดยวิธีการสลับซับซ้อนทางดาราศาสตร์และหลักการทางโหรซึ่งต่างกับโหราศาสตร์ระบบอื่น ๆ  และกำหนดเป็นฤกษ์ยามเฉพาะตัวบุคคลนั้น ๆในการทำการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์เพียงเจ้าของฤกษ์คนเดียวเท่านั้น ผู้อื่นจะนำไปใช้ก็จะไม่เกิดผลดีตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

บางคนชอบโทรมาถามว่าวันนี้เป็นวันดีไหม ผมตอบไม่ได้หรอกครับเพราะฤกษ์มีทั้งฤกษ์บนฤกษ์ล่าง ฤกษ์บนก็คือวันที่ดวงดาวบนท้องฟ้าให้พลังที่เป็นศุภผล เป็นวันดีก็จริง แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้ทุกคน หรือวันนี้เป็นวันดีฤกษ์ดีแต่จะดีตลอดทั้งวันก็หาไม่ และหากไปคำนวณดูชาตากำเนิดของเรา(ฤกษ์ล่าง) ก็อาจจะขัดแย้งกับฤกษ์บน(ท้องฟ้า) ก็ทำการมงคลในวันนั้นไม่ได้อีก  ที่พูดวันว่าวันนี้วันดีก็มิใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะฉะนั้นเข้าใจไว้ว่าวันดีมีทุกวัน แต่ฤกษ์ที่ดีเหมาะกับเรานั้นอาจจะทั้งปีมีแค่วันเดียว ส่วนวันร้ายก็มีทุกวันเหมือนกัน แต่จะร้ายกับเราทุกวันก็ไม่ใช่ ฉะนั้นฤกษ์ยามก็คือการคำนวณพลังความสัมพันธ์ระหว่างดาวบนท้องฟ้ากับมนุษย์ที่อยู่บนดินให้สัมพันธ์กันนั่นเอง

1.เมื่อได้ฤกษ์ยามได้กำหนดไว้แล้วให้เตรียมการล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆเพื่อจะได้ไม่ให้ผิดพลาด เพราะหัวใจของฤกษ์ยามก็คือ”เวลา” ที่เป็นศุภผล

2.ในการให้ฤกษ์ผมจะคำนวณเวลาที่เหมาะสมกับดวงชาตาของท่านที่ดี่ที่สุดเพียงฤกษ์เดียวเท่านั้น บางคนพยายามขอหลายๆวันเผื่อเลือก ซึ่งฤกษ์ที่ให้แต่ละฤกษ์คำนวณด้วยความยากลำบากมาก เพราะผมคำนวณด้วยมือ ดวงชาตาแต่ละดวงชาตา อย่างน้อยก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง และสอบทานฤกษ์ในกฎเกณฑ์อื่น ๆอีกเป็นวันๆ  (ไม่ใช่ฤกษ์ประเภทเปิดหนังสือดูปฏิทินแล้วให้ฤกษ์อย่างที่เราคุ้ยเคยกัน ซึ่ง 5 นาทีก็ให้ฤกษ์กันได้แล้ว)

3.อย่างไรก็ตามการใช้ฤกษ์ชั้นสูงนี้มักจะมีเหตุที่ทำให้เจ้าการมักจะใช้ไม่ได้ตามเวลาที่กำหนดอยู่บ่อยครั้งอันเนื่องมาจาก ดวงฤกษ์ที่สูงเกินวาสนาของเจ้าการ(เจ้าของดวง) หรือเจ้าของดวงมีเหตุที่ถูกอุปสรรคขัดขวางจากเจ้ากรรมนายเวร หรือวิบากกรรมอื่นๆ ที่จะไม่ไห้ได้ผลสำเร็จตามฤกษ์นั้น ๆ   เช่นว่า จะต้องออกรถในวันนี้ตามฤกษ์ แต่บังเอิญรถยังไม่เรียบร้อย ก็ออกรถในวันนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องระวัง 

4. การใช้เวลาตามฤกษ์ควรจะต้องคำนวณเวลาให้ตรงตามเวลาท้องถิ่นที่เป็นมาตรฐานสำหรับสถานที่นั้น ๆ หรืออย่างน้อยนาฬิกาจะต้องตรง โดยเทียบจากเวลามาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โดยโทรไปที่หมายเลข 1811

ซึ่งจะบอกเวลามาตรฐานประเทศไทย ซึ่งผมใช้เวลามาตรฐานประเทศไทยนี้คำนวณฤกษ์ ฉะนั้นจะต้องตรงกันทั้งสองฝ่าย

5.เวลาจากดวงฤกษ์ที่ให้เป็นการคำนวณเวลาเริ่มต้นของฤกษ์(ปฐมฤกษ์) และเวลาสิ้นสุดฤกษ์(ปัจฉิมฤกษ์)  เช่นฤกษ์ที่กำหนดเป็น “ปฐมฤกษ์เริ่มเวลา 09.09 - 09.39 น.เป็นปัจฉิมฤกษ์” หมายความว่าหัวใจในการทำกิจกรรมนั้น ๆจะต้องเริ่มต้นในเวลา 09.09 น.จนถึง 09.39 น. รวม 30 นาที  (ปกติอาจารย์จะให้เวลาเริ่มต้นและเวลาสุดฤกษ์เอาไว้ให้ในใบฤกษ์)

เช่น การออกรถ ก็ต้องเริ่มติดเครื่อง และขับรถออกจากศูนย์จำหน่ายรถภายในเวลาฤกษ์ที่กำหนด ส่วนหากต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้ก็จะต้องให้มีการทำกิจกรรมต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนหรือหยุดไปกลางคัน ก็ยังถือเวลาอยู่ในเวลาของฤกษ์ได้

7.การใช้ฤกษ์ให้เกิดผลดีและเกิดศุภผลตามที่ท่านต้องการ อย่างน้อยที่สุดท่านจะต้องสมาทานศีล 5 รักษากายวาจาใจให้บริสุทธิ์ และในขณะที่กระทำการตามฤกษ์นั้น ๆ จิตใจจะต้องแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหว ห้ามมีอารมณ์โกรธเคือง โมโห หรือมีเจตนาจะไปประทุษร้ายต่อใคร จิตใจต้องไม่วอกแวก สับสน วิตกกังวล ฯลฯ   เมื่อทำได้ครบตามที่กล่าวแล้วดวงฤกษ์ก็จะมีอิทธิพลังเป็นศุภผลส่งผลเกิดผลดีให้แก่ดวงชาตา และเกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

8.ในสมัยก่อนนี้ บางคนมักชอบว่ามาขอฤกษ์กับอาจารย์ต้องรอนานมาก กว่าจะได้ บางคนเป็นเดือน ก็ไม่มีฤกษ์จะให้  ต้องขอชี้แจงอย่างนี้ว่า โหราศาสตร์ระบบนี้ไม่เหมือนระบบอื่น โหรผู้ให้ฤกษ์ ต้องต้องดูฤกษ์สำหรับการให้ฤกษ์ก่อนเหมือนกัน ไม่สามารถทำแบบสุกเอาเผากินไม่ได้

โหรผู้คำนวณฤกษ์ก็ต้องตรวจดวงดาวบนท้องฟ้าก่อนว่าวันไหนเหมาะแก่การคำนวณฤกษ์ วันไหนห้ามคำนวณฤกษ์ เช่น วันสิ้นปี สิ้นเดือน สิ้นปีนักษัตร วันพระจันทร์ดับ พระจันทร์เต็มดวง วันโกน วันพระ วันดาวดับบนฟ้า วันที่ดาวพุธโคจรวิกลคติพักรองศา(อันนี้อาจต้องรอเป็นเดือน) วันที่มีคราส (ภายในหน้าหลัง 7 -14 วัน) ก็คำนวณฤกษ์ไม่ได้  เมื่อได้วันแล้วก็ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย จุดธูปเทียนบูชาพระ พ่อแม่ครูอาจารย์ ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ก่อนทำการคำนวณดวงฤกษ์ทุกครั้งไป ฉะนั้นฤกษ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูชาตาและวาสนาของเจ้าชาตาก่อนด้วย